เกิดเหตุดินถล่มลงมาทับเหมืองทองคำ ทางภาคตะวันออกของประเทศตุรกี โดยหน้าดินปริมาณมหาศาลไถลลงมาทับบริเวณเหมืองและพื้นที่โดยรอบ เบื้องต้นคาดว่า มีคนงานเหมืองติดอยู่ใต้ซากกองดิน อย่างน้อย ๙ รายเว็บไซต์ข่าว The Guardian รายงานว่า เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์๒๕๖๗ เกิดเหตุดินถล่มลงมาทับเหมืองทองคำ “คอปเลอร์” (Copler) ในเมืองไอลิค บริเวณภูเขาในจังหวัดเออร์ซินคาน ทางภาคตะวันออกของประเทศตุรกี โดยหน้าดินปริมาณมหาศาลไถลลงมาทับบริเวณเหมืองและพื้นที่โดยรอบ เบื้องต้นคาดว่ามีคนงานเหมืองติดอยู่ใต้ซากกองดิน อย่างน้อย ๙ รายรายงานข่าวระบุว่า เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ ๑๔.๓๐ น. ซึ่งมีคนงานจำนวนมากกำลังทำงานอยู่บริเวณเหมือง โดยนายอาลี เยอร์ลิคายา รัฐมนตรีมหาดไทยตุรกีเปิดเผยว่า มีคนงานอย่างน้อย ๙ รายที่ยังขาดการติดต่อ และยังไม่ทราบชะตากรรม ขณะที่ทีมค้นหาและกู้ภัยกว่า ๔๐๐ คนจากจังหวัดเออร์ซินคานและจังหวัดใกล้เคียงกำลังทำงานอยู่ในพื้นที่เพื่อค้นหาผู้ที่สูญหาย ขณะที่นายเบคีร์ อัคซัน ผู้ว่าราชการจังหวัดเออร์ซินคาน เปิดเผยว่า มีคนงานมากกว่า ๙ คน หรืออาจจะ ๑๐-๑๒ คนที่ยังสูญหาย ทางด้านรัฐมนตรียุติธรรม กล่าวว่าการสอบสวนภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้วทั้งนี้ เหมืองทองคำ “คอปเลอร์” ของบริษัทอะนาโกลด์ ไมน์นิ่ง เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ มีคนงานทั้งหมด ๖๖๗ คน บริษัทออกแถลงการณ์ระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการที่ยากลำบากนี้คือความปลอดภัยของพนักงานและผู้รับเหมาของบริษัท ขณะที่ตุรกีมีประวัติความปลอดภัยของเหมืองย่ำแย่ โดยเมื่อปี ๒๕๖๕ เหตุระเบิดที่เหมืองถ่านหินอามาสรา บนชายฝั่งทะเลดำ คร่าชีวิตคนงานไป ๔๑ ศพ และภัยพิบัติจากการทำเหมืองที่เลวร้ายที่สุดของประเทศเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๗ ที่เหมืองถ่านหินในเมืองโซมา ทางตะวันตกของตุรกี ซึ่งมีผู้เสียชีวิต ๓๐๑ ศพ.