“พัชรวาท” รองนายกฯ และรมว.ทส. เคาะ ๓ มาตรการแก้ปัญหา “หญ้าทะเลเมืองตรัง” เสื่อมโทรม ห่วงกระทบชีวิตสัตว์น้ำหายาก พร้อมจับมือเอกชน เพิ่มจำนวน “พะยูน”-“ปิ่นสักก์” เผย เพิ่มลาดตระเวนเฝ้าระวังอุบัติเหตุ-ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากวันที่ ๑๔ ก.พ. ๖๗ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รัฐมนตรีว่าการทส.) พร้อมด้วย ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ตลอดจนคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ผู้แทนจากสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ เดินทางลงพื้นที่ บ้านเกาะมุกด์ จังหวัดตรัง เพื่อติดตามสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม และรับฟังปัญหาของชาวบ้าน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ร่วมให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการทส. ได้วางทุ่นแนวเขตคุ้มครองพะยูน และหญ้าทะเล พร้อมทั้งปล่อยพันธุ์หอยชักตีน ๑,๕๐๐ ตัว และเยี่ยมชมนิทรรศการหญ้าทะเล และรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ในพื้นที่ จ.ตรัง และ จ.กระบี่ โดยระหว่างทางเดิน รัฐมนตรีว่าการทส.ได้แวะชมพะยูนกำลังหากินหญ้าทะเล บริเวณหน้าหาดเกาะมุกด์ จากนั้นร่วมพูดคุย และรับฟังปัญหาจากชาวบ้านเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งร่วมปล่อยพันธุ์ปูม้าคืนสู่ท้องทะเล ตลอดจนชมการสาธิตช่วยเหลือพะยูนเกยตื้น พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า จังหวัดตรัง มีแหล่งหญ้าทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ ๑ ของประเทศ และจะต้องมีความสมบูรณ์ในอันดับ ๑ ตลอดไป ทั้งนี้หญ้าทะเลที่มีมากอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หาดหยงหลำ เกาะมุกด์ และพื้นที่อ่าวขาม รวมทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง จังหวัดตรัง เมื่อต้นเดือน กุมภาพันธ์เริ่มมีแนวโน้มที่หญ้าทะเลที่ จ.ตรัง ลดลง ต้องรีบฟื้นฟู จึงไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการแก้ไขในระยะสั้นอย่างเร่งด่วน และวางแผนฟื้นฟูในระยะยาว เนื่องจากหญ้าทะเลสำคัญสำหรับวงจรชีวิต เป็นแหล่งอาหาร ธรรมชาติสำหรับสัตว์น้ำขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพะยูน และเต่าทะเล ที่ประเทศไทยต้องอนุรักษ์ และเพิ่มจำนวนให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกในอนาคต ทั้งนี้ได้กำหนด ๓ มาตรการเพื่อฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล อาทิ กำหนดเขตการใช้ประโยชน์แหล่งหญ้าทะเล การควบคุมผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น ตามรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนดขอบเขตแนวหญ้าทะเลด้านนอกชายฝั่งทะเล ป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลอย่างไม่ถูกวิธี หาก ๓ มาตรการดังกล่าวดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อได้ว่าแหล่งหญ้าทะเลจังหวัดตรังสามารถฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์ได้ “หัวใจสำคัญของการฟื้นฟูหญ้าทะเล คือ ความร่วมมือในการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง หากทุกภาคส่วนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเต็มที่ต่อเนื่อง หญ้าทะเลจะกลับมาสมบูรณ์และไม่เข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์อีกต่อไป และยืนยันว่าจะทำให้หญ้าทะเลจังหวัดตรังกลับมาสมบูรณ์ให้ได้” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า ส่วนการเพิ่มจำนวนพะยูนอย่างยั่งยืน ได้มีดำริให้จัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูน และสัตว์ทะเลหายาก เป็นโครงการที่กระทรวงทรัพยากรฯ ลงนามบันทึกความร่วมมือกันระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งสถาบันวิจัยจะเป็นหน่วยงานหลักในการอนุรักษ์พะยูนฯ และประสานแนวทางการบริหารจัดการอนุรักษ์พะยูนครบวงจรในทุกมิติ จะสามารถดูแลและอนุรักษ์พะยูนได้อย่างดี ขอเพียงให้พวกเราทุกคนมีความตระหนักในการอนุรักษ์พะยูน และมีการปลุกจิตสำนึกของสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนช่วยดูแลพะยูนให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป ที่ผ่านมาขอชื่นชมพี่น้องประชาชนใน จ.ตรัง นักท่องเที่ยว และภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการปัญหาขยะทะเล ที่สำคัญต้องขอขอบคุณสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ที่ร่วมกันจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก เพื่อช่วยดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะพะยูนและหญ้าทะเลให้สมบูรณ์อยู่คู่กับทะเลตรังสืบไป นายปิ่นสักก์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรัง และจังหวัดกระบี่ ให้เป็นรูปธรรม พร้อมกับประชุมหารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และกำหนดแนวทางการจัดการในรายละเอียดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชุมชน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเผยแพร่ข่าวสารองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหญ้าทะเล สู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกระดับ เมื่อประสานการดำเนินการในระยะสั้นแล้ว กรมฯ จะรีบกำหนดนโยบาย หรือมาตรการฟื้นฟูหญ้าทะเลอย่างถาวร เพื่อให้หญ้าทะเลสามารถฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ รวมถึงการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นรายพื้นที่ ซึ่งจะมีการศึกษาเพื่อกำหนดเขตเขตรักษาพืชพันธุ์ ออกจากเขตการใช้ประโยชน์เช่นเขตอนุญาตสำหรับกิจกรรมประมงพื้นบ้าน รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ การฟื้นฟูหญ้าทะเล ที่สำคัญคือจะมีแนวทางการอนุรักษ์พะยูน สร้างกลุ่ม และขยายเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก กับชุมชน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มการลาดตระเวนคุ้มครองเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ในการเฝ้าระวังพะยูน และแหล่งที่อยู่อาศัย และลดผลกระทบจากอุบัติเหตุทางทะเลต่อพะยูน ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญที่ให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว.
“พัชรวาท” เคาะ ๓ มาตรการ แก้ "หญ้าทะเล" เสื่อมโทรม กระทบสัตว์ทะเลหายาก
Related posts