Sunday, 19 January 2025

จับตาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลปากีสถาน ใครจะได้ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่

จนถึงตอนนี้ชาวปากีสถานก็ยังไม่รู้ชัดเจนว่า พรรคการเมืองใดจะขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และใครที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลยังสามารถออกมาได้หลายทางคณะกรรมการการเลือกตั้งปากีสถานประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๑ ก.พ. ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า กลุ่มผู้สมัครอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรค PTI ของอดีตนายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน ได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาอย่างไรก็ตาม เนื่องจากพรรคใหญ่ทั้ง ๓ พรรค ไม่มีพรรคไหนได้คะแนนเสียงถึง ๑๖๙ ที่นั่ง ซึ่งจำเป็นสำหรับการครองเสียงข้างมากในสภา ทั้ง ๓ พรรคจึงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องหาพรรคร่วมมาจับมือกันตั้งรัฐบาลต่อไปแม้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน ยังคงถูกคุมขังอยู่ จากโทษจำคุกถึง ๑๔ ปีจากหลายข้อหา และพรรคการเมืองพรรคปากีสถานเทห์รีก-อี-อินซาฟ หรือ PTI ของเขาต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย แต่ผู้สมัครอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคกลับสามารถชนะการเลือกตั้งได้ถึง ๙๓ ที่นั่งจาก ๒๕๖ ที่นั่งในสภาแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นจำนวนมากที่สุดสำหรับพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งแต่ก็ยังไม่มากพอที่จะครองเสียงข้างมาก ๑๖๙ เสียง ซึ่งจำเป็นสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลขณะที่พรรคสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน นาวาซ หรือ PML-N ของอดีตนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ ครองอันดับ ๒ คว้ามาได้ ๗๕ ที่นั่ง โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอันทรงพลังของประเทศ และคาดการณ์ว่าจะคว้าชัยชนะมาได้ หลังจากที่เขาต้องลี้ภัยออกจากปากีสถานไปด้วยความอับอายเมื่อห้าปีที่แล้วส่วนพรรคประชาชนปากีสถาน หรือ PPP ที่นำโดยนายบิลาวัล บุตโต ลูกชายของนายเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกลอบสังหารในปี ๒๐๐๗ ได้มา ๕๔ ที่นั่งทั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า พรรคการเมืองจะต้องจัดตั้งรัฐบาลภายในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ หรือ ๓ สัปดาห์หลังจากวันเลือกตั้ง โดยสภาแห่งชาติมีทั้งหมด ๓๖๖ ที่นั่ง ประกอบด้วย ๒๖๖ ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนอีก ๗๐ ที่นั่งสงวนไว้ ๖๐ ที่นั่งสำหรับผู้หญิง และ ๑๐ ที่นั่งสำหรับ คนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม ซึ่งจะถูกจัดสรรตามคะแนนเสียงของแต่ละพรรคในสภานายราฟิอูลาห์ คาการ์ นักวิเคราะห์ด้านการเมืองระบุว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็นผลลัพธ์แบบกระจัดกระจาย ไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ดังนั้นพวกเขาต้องหาจุดยืนร่วมกันหรือจัดตั้งรัฐบาลผสม และแม้ว่าทั้งพรรค PTI และ PML-N จะประกาศชัยชนะด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็ดูเหมือนว่าทั้งสองพรรคจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ทำให้มีแรงกดดันต่างๆ เพื่อแย่งชิงอำนาจกัน เห็นได้จากผู้สมัครอิสระที่ไม่ได้รับเลือกตั้งได้ยื่นฟ้องต่อศาลโดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง ขณะที่ผู้สนับสนุนของ PTI ยังคงประท้วงนอกสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทั่วประเทศดังนั้นยังไม่มีใครชี้ชัดได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป? ซึ่งสามารถจะวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจจะเป็นไปได้ดังนี้พรรค PML-N ของนาวาซ ชารีฟ จับมือกับพรรค PPP ของนายบุตโตความเป็นไปได้แรก คือ พรรคของนายชารีฟบรรลุข้อตกลงกับพรรคประชาชนปากีสถาน และพรรคเล็กอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาลผสมโดยดร.ซามินา ยาสมีน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย วิเคราะห์ว่าพรรค PML-N และ PPP เคยเป็นพันธมิตรกันเพื่อโค่นนาย อิมราน ข่านลงจากตำแหน่งมาแล้ว ในปี ๒๐๒๒ และยังเคยร่วมบริหารประเทศจนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จึงมีความเป็นไปได้ที่จะจับมือกันแล้วไปรอด แต่อุปสรรคสำคัญคือ การตกลงกันว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และจะแบ่งตำแหน่งประธานาธิบดี และตำแหน่งต่างๆ กันอย่างไรให้ลงตัวโดยล่าสุดพรรค PML-N พยายามดึงพรรค MQM ซึ่งมีอุดมการณ์แบบสังคมนิยมเสรีนิยม และชนะการเลือกตั้งไป ๑๗ ที่นั่ง และกำลังยังพยายามโน้มน้าวผู้สมัครอิสระให้เข้าร่วมด้วยขณะที่ นายอารีฟ อาลี ซาร์ดารี สามีของนางเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงผู้ล่วงลับได้พบกับคณะผู้แทนของ PML-N ที่นำโดยพี่ชายของนาย ชารีฟในเมืองลาฮอร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าพรรค PPP ยังคงใช้เวลาพิจารณาตัวเลือกต่างๆ โดยคณะกรรมการบริหารกลางของพรรคมีกำหนดประชุมในกรุงอิสลามาบัด ในวันจันทร์นี้ พรรค PPP จับมือกับพรรค PTI ของนายอิมราน ข่านผู้นำอาวุโสของ PPP นางสาวแชร์รี เรห์มาน กล่าวว่า ประตูของพรรคเปิดกว้างสำหรับทุกพรรคการเมือง หลังจากถูกผู้สื่อข่าว บีบีซี ถามว่า พรรค PPP ยินดีที่จะทำงานร่วมกับ PTI หรือไม่อย่างไรก็ตาม นายซูลฟี บุคฮารี ที่ปรึกษาด้านสื่อของ นายอิมราน ข่าน บอกกับ BBC ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่พรรค PTI จะเลือกเป็นฝ่ายค้าน แทนที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสม ถ้าหากไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้สอดคล้องกับความเห็นก่อนหน้านี้ของนายข่าน ซึ่งเคยพูดไว้ในปี ๒๐๑๘ ว่า รัฐบาลผสมจะอ่อนแอ และประเทศต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งเพื่อฝ่าฟันวิกฤติที่กำลังเผชิญอยู่ หรือไม่อย่างนั้น เขาก็อาจจะจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคเล็กๆ อย่างพรรค MQMพรรค PML-N จับมือกับพรรค PTI และพรรคเล็กอื่นๆสถานการณ์แบบนี้ เท่ากับว่าพรรค PTI ที่ชนะการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่หัวหน้าพรรคโดนจำคุก, สัญลักษณ์พรรคโดนยึด, และสมาชิกหลายคนถูกคุมขัง จะกลับมามีอำนาจ ซึ่งถือเป็นเรื่องพลิกโผอย่างมากในสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ แต่อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ข้อเรียกร้องของนายอาซาม นาเซียร์ ทาราร์ นักการเมืองอาวุโสของพรรค PML-N ที่อยากให้เกิดรัฐบาลผสมที่ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือกัน ดูจะเป็นข้อเสนอที่พรรค PTI ปฏิเสธไม่ลงอูเดย์ จันทรา จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ระบุว่า แม้แต่ประชาชนที่ไม่ได้โหวตเลือกให้แก่อิมราน ข่าน ก็อาจจะรู้สึกได้ถึงความอยุติธรรม กับสิ่งที่กองทัพทำกับเขาและพรรคของเขาตลอดช่วงกว่า ๒ ปีที่ผ่านมา จึงไม่แปลกใจที่คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าความเป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตยถูกละเมิด ดังนั้นเพื่อจะแสดงจุดยืนอันเป็นอิสระ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงส่งสารอย่างชัดเจนไปถึงกองทัพว่าพวกเขาต้องการให้ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน และต้องการให้พรรค PTI ร่วมอยู่ในรัฐบาล พรรค PTI หนุนหลังผู้สมัครอิสระ และให้จับมือกับพรรคเล็กหนึ่งในความเป็นไปได้ คือผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจาก PTI อาจเข้าร่วมกับพรรคขนาดเล็กเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม เพื่อที่จะรวมที่นั่งของพวกเขา กับการใช้ประโยชน์จากที่นั่งสมัชชาแห่งชาติ ๖๐ ที่นั่งที่สงวนไว้สําหรับผู้หญิงโดยพรรคการเมือง ๑ พรรค จะได้ที่นั่งสำรองสำหรับผู้หญิงเอาไว้ทุกๆ ๓.๕ ที่นั่งที่ชนะการเลือกตั้งมา ซึ่งจะทำให้ผู้สมัครอิสระไม่ได้สิทธิในส่วนนี้ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ดังนั้นภายใน ๗๒ ชั่วโมงหลังการประกาศผลเลือกตั้ง พวกเขาจะต้องแสดงเจตจำนงชัดเจนว่า จะเข้าร่วมกับพรรคการเมืองใด หรือจะนั่งในสภาในฐานะของสมาชิกรัฐสภาอิสระอย่างไรก็ตาม แอสมา เฟซ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การจัดการลาฮอร์ มองว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่ PTI จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ เพราะแม้พวกเขาจะจับมือกับพันธมิตรพรรคขนาดเล็กก็ยังไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้อยู่ดี ดังนั้นสำหรับพรรค PTI แล้ว การจับมือกับพรรคเล็กๆ เหล่านี้ ไม่มีประโยชน์ในแง่จำนวนเสียง นอกจากเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายเพื่อให้ได้ที่ยืนในสภาเท่านั้นแต่ไม่ว่าผลการจัดตั้งรัฐบาลผสมจะออกมาเช่นไร ประชาชนชาวปากีสถานก็คงลุ้น ไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เลย เพราะจะเป็นการเปิดทางให้กองทัพเข้ามาแทรกแซง และผูกขาดอำนาจอีกครั้ง หลังจากเคยยึดอำนาจปกครองประเทศมานานถึงเกือบ ๓๐ ปี และทำให้การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยต้องถอยหลังกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง.ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอลที่มา BBC , VOX.comคลิกอ่านข่าว รายงานพิเศษไทยรัฐออนไลน์