จากกรณีกรมสุขภาพจิตผลักดันร่าง พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. …ที่มีการเสนอให้ตั้งกองทุนสุขภาพจิตและอาจจะนำเงินจากคดียาเสพติดสมทบเข้ากองทุน เพื่อใช้บำบัดดูแลผู้ป่วยจิตเวช แก้ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันมีงบประมาณดูแลผู้ป่วยจิตเวชเฉลี่ยรายละ ๕๐ บาท ขณะที่สากลเฉลี่ย ๒๕๐ บาทต่อคน แต่ยังมีคำถามถึงการนำเงินคดียาเสพติดมาใช้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด ทั้งนี้บางส่วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่นั้น พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทยพบว่า กว่า ๗๐% มีปัญหาเรื่องของการใช้สารเสพติดร่วมด้วย ซึ่งมี ๒ แบบ คือ จากคนปกติ แต่มีการใช้สารเสพติดมานานทำให้เกิดผลกระทบกลายมาเป็นผู้ป่วยจิตเวชภายหลัง กับอีกกรณีเป็นผู้ป่วยจิตเวชอยู่แล้ว และยังใช้สารเสพติดหรือสุราร่วมด้วย ทำให้เกิดปัญหาคู่กัน ซึ่งขณะนี้พบราวๆ ๖๐% ที่เกิดปัญหาคู่กัน เพราะฉะนั้นหากมีเงินกองทุนเข้ามา ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะนำไปใช้บำบัดดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีสารเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น เพราะอย่างน้อยก็ครอบคลุมไปแล้วถึง ๖๐-๗๐%พญ.ดุษฎีกล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาด้วยปัญหาสารเสพติดเพิ่มขึ้นทุกปี ทุกๆพื้นที่ของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาสารเสพติดหลายชนิด โดย ๘๕% คือแอมเฟตามีน พบมากในกลุ่ม ๑๕-๖๐ ปี ส่วนอายุที่ใช้ก็พบว่าน้อยลงเรื่อยๆ มีการแพร่ระบาดเข้าไปในโรงเรียนด้วย แม้แต่แอลกอฮอล์อย่างเดียวก็ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตแล้ว แต่ตอนนี้สารเสพติดตัวอื่นๆแซงขึ้นมามาก โดยเฉพาะมีการใช้ผสมกัน เช่น บุหรี่นำเข้าไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆตามมาโดยธรรมชาติ เกือบทั้งหมดของคนที่ใช้สิ่งเหล่านี้ มีรากฐานมาจากปัญหาด้านจิตใจบางอย่าง เช่น มีบาดแผลทางใจ มีภาวะซึมเศร้า แต่รักษาไม่ถูก โดยเฉพาะส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เพราะไม่ค่อยพูด แต่ใช้เหล้า สารเสพติด เป็นเหมือนยารักษาบาดแผลทางใจ.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่