Sunday, 19 January 2025

เข้ม รปภ.บุคคลสำคัญ นายกฯเน้น ระวังมือที่สาม สร้างสถานการณ์วุ่นวาย จงใจก่อกวนขบวนเสด็จ

นายกฯกำชับเข้ม ผบ.ตร.-๓ บิ๊ก ตร. มาตรฐาน รปภ.บุคคลสำคัญ ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือการเมือง ย้ำรัฐบาลมีหน้าที่ถวายการอารักขารักษาไว้ซึ่งพระเกียรติยศสถาบัน รร.นายร้อย จปร. ๑,๖๐๐ นาย ตบเท้าจัดกิจกรรม “ถวายกำลังใจ ทูลกระหม่อมอาจารย์” รทสช.ประณามพวกก่อกวนขบวนเสด็จ จี้หยุดสร้างความขัดแย้ง-รับผิดชอบในสิ่งที่ทำ “จุรินทร์” ตอกย้ำไม่ควรนิรโทษ ๑๑๒ “วิโรจน์” จี้จัดการพวกแอบอ้างสถาบันฯทำร้ายคนอื่น “โรม” ขออย่านำกรอบทางคดีขวางทางนิรโทษกรรม ศปปส.ขู่ปฏิบัติการ “ดับแสงตะวัน” ทะลุวังซัดแอบอ้างจ้องใช้ความรุนแรง “ทวี” ให้ลุ้นชื่อ “ทักษิณ” พักโทษ “ไหม” จี้ รบ.ทำแผนสำรองหากวืดดิจิทัลวอลเล็ต พท.โอ่มีนโยบายเรือธงลับอีกเพียบ “ลิณธิภรณ์” จวก ป.ป.ช.ล้ำเส้นแทรกแซงฝ่ายบริหารจากเหตุไม่คาดฝันกรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวันทะลุวัง” ก่อเหตุขับรถพยายามขัดขวางขบวนเสด็จ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนัก ขณะที่แนวร่วมกลุ่ม ศปปส.เริ่มปลุกระดมปฏิบัติการพิเศษ “ดับแสงตะวัน” จนหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงจะบานปลายเป็นความขัดแย้งของสังคมครั้งใหม่นายกฯกำชับ รปภ.บุคคลสำคัญเมื่อเวลา ๑๗.๓๕ น.วันที่ ๑๑ ก.พ. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการคลัง โพสต์ภาพและข้อความลงเฟซบุ๊กระบุว่าหารือร่วมกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พล.ต.ท.ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผบช.ทท. (กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว) และ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. เรื่องที่เป็นห่วงและกำชับไปคือเรื่องมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญ เพื่อไม่ให้ประเด็นนี้กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้โจมตีทางการเมืองของทุกฝ่าย หรือมือที่สามมาฉวยสร้างสถานการณ์ ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลและของตนในฐานะนายกฯ ขอย้ำว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาลมีหน้าที่ถวายการอารักขาและรักษาไว้ซึ่งพระเกียรติยศของสถาบัน เชื่อว่าเราคนไทยเห็นตรงกันในเรื่องนี้tt ttย้ำดูแลบ้านเมืองให้ปลอดภัยต่อมานายเศรษฐาโพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้งว่า ประเด็นหารือกับทางตำรวจยังมีเรื่องการดูแลนักท่องเที่ยว เพราะชัดเจนว่าเราประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามสถิติที่ออกมา จึงอยากให้ทางตำรวจให้ความสำคัญเรื่องการดูแลให้บ้านเมืองเรามีความปลอดภัย ตั้งแต่ก้าวแรกที่นักท่องเที่ยวมาเหยียบเมืองไทย จนออกจากประเทศไทย อยากให้เขาประทับใจและเอาไปบอกต่อได้ว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่ปลอดภัย มาเที่ยวได้อย่างสบายใจ แต่ไม่ได้แปลว่าห่วงแต่นักท่องเที่ยว ถ้าเมืองมีความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวมันก็ปลอดภัยสำหรับคนไทยเช่นกันยกระดับสวัสดิการ ตำรวจชั้นผู้น้อยนายกฯยังระบุอีกว่า ถือโอกาสหารือกับ ผบ.ตร. ว่าจะประสานความร่วมมือกันอย่างไรในการดูแลสวัสดิการที่อยู่อาศัยให้กับตำรวจชั้นผู้น้อย เท่าที่ทราบแฟลตตำรวจส่วนมากแออัด ไม่มี public space เช่น สวน หรือสนามกีฬาเล็กๆ ให้ออกกำลังกาย ไม่มีห้องคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ควรมีเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของกำลังพลที่เป็นฐานพีระมิดขององค์กร ต้องให้ความสำคัญ จะสร้างขวัญกำลังใจให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงติดตามความคืบหน้าเรื่องยาเสพติด และเรื่องหนี้นอกระบบ สองเรื่องนี้ต้องการความเอาจริง เอาจัง ความสม่ำเสมอ เชื่อว่าตำรวจเองก็ทำเต็มที่ ถือว่าได้มาอัปเดตความคืบหน้ากันจปร.จัดกิจกรรม “ถวายกำลังใจ”ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ทีมโฆษกกองทัพบกแจ้งกำหนดการทำข่าวลงในกรุ๊ปไลน์สื่อมวลชนประจำกองทัพบกระบุว่า โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวกิจกรรม “ถวายกำลังใจ ทูลกระหม่อมอาจารย์” พล.อ.หญิงสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีกำลังพลของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนปิยชาติพัฒนาร่วมทำกิจกรรม ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์๒๕๖๗ เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ หอประชุมโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อ.เมืองนครนายกมีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นการถวายกำลังใจต่อหน้าพระบรมฉายา ลักษณ์ “ทูลกระหม่อมอาจารย์” พล.อ.หญิงสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจะมีข้าราชการ นักเรียนนายร้อย จปร. รวม ๑,๖๐๐ นาย รวมถึงมวลชนในพื้นที่เข้าร่วม การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีสาเหตุมาจากกรณีที่มีการป่วนขบวนเสด็จในช่วงที่ผ่านมา“ขิง” ประณามก่อกวนขบวนเสด็จขณะที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ทวีตข้อความผ่าน X ถึงกรณีเหตุการณ์ก่อกวนขบวนเสด็จว่า ฝ่ายต่างๆออกมาประณามพฤติกรรมนี้ แม้กระทั่งกลุ่มที่ไปยุยงกันเองแต่ต้นก็แห่กันตัดหางประณามพฤติกรรมดังกล่าว เพราะค่านิยมการให้ร้าย ข่มขู่ ท้าทาย ไม่ให้เกียรติพระบรมวงศานุวงศ์นั้น เป็นการกระทำที่ด้อยค่าสังคม ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสื่อมถอย ประเด็นคือ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลความปลอดภัยถวายการอารักขา ฝ่ายข่าว ส่วนล่วงหน้า ส่วนติดตามควรจะทบทวนแผนและแนวทางการปฏิบัติ (Protocol) ให้รัดกุมและเร่งรัดการนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีโดยเร็ว หากไม่แสดงท่าทีให้ชัดเจนจะเกิดแรงปะทะในหมู่ประชาชน ขยายรอยร้าวสร้างความแตกแยกโดยใช่เหตุ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์จะนำประเด็นดังกล่าวเข้าที่ประชุมพรรคเพื่อขอมติให้ยื่นญัตติด่วนต่อสภาฯ และให้ สส.รทสช.เสนอเรื่องต่อกรรมาธิการฯทุกคณะที่เกี่ยวข้อง ทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยฯ รวมถึงแนวทางการป้องกันปราบปรามพฤติกรรม ข่มขู่ ท้าทาย ให้ร้าย ในลักษณะเดียวกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นtt ttหยุดสร้างขัดแย้ง-รับผิดชอบที่ทำนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวถึงเหตุการณ์ปะทะของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กับกลุ่มทะลุวังที่บริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าสยามว่า เข้าใจถึงความไม่พอใจของกลุ่ม ศปปส. ที่ไม่เห็นด้วยกับการขับรถบีบแตรรบกวนขบวนเสด็จฯ และกิจกรรมทำโพล เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศ รวมถึงตนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่การใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี ขอให้ทุกฝ่ายหยุดสร้างความขัดแย้ง ส่วนกลุ่ม ทะลุวังทุกคนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำ ตามกระบวนการกฎหมาย คดีความอยู่ในชั้นศาลหลายคดีอยู่แล้ว และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ก.ก. ควรตักเตือนกลุ่มดังกล่าวให้หยุดก้าวล่วงสถาบัน หากจะดีกว่านั้น ควรพูดคุยกับเครือข่ายเยาวชนให้หันมาช่วยกันพัฒนาประเทศ และไม่ควรเหมารวมว่าเป็นคดีการเมืองที่จะเสนอสภาให้มีการนิรโทษกรรมได้หยุดวาทกรรมแบ่งแยกคนรุ่นใหม่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรค รทสช. กล่าวว่า ฟังบทสัมภาษณ์ของนายพิธาแล้วรู้สึกไม่สบายใจที่นายพิธาพยายามใช้วาทกรรมคนรุ่นใหม่มาแบ่งแยกคนในสังคม เป็นเรื่องของคนที่ทำผิดกฎหมายและไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เป็นการกระทำที่ย่ำยีหัวใจคนไทย อยากบอกกับนายพิธาว่าขอให้เลิกใช้วาทกรรมคนรุ่นใหม่กับคนทุกรุ่นได้แล้ว เป็นเรื่องของคนที่ทำผิดกฎหมาย ไม่รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ อย่าใช้วาทกรรมมาปลุกระดมคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมากก็ไม่ได้เห็นด้วย และรังเกียจกับการกระทำของคนกลุ่มนี้ ขอให้นายพิธากลับไปทบทวน“จุรินทร์” ตอกย้ำไม่ควรนิรโทษ ๑๑๒นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมเพื่อความปรองดอง ขณะเดียวกันมีพรรคการเมืองบางพรรคเสนอ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้าสู่สภาฯ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ การนิรโทษกรรมสามารถทำได้แม้แต่ในอดีตก็เคยมีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือถ้าจะมีการนิรโทษกรรมในอนาคต ควรครอบคลุม ความผิดในลักษณะใดบ้าง ตรงนั้นคือหัวใจสำคัญ การนิรโทษกรรมต้องไม่รวมคดีทุจริตคอร์รัปชัน และความผิดในมาตรา ๑๑๒ รวมทั้งคดีอาญาร้ายแรง เพราะอนาคตจะทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมาย กลายเป็นการส่งเสริมการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวขยายสู่ความขัดแย้งแตกแยกมากกว่าสร้างความปรองดอง โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีการป่วนขบวนเสด็จฯ ยิ่งตอกย้ำถึงการไม่สมควรนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา ๑๑๒tt tt“วิโรจน์” จี้จัดการพวกอ้างสถาบันฯด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรรก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ต่อกรณีที่มีกลุ่มบุคคลอ้างความจงรักภักดี แล้วไปทำร้ายผู้อื่นที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส การใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่น โดยอ้างว่าทำเพื่อปกป้องสถาบัน ทำเพราะจงรักภักดี เป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อสถาบันอย่างมาก หากรัฐปล่อยให้กลุ่มคนกักขฬะป่าเถื่อนเหล่านี้ลอยนวล มีอำนาจบาตรใหญ่ สามารถอ้างสถาบันไปทำร้ายคนที่คิดต่างโดยที่กฎหมายเอาผิดไม่ได้ หรือสมยอมเอาผิดเพียงลหุโทษพฤติกรรมที่ลุแก่อำนาจของกลุ่มคนเหล่านี้ ระยะสั้นอาจดูเหมือนความคลั่งไคล้ที่มีต่อสถาบัน แต่ระยะยาวมีแต่จะเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทำให้ภาพลักษณ์ของคนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นพวกนิยมความป่าเถื่อน และจะส่งผลกระทบในทางลบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด ผมจึงมีความเห็นว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องบังคับใช้กฎหมายจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่ให้เหิมเกริมกล้านำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้คนตามใจชอบ ได้อีกต่อไปอย่านำกรอบคดีขวางทางนิรโทษนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทน ราษฎร กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.วันที่ ๑๕ ก.พ. จะหารือถึงกรอบและแนวทางทำงาน รวมถึงระยะเวลานิรโทษกรรม ส่วนการเชิญผู้ทรงคุณวุฒินายคณิต ณ นคร และนายโคทม อารียา ที่เคยมีประสบการณ์ศึกษาเรื่องนิรโทษกรรมและการปรองดองมาให้ความเห็นต่อ กมธ. จะนำรายงานฉบับนั้นมาดูว่านำมาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้มากน้อยแค่ไหน พร้อมถามความเห็นว่าหากเราจะแก้ไขความขัดแย้งในวันนี้ สามารถทำได้อย่างไร เรื่องการนิรโทษกรรมไม่ควรไปติดกรอบเรื่องคดี แต่ควรอยู่บนฐานว่าสรุปแล้วจะแก้ปัญหาบ้านเมือง ปัญหาความขัดแย้งที่มีหรือไม่ ถ้าตั้งโจทย์เช่นนี้ก็ไม่ควรเอาเรื่องการห้ามมาตราใดมาเป็นข้อกำหนด ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงในการแก้ปัญหาวิกฤติขณะนี้บี้ กมธ.เร่งเครื่องให้ทันกรอบเวลานายรังสิมันต์กล่าวว่า ส่วนกรอบเวลาพิจารณา ๖๐ วันของ กมธ.จะทันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการประชุม และวิธีการทำงานของประธานฯ ประชุม ๒-๓ วันต่อสัปดาห์ก็ทำได้ ไม่ควรติดกรอบว่าต้องประชุม ๑ วันต่อสัปดาห์ วันนี้รายละเอียดการนิรโทษกรรมมีภาคประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีข้อมูล ทั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน “ไอลอว์” หรือแม้กระทั่งรายงานที่เคยศึกษากันมาก่อนหน้านี้ เราสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้เพื่อเร่งการทำงานให้เร็วขึ้นได้ แต่หากไม่ทันจริงๆก็ต่ออายุได้ แต่ไม่ควรช้าจนเกินไป สังคมอาจวิจารณ์ได้ว่าไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองที่แท้จริง แต่เป็นการตั้ง กมธ.เพื่อยื้อและถ่วงเวลาไว้เรื่อยๆศปปส.ขู่ปฏิบัติการ “ดับแสงตะวัน”ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันของกลุ่มแนวร่วมศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กับเครือข่ายกลุ่มทะลุวัง-ทะลุแก๊ส บนสกายวอล์กสถานีรถไฟฟ้าสยาม จนบาดเจ็บกันทั้งสองฝ่าย ล่าสุดกลุ่ม ศปปส.ออกแถลงการณ์ระบุว่า ศปปส.ขอประณามการจัดการชุมนุมของกลุ่มทะลุวัง ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ดังเห็นได้จากคลิปเหตุการณ์ว่าการ์ดใช้กระบองเหล็กหรือดิ้ว เป็นอาวุธทำร้ายร่างกายสมาชิก ศปปส. ทำให้ได้รับบาดเจ็บ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้มงวด และจัดการขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มทะลุวัง ทั้งนี้ เครือข่ายปกป้องสถาบันยังโพสต์ facebook ระบุว่า “รอบหน้าไม่มีคำว่าปราณีชุดใหญ่ลงแน่นอน” พร้อมภาพ ศปปส.นักรบเลือดสีน้ำเงินชุดปฏิบัติการพิเศษ “ดับแสงตะวัน ep นี้เข้มข้นแน่นอน”ทะลุวังซัดแอบอ้างใช้ความรุนแรงขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนเครือข่ายทะลุวัง-ทะลุแก๊ส อาทิ สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และสหภาพคนทำงาน ฯลฯ ออกแถลงการณ์ถึงกลุ่มปกป้องสถาบัน ให้หยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทางความคิดว่า การกระทำของ น.ส.ทานตะวันเกี่ยวกับเหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ กลุ่ม ศปปส.และกลุ่มปกป้องสถาบัน ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวน การกฎหมาย ส่วนการทำโพลในวันเกิดเหตุเป็นเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง ที่อยู่ในขอบเขตที่สามารถทำได้ การที่ ศปปส.ใช้กำลังความรุนแรงเข้าทำร้ายร่างกายผู้เห็นต่างทางความคิด ไม่อาจถูกยอมรับให้เป็นวิธีการที่ชอบธรรมในการปกป้องสถาบัน และยังอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันต่อสายตาชาวโลกได้ ทำให้สังคมตกอยู่ในความหวาดกลัวว่าอาจเกิดเหตุการณ์เข่นฆ่าผู้เห็นต่างซ้ำรอยประวัติศาสตร์ สถาบันไม่ควรถูกใช้เป็นเหตุผลหรือข้ออ้างทำร้ายบุคคลใด เจ้าพนักงานตำรวจควรดำเนินคดีตามกฎหมายกับกลุ่มคนดังกล่าวทุกคนtt tt“พิธา” ไม่มีสถานะนายประกันนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ช่วงปีที่แล้วที่ “ตะวัน” และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม สองนักกิจกรรมอิสระ ได้ไปขอถอนประกันตัวเอง ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ทั้งคู่เป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา ๑๑๒ จากการจัดกิจกรรมสอบถามความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ กับกลุ่มทะลุวัง เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์๒๕๖๕ ต่อมาอดอาหารและป่วยหนัก ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เรื่องดังกล่าวเป็นเหตุให้ศาลอาศัยอํานาจตาม ป.วิอาญา เห็นว่าจิตใจร่างกายของคนป่วยที่อยู่ในภาวะอันตรายระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ หากศาลหรือผู้ควบคุมหรือผู้รักษาพยาบาลเห็นว่าผู้ต้องขังทางอาญาจะมีอันตรายถึงแก่ชีวิต สามารถไปใช้สิทธิขอให้ศาลพิจารณาแล้วถอนหมายขังได้ ศาลอนุญาต เมื่อถอนหมายขังเเล้วการคุมตัวไม่ได้อยู่ในอำนาจการดูแลของศาล ดังนั้น สถานะการเป็นนายประกันของนายพิธาจึงหมดไป หลังจากนั้นศาลไม่ได้ออกหมายขังตะวันอีก ถือว่าเป็นการปล่อยตัวชั่วคราวตลอดไป ไม่ต้องมีนายประกันแคมเปญนิรโทษ “ส่งรักให้ถึงสภา”ช่วงเย็น ที่ลานประชาชน สัปปายะสภาสถาน รัฐสภา เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน หรือกลุ่มราษฎรเดิม นำโดยนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายของประชาชน (ไอลอว์) นัดรวมตัวผู้ถูกดำเนินคดีระหว่างการชุมนุมของม็อบราษฎร ช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ นับร้อยคนจัดกิจกรรม ๑๑.๒ Love Fair ส่วนหนึ่งในแคมเปญล่ารายชื่อเสนอ “ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน” ต่อสภา ไฮไลต์ของงานคือเหล่าผู้ถูกดำเนินคดีรวมตัวกันบันทึกภาพและตะโกนคำว่า “ลงชื่อเพื่อเสรีภาพ ทวงคืนความยุติธรรมนิรโทษกรรมประชาชน” นายยิ่งชีพกล่าวว่า สิบกว่าปีที่ผ่านมากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐสร้างความหวาดกลัว โดยเฉพาะในคดีมาตรา ๑๑๒ ที่ถามหาความปกติได้ยาก ทนายความอย่าง “อานนท์” (นายอานนท์ นำภา) คือประจักษ์พยานของความไม่ปกติ และวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์จะมีกิจกรรมปิดท้ายแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน “ส่งรักให้ถึงสภา ถามหาความยุติธรรม เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน” มีการเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมารับรายชื่อประชาชน ที่เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยมี “ตะวัน ทะลุวัง หรือทานตะวัน ตัวตุลานนท์” และหยก มาร่วมกิจกรรมนั่งหลับตาส่งพลังจิตไปถึงคนที่เกี่ยวข้อง“ทวี” ให้ลุ้นชื่อ “ทักษิณ” ได้พักโทษอีกเรื่อง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการพิจารณาพักลงโทษมีรายชื่อนักโทษที่เข้าข่ายประมาณ ๑ พันคน นำเสนอ รัฐมนตรีว่าการยุติธรรมในวันที่ ๑๒ ก.พ. มีชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รวมอยู่ด้วยว่ายังไม่ทราบว่ามีชื่อหรือไม่ อาจอยู่ระหว่างการเสนอผ่านปลัดกระทรวงยุติธรรมที่ต้องผ่านทีมกฎหมายดูความรอบคอบ น่าจะถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์นี้ เมื่อถามว่า รัฐมนตรีว่าการยุติธรรมเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกวุฒิสภาจองกฐินอภิปราย และฝ่ายค้านเตรียมเสนอญัตติอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โยงถึงนายทักษิณ ชินวัตรและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คดีหมูเถื่อน พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า ยินดี เป็นเรื่องดีได้ชี้แจงต่อสังคม ทุกคดีในยุคที่ตนเป็น รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะดีเอสไอ ยกระดับความเชี่ยวชาญรวบรวมหลักฐาน คงมีคดีใหญ่ๆตามมาอีกเยอะ เราพยายามสร้างดีเอสไอให้มีภาวะผู้นำ ยึดหลักนิติธรรมลั่นยึดหลักนิติธรรมไม่มีส่วนตัวเมื่อถามว่า เคยทำงานใกล้ชิดกับนายทักษิณ จุดนี้ทำให้ชี้แจงต่อสังคมยากหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีตอบว่า การปฏิบัติหน้าที่ไม่มีเรื่องส่วนตัว ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย เชื่อมั่นกระทรวงยุติธรรมยุคนี้ทำตามหลักนิติธรรมไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งหรือระบบอะไร ทำแบบตรงไปตรงมายิ่งกรณีหมูเถื่อนที่สงสัยเป็นอาชญากรรมเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ถ้าไม่ขุดรากถอนโคนยิ่งเป็นปัญหา ตรงนี้ตรวจสอบตรงไปตรงมากำชับพนักงานสอบสวนทำงานหามรุ่งหามค่ำในอดีตคาดการณ์ เช่น ไปพบครั้งหลังมีเงินโอนไปเป็นหมื่นๆล้านบาทในการซื้อหมูตู้หนึ่งมีกำไร สมมติตู้ละ ๑ ล้านบาท หมื่นตู้ก็หมื่นล้านบาท สิ่งพวกนี้เข้าประเทศได้ต้องผ่านกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ หรือหน่วยงานต่างๆ ส่วนกรณีลักลอบเข้ามาใหม่ เป็นเรื่องของกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ ต้องช่วยกันมีมาตรการป้องกัน วันนี้ภาคประชาชนตื่นรู้แล้วทำไมยังช้าอยู่tt tt“ไหม” จี้ รบ.เตรียมแผนสำรองวันเดียวกัน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์กรณีรัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการเติมเงิน ๑ หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า รัฐบาลควรมีแผนสำรองไว้รองรับ เพราะแนวทางที่กำลังดำเนินการอยู่มีความเสี่ยง ไม่ใช่รอให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ออกมาแล้วจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ไม่ใช่เราไม่เห็นว่ารัฐบาลกำลังช่วยฟื้นเศรษฐกิจ แต่ผลที่จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมีอยู่น้อยเกินไป จนถึงวันนี้เรายังไม่รู้ว่าจะออกหน้าไหน ยังต้องลุ้นต่อว่าคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน ๑ หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่เตรียมประชุมกันสัปดาห์หน้าจะมีมติทางไหน ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดหากดำเนินโครงการไปแล้วจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อย่างมีคนนำเรื่องไปร้องเรียนหรือไม่ แม้กฎหมายจะผ่านสภาได้ แต่อาจติดที่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องมีแผนสำรองไว้ เพราะรัฐบาลพูดเองว่าเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เศรษฐกิจวิกฤติแล้ว แต่กลับเอาชะตากรรมทางเศรษฐกิจประเทศ ไปแขวนไว้กับนโยบายนี้นโยบายเดียว มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงลดขนาดลงหรือใช้งบฯ ๖๘ ไปเลยผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลฯชุดใหญ่ น.ส.ศิริกัญญาตอบว่า ยิ่งต้องรีบหาแผนสำรอง เพราะงบประมาณปี ๒๕๖๘ มีความคืบหน้าค่อนข้างมากแล้ว ถ้ารัฐบาลอยากปรับปรุงนำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ยิ่งต้องรีบทำถึงแม้จะนำงบประมาณ ๕ แสนล้านบาทมาดำเนินการ ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี แผนสำรองอาจเป็นการลดขนาดโครงการ และนำไปใช้ในงบประมาณปี ๒๕๖๘ “นี่ไม่ใช่ข้อเสนอที่เราเห็นด้วยกับการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่มันคือทางออกทางเดียวที่ยังเหลืออยู่ หากสุดท้ายแล้ว พระราชบัญญัติกู้เงิน ๕ แสนล้านบาทเดินหน้าต่อไม่ได้ หากจะมีมาตรการอะไรที่สามารถใช้งบกลางประจำปีในตอนนี้ ออกโครงการมาได้เลยไม่ต้องรอ แต่ขนาดโครงการอาจต้องเล็กลงมา ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”โอ่มีเรือธงลับเดินคู่ดิจิทัลวอลเล็ตนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเสียงคัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องปกติที่จะมีข้อห่วงใยจากหลายหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลรอบคอบรัดกุมตามกรอบกฎหมาย ขอให้ประชาชนที่รอคอยนโยบายนี้เชื่อมั่น รัฐบาลจะผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นได้ ยินดีรับฟังข้อเสนอข้อท้วงติงจากทุกหน่วยงาน ในการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่วันที่ ๑๕ ก.พ. จะนำรายงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาพิจารณาด้วย เพื่อให้ครบองค์ประกอบการพิจารณาเดินหน้าโครงการ หลักการสำคัญโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต้องถึงมือประชาชนอย่างโปร่งใส ไม่มีทุจริต มั่นใจแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลไม่ใช่การเอาไข่ไปใส่ตะกร้าใบเดียว แต่รัฐบาลมีไข่หลายใบ กระจายใส่ตะกร้าหลายอันนอกจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ยังมีนโยบายเรือธงอื่นที่จะทำควบคู่กัน เป็นอาวุธลับขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งซอฟต์พาวเวอร์ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง แลนด์บริดจ์ และอีกหลายนโยบาย รัฐบาลจะผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตให้เกิดขึ้นควบคู่กับนโยบายเรือธงอื่นๆติง “พิธา” มองนโยบาย รบ.ให้กว้างน.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ก.ก. ระบุถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตรัฐบาลไม่ควรเอาไข่ไปใส่ในตะกร้าใบเดียว ต้องมีแผนสองกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยว่า อยากให้นายพิธามองโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้กว้างขึ้น เพื่อเข้าใจเจตนารมณ์รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศชัดเจนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนวันนี้ ว่ามีภารกิจสำคัญพลิกฟื้นและกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบตั้งแต่ฐานราก เพราะเศรษฐกิจไทยช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียง ๑.๙% รั้งท้ายกลุ่มอาเซียน ขณะที่ความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรังกว่า ๑๐ ปี ส่งผลให้การฟื้นตัวจากช่วงวิกฤติโควิดเป็นแบบคนจนที่แย่อยู่แล้วแย่ลงไปอีก แต่คนรวยมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ห่างจากคนฐานล่างไปเรื่อยๆจวก ป.ป.ช.ล้ำเส้นฝ่ายบริหารน.ส.ลิณธิภรณ์กล่าวว่า การมองเห็นประโยชน์ดิจิทัลวอลเล็ตเพียงตะกร้าใบเดียวอาจคับแคบเกินไป ไม่สอดคล้องกับสภาพความจริง พรรคเพื่อไทยมองภาพใหญ่ อย่างที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการคลัง ยืนยันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานการเงินใหม่ พัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แม้ ป.ป.ช.จะเป็นห่วงจัดทำความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช.หรือไม่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีมาตรา ๒๓๔ บัญญัติอำนาจ ป.ป.ช.ไว้จำกัด เพียงการไต่สวน มีความเห็นกรณีกล่าวหาผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อธรรมนูญ แต่การดำเนินการที่อยู่ระหว่างศึกษาและดำเนินการอย่างรอบคอบ เข้าข่ายให้ ป.ป.ช.มาพิจารณาขั้นตอนนี้หรือไม่ หากไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ป.ป.ช.แล้ว ความเห็นองค์กรอิสระที่ส่อในทางชี้นำการบริหารของรัฐบาลเช่นนี้ เป็นการล้ำเส้นแทรกแซงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำลายความหวังกลุ่มเป้าหมายที่รอนโยบายนี้อยู่ ขอย้ำดิจิทัลวอลเล็ตเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ฟื้นฟูเศรษฐกิจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมกันด้วยความกล้า ไม่ใช่ความกลัว ด้วยแผนหลักไม่มีแผนสำรอง กระตุ้นฐานรากเปลี่ยนภูมิทัศน์เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไปตลอดกาล เลิกใช้โวหารสร้างความเข้าใจผิดtt ttชทพ.รอผลบอร์ดดิจิทัลฯชุดใหญ่ที่ จ.สุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว. การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า เบื้องต้น ต้องดูว่าข้อสังเกตที่ ป.ป.ช.ส่งมาให้รัฐบาล ที่มีอยู่หลายข้อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการคลัง กับพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่เตรียมหารือกันในเร็วๆนี้ จะมีความเห็นต่อข้อสังเกต หรือมีแนวทางคำชี้แจงอย่างไรได้บ้าง ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้านายกฯเตรียมนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะ กรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่อยู่แล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะโครงการนี้พี่น้องประชาชนมีความหวัง และหลายคนมีทั้งความหวังและมีทั้งที่เป็นห่วง เชื่อว่าจะสามารถชี้แจงคลายข้อกังวลของหลายฝ่าย รวมทั้งการตั้งข้อสังเกตของ ป.ป.ช.ได้ ต้องรอดูว่าผลการประชุมจะเป็นอย่างไรโพลชี้ภาวะเงินคนไทยกระเป๋าฉีกด้านซูเปอร์โพลเปิดผลสำรวจความเห็น “จำนวนคนไทยในวิกฤติการเงิน” จากประชาชน ๑,๑๔๖ ราย ระหว่างวันที่ ๗-๑๐ ก.พ. พบว่าประมาณ ครึ่งต่อครึ่ง หรือ ๕๐-๕๐ ระบุว่าเงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤติ ขณะที่อีกร้อยละ ๔๙.๕ ระบุไม่อยู่ในขั้นวิกฤติ แบ่งตามภูมิภาค พบว่าคนในภาคอีสานส่วนใหญ่ระบุการเงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤติมากที่สุด รองลงมาคือคนในภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และคนในกรุงเทพฯ เมื่อถามถึงข้อกังวลถ้ามีการแจกเงินดิจิทัลจริง ร้อยละ ๓๒.๗ กังวลต่อความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ พวกมิจฉาชีพออนไลน์ ภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง รองลงมากังวลการทุจริตเชิงนโยบาย การสวมสิทธิ ห่วงประชาชนเสียวินัยการเงิน ประชาชนผู้ห่างไกลเทคโนโลยีเข้าไม่ถึงการแจกเงินนี้ ที่น่าพิจารณาคือ ถ้าวันนี้เลือกตั้ง ประชาชนสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเลือกพรรคในรัฐบาล เปรียบเทียบระหว่างเดือน มกราคมที่ผ่านมา กับเดือน ก.พ. พบว่าขออยู่กลุ่มตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ ๒๐.๒ มาอยู่ที่ร้อยละ ๕๓.๔ ในครั้งล่าสุดอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่