Sunday, 22 December 2024

ก้าวไกล ชงยกเลิกคำสั่ง คสช. ปลดล็อกจัดสอบท้องถิ่น หลัง ๖ ปีพิสูจน์แล้วแก้ทุจริตไม่ได้

“วรภพ วิริยะโรจน์” สส.ก้าวไกล เสนอกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช. ปลดล็อกท้องถิ่นจัดสอบคัดเลือกบุคลากร ชี้ ๖ ปี พิสูจน์แล้ว หลังรวบอำนาจไว้ส่วนกลาง แก้ทุจริตไม่ได้ ทำท้องถิ่นขาดแคลนข้าราชการกว่า ๖,๐๐๐ ตำแหน่ง วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นรวม ๔ ฉบับ โดยในส่วนพรรคก้าวไกล นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ เรื่องการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐นายวรภพ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างฯ คือ การคืนอำนาจการสอบคัดเลือกบุคลากรท้องถิ่นกลับไปที่ท้องถิ่น เนื่องจากคำสั่ง คสช. ที่ ๘/๒๕๖๐ ชัดเจนว่าคือการรวบอำนาจการคัดเลือกบุคลากรของท้องถิ่น จากท้องถิ่นมาสู่ส่วนกลาง โดยให้เหตุผลข้ออ้างว่าเมื่อท้องถิ่นไปจัดสอบแข่งขันคัดเลือกพนักงานท้องถิ่นเองแล้ว มีการทุจริตจำนวนมากแต่เมื่อมีการรวบอำนาจมาที่ส่วนกลางเป็นเวลา ๖ ปี ก็พิสูจน์แล้วเช่นกันว่าสร้างปัญหาที่ไม่แตกต่างกัน เพราะปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในการสอบแข่งขันคัดเลือกนั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าท้องถิ่นเป็นคนทำหรือส่วนกลางเป็นคนทำ แต่อยู่ที่มาตรฐานในการจัดสอบแข่งขัน ว่ามีความโปร่งใส และตรวจสอบได้อย่างชัดเจนหรือไม่ เพื่อให้ข้าราชการท้องถิ่นสามารถเติบโตก้าวหน้า บรรจุข้าราชการ ชดเชยทดแทนตำแหน่งที่หายไปได้อีกปัญหาหนึ่งเมื่อมีการรวบอำนาจมาที่ส่วนกลางแล้ว ก็คือตำแหน่งข้าราชการ และบุคลากรส่วนท้องถิ่นที่ขาดแคลนไปในปัจจุบันกว่า ๖,๐๐๐ ตำแหน่ง เนื่องจากเดิมเมื่อท้องถิ่นเป็นคนจัดสอบเอง ส่วนใหญ่จัดกันปีละ ๔ ครั้ง แต่พอรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางกลายเป็นว่าจัดสอบ ๒ ปีครั้ง นี่คือต้นตอของปัญหาที่ว่าทำไมพนักงานท้องถิ่นจำนวนมาก ยังเป็นรักษาการ-รอการบรรจุอีกจำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายก็จะกระทบต่อการบริการสาธารณะให้กับพี่น้องประชาชนดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะผลักดันไปสู่การกระจายอำนาจมากขึ้น ด้วยการคืนอำนาจการคัดเลือก และการสอบแข่งขันบุคลากรท้องถิ่นกลับไปที่ท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง นี่คือสาระสำคัญที่ตนคิดว่าทุกพรรคการเมืองที่ยื่นกฎหมายเข้ามาในวันนี้เห็นตรงกัน ว่าต้องมีการปลดล็อก ยกเลิกคำสั่ง คสช. ทั้งนี้ แต่ละร่างที่ยื่นมา อาจมีรายละเอียดแตกต่างบ้าง เช่น เรื่องการแก้ไขร่างระเบียบบริหารงานบุคคลข้าราชการส่วนท้องถิ่น มาตรา ๑๓ (๖) ที่มีการเพิ่มเติมให้อำนาจในการสอบแข่งขันคัดเลือกบุคลากรท้องถิ่น เป็นอำนาจของคณะกรรมการจังหวัดแทนที่ท้องถิ่นเลยซึ่งประเด็นนี้เป็นรายละเอียดที่พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย และเห็นว่าการคืนอำนาจกลับไปท้องถิ่นเลยจะทำให้มีความยืดหยุ่น และเหมาะสมมากกว่า และยึดหลักการกระจายอำนาจความเป็นอิสระของท้องถิ่นได้ดีกว่า เพราะท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความพร้อมแตกต่างกัน มีทั้งท้องถิ่นขนาดขนาดใหญ่ และท้องถิ่นที่มีศักยภาพ สามารถจัดสอบแข่งขันคัดเลือกให้จบเสร็จสิ้นภายในตัวท้องถิ่นได้เอง และเช่นเดียวกัน มีท้องถิ่นอีกจำนวนมากที่มีขนาดเล็กที่จะต้องมีการรวมกลุ่มจัดสอบเพื่อความประหยัดของขนาดดังนั้น การคืนอำนาจกลับมาที่ท้องถิ่นโดยตรงให้ท้องถิ่นเป็นคนตัดสินใจว่าตัวเองมีศักยภาพจัดสอบได้เองหรือไม่ ย่อมดีกว่าการกำหนดล็อกไว้ใน พ.ร.บ. เลย ว่าให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการจังหวัดในการจัดสอบแข่งขัน หรือแม้แต่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน ตามกฎหมายเดิมก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการกลางที่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ ให้คณะกรรมการจังหวัดเป็นผู้จัดสอบคัดเลือกไปพลางก่อน จนกระทั่งมีมาตรฐานที่มั่นใจว่าให้ท้องถิ่นจัดสอบด้วยตัวเองได้.