Thursday, 19 December 2024

เชียงใหม่ พบความร้อน ๒๑ จุดใน ๓ อำเภอ ส่งศูนย์ไฟป่าเร่งควบคุมสถานการณ์

ศูนย์บัญชาการไฟป่าฯ เชียงใหม่ ออกหนังสือด่วนเร่งดำเนินการดับไฟป่า ๓ อำเภอ ๒๑ จุด ให้ศูนย์ระดับอำเภอ เข้าควบคุมสถานการณ์ในทันที และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตามประเภทพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร เข้าร่วมปฏิบัติการและให้การสนับสนุน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยย้ำถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงานเมื่อวันที่ ๑๔ ก.พ. ๖๗ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดจุดความร้อนเมื่อคืนนี้ถึง ๒๑ จุด ในพื้น ๓ อำเภอ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะ รองผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM ๒.๕ จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการจังหวัด ได้มีหนังสือวิทยุ แจ้งไปยังวิทยุสื่อสารความเร่งด่วน ด่วนที่สุด ที่ ชม (ศบก) ๐๐๒๑/ว ๗๙ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ จาก ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่/ผู้อำนวยการจังหวัดถึง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๖ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๑ (เชียงใหม่) ผู้ประสานงานกลุ่มพื้นที่ป่าที่ ๒, ๓, ๔ นายอำเภอฮอด นายอำเภอแม่แจ่ม และนายอำเภอแม่วาง ตามที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม-๓๐ เมษายน ๒๕๖๗ หากฝ่าฝืนให้บังคับใช้กฎหมายทุกกรณี และหากมีความจำเป็นต้องเผาจะต้องได้รับการอนุมัติจากศูนย์บัญชาการฯ อำเภอ โดยลงทะเบียนผ่านระบบ FireD หรือแจ้งความประสงค์ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นล่วงหน้าอย่างน้อย ๓ วัน  ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ได้รายงานจุดความร้อน (Hotspot) ประจำวัน เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เวลา ๐๒.๒๖ น. พบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีจุดความร้อนทั้งสิ้น ๒๑ จุด ในเขตพื้นที่ อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอแม่วาง ประเภทของพื้นที่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ข้อสั่งการ/การปฏิบัติ ๑. ตรวจสอบจุดความร้อนดังกล่าว ว่าอยู่ในเขตพื้นที่ในความรับผิดชอบ หรืออยู่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานของท่านหรือไม่ หากพบว่าอยู่ในเขตที่ท่านรับผิดชอบ/กำกับดูแล ให้ดำเนินการ ดังนี้  ๑.๑ ให้ศูนย์บัญชาการฯ อำเภอ เข้าควบคุมสถานการณ์ในทันที และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตามประเภทพื้นที่ป่า/พื้นที่เกษตร เข้าร่วมปฏิบัติการและให้การสนับสนุน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ๑.๒ หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ให้ผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการฯ อำเภอพิจารณาขอรับการสนับสนุน/ความช่วยเหลือ จากท้องถิ่น อำเภอข้างเคียง และศูนย์บัญชาการฯ จังหวัดต่อไป ๑.๓ กรณีเกิดจุดความร้อนในพื้นที่ ให้อำเภอ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ กำกับดูแลตามประเภทพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อน จัดทำรายงานชี้แจง โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับ วัน เวลา พิกัดสถานะของเหตุการณ์ว่าคลี่คลายแล้วหรือดำเนินต่อ แผนปฏิบัติ หน่วยงานที่ปฏิบัติ สิ่งที่ต้องการขอรับการสนับสนุนภาพถ่าย คลิปวิดีโอของสถานที่และการปฏิบัติงาน และมาตรการป้องกัน ให้ศูนย์บัญชาการฯ จังหวัดทราบโดยใช้ช่องทางการรายงานผ่านกลุ่มไลน์ กลุ่มพื้นที่ป่า ๗ กลุ่ม และพื้นที่พิเศษ และกลุ่มไลน์ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เชียงใหม่ (ช่องรายงาน) ภายในเวลาไม่เกิน ๑ ชั่วโมง หลังเกิดเหตุ๑.๔ ให้ผู้ประสานงานกลุ่มพื้นที่ป่าที่ ๒,๓ และ ๔ ติดตามสถานการณ์ และประสานงานในการสนับสนุนศูนย์ บัญชาการฯ อำเภอ ในเขตรับผิดชอบ และรายงานให้ศูนย์บัญชาการฯ จังหวัดทราบ อีกทางหนึ่ง ๒. การปฏิบัติงาน ให้พิจารณาถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้ถึงสถานการณ์และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง.