Saturday, 21 September 2024

“ภูมิธรรม” ร่ายยาวตอบกระทู้สดก้าวไกล ปมเสรีภาพสื่อ ยัน รัฐบาลไม่คุกคาม-แทรกแซง

“ภคมน” สส.ก้าวไกล ตั้งกระทู้สดถามปมเสรีภาพสื่อ หลังล่าสุดถูกจับ ๒ คน “ภูมิธรรม” ร่ายยาวแจง ยืนยัน รัฐบาลให้ความสำคัญ ย้ำ ไม่เคยคุกคาม-แทรกแซง แต่ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมาย ตอกกลับ อย่าหมกมุ่นกับสิ่งที่เคยเกิดเมื่อเวลาประมาณ ๑๑.๕๕ น. วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เข้าสู่กระทู้ถามสดด้วยวาจาของ น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถาม โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมาย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบกระทู้ถามน.ส.ภคมน เริ่มตั้งกระทู้ถามถึงเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยย้อนไปตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ที่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา มีการละเมิดเสรีภาพสื่อมวลชนหลายรูปแบบ ทั้งการใช้กำลัง การเซนเซอร์ การแทรกแซงการทำงาน รวมถึงการฟ้องปิดปากสื่อ กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ มีการจับกุมผู้สื่อข่าวและช่างภาพ ตามหมายจับศาลอาญา จากกิจกรรมของผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งที่พ่นสีลงบนกำแพงวัดพระแก้วเมื่อช่วงมีนาคม ๒๕๖๖ โดยหมายจับเชื่อมโยงว่าสื่อมวลชนถ่ายภาพกิจกรรมดังกล่าว เป็นการกระทำร่วมสนับสนุนผู้กระทำผิดในคดีอาญาทั้งนี้ รัฐบาล โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย ควรให้ความเคารพและคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ในการจำกัดหรือระงับเสรีภาพ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะการตั้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี ต้องไม่สร้างข้อจำกัด หรือก่อให้เกิดความหวาดวิตกในการนำเสนอข่าวต่อสาธารณะ นอกจากไม่สมควรมีใครถูกฟ้องปิดปากแล้ว และขอตั้งคำถามถึงการดำเนินการที่ข้ามขั้นตอน ส่งหมายจับโดยไม่มีการส่งหมายเรียกมาก่อน เข้าใจว่าเป็นเรื่องในรัฐบาลที่แล้ว แต่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ข้ามขั้นตอนได้อย่างไร และจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร โดยเฉพาะกับคดีฟ้องปิดปาก หากตอบไม่ได้ จะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ และที่สำคัญ นี่คือการส่งสัญญาณเตือนสื่อมวลชนเพื่อสร้างความหวาดกลัวต่อการทำหน้าที่หรือไม่ นายภูมิธรรม ตอบว่า ได้ฟังคำถามแล้วรู้ถึงความห่วงใยที่มีต่อสื่อมวลชน แต่ยืนยันว่ารัฐบาลนี้เห็นเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ และเราก็ห่วงใยในสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทุกอย่างที่เกิดหากพูดหลักการไม่ตอบโจทย์ รัฐบาลและฝ่ายค้านก็เห็นไม่ต่างกัน แต่ต้องไปดูรูปธรรมที่เกิด กระบวนการทั้งหมดเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมดำเนินตามสิ่งที่เกิดขึ้น อีกทั้งการที่ผู้ตั้งกระทู้เกริ่นยาวไปจะสร้างความไม่เข้าใจ กลายเป็นการกระทำของรัฐบาลนี้ ยังดีที่พูดในสุดท้ายว่าเป็นของรัฐบาลเก่า ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลนี้ “จริงๆ ควรจะเข้ามาสู่รัฐบาลนี้เลยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง ถ้าไปโยงแบบนั้น ทำเหมือนกับว่ารัฐบาลนี้ได้เห็นพ้องต้องกันและทำมาตลอด อยากเรียนว่า ไม่อยากให้ใช้วาทกรรมแบบนี้ หรือการใช้เหตุผลแวดล้อมเหล่านี้มาคุยและมาหาทางแก้ปัญหากับรัฐบาลปัจจุบัน”ก่อนชี้แจงต่อไปว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และมาจากการที่พรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งวุฒิสภา ให้ความไว้วางใจและโหวตให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี นี่เป็นประชาธิปไตยระบบรัฐสภาโดยแท้ และหัวใจของประชาธิปไตยคือเสรีภาพและหลักการถ่วงดุลอำนาจ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ อำนาจการถ่วงดุลจากเสียงของประชาชนโดยตรง และเสียงของประชาชนที่สะท้อนผ่านสื่อมวลชนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ เป็นงานของรัฐบาล ที่จะต้องปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชน ในฐานะเป็นอีกหนึ่งในการสร้างสมดุลอำนาจประชาธิปไตย ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยัน และคิดว่าเป็นสิ่งที่เราจะปฏิบัติอย่างเต็มที่ เราเห็นไม่ต่างกัน เรามาจากการเลือกตั้ง เราเห็นคุณค่าของการที่ประชาชนจะทำหน้าที่ในการถ่วงดุล อันนี้ก็ไม่ต่างกัน การใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ของประชาชน ก็ไม่ต่างกัน แต่สิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การใช้สิทธิเสรีภาพก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจไว้ ถ้ามีสิ่งใดล่วงเกินหรือละเมิด ก็ต้องให้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจะไม่ยืนยันหรือสรุปว่าเป็นอย่างไร เพราะคิดว่ากระบวนการยุติธรรมกำลังทำหน้าที่ เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่แล้ว มีการสืบสวนมาโดยตลอดจนกระทั่งมีหลักฐาน ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้โดยตรง เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกระบวนการที่สืบทราบและมีหลักฐาน ซึ่งจริงหรือไม่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ศาล และศาลอนุมัติดำเนินการให้ออกหมายจับได้ เพราะฉะนั้น เป็นไปตามกระบวนยุติธรรม และเชื่อว่ารัฐบาลปัจจุบันสนับสนุนตรงนี้อย่างเต็มที่“รัฐบาลชุดนี้อยู่ในอำนาจเพิ่งทำงานได้ ๕ เดือน อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วหลายครั้ง เป็นการทำงานโดยที่ไม่ได้มีงบประมาณอะไรมาทำตามโครงการที่ตัวเองอยากทำ ยังไม่ได้ใช้งบประมาณเกี่ยวกับการลงทุนเลย เราทำในโครงสร้างต่างๆ ที่สั่งสมมาจากความผิดในอดีต หรือปัญหาที่เกิดขึ้นทับถมมา เพราะฉะนั้น เรื่องที่ถามก็เป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการที่เราจะดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรุนแรง หรือวิกฤติทางเศรษฐกิจ เราก็กำลังทำ ซึ่งสังคมมีความเห็นแตกต่างกัน หลายเรื่องยังไม่สามารถทำได้ในปัจจุบัน เรื่องกระบวนการยุติธรรม ก็มีความเห็น กำลังเข้าไปดู เข้าไปวางรายละเอียดต่างๆ” พร้อมขอบคุณที่ให้ข้อคิดให้รัฐบาลได้ไปพิจารณาและรอบคอบยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจของรัฐบาลไม่มีทางเหนือกฎหมาย เพราะฉะนั้นในเมื่อกระบวนการทางกฎหมายกำลังทำ เราอย่าเพิ่งไปสรุปหรือด่วนสรุปว่าตรงนี้รัฐบาลปิดปาก หรือตรงนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ลองดูกระบวนการยุติธรรมก่อน เชื่อว่ารัฐบาลนี้ไม่ปล่อยให้อำนาจของประชาชนหรือเสรีภาพของประชาชนถูกคุกคาม ทุกสิ่งที่ใช้กฎหมายหรือการทำงาน ต้องคำนึงหัวใจของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แล้วก็ต้องคำนึงถึงหัวใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่างๆ ซึ่งอาจจะมีผิดบ้างถูกบ้างก็ว่ากันเป็นรายๆ ไปอย่าเหมารวมว่าเป็นระบบไปทั้งหมด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเกือบทุกท่าน ต่างก็เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ มากไปกว่านั้นยังมีเรื่องเฟกนิวส์ ใส่ร้ายป้ายสีทั้งตัวท่านนายกรัฐมนตรีและหลายๆ คน สิ่งเหล่านั้นบางครั้งบางเรื่องก็เข้าข่ายการคุกคาม แต่รัฐบาลยังไม่เคยมอบหมายใครไปฟ้องคนเหล่านั้น เชื่อมั่นในเสรีภาพแห่งการพูด และเชื่อมั่นในวิจารณญาณของคนในสังคม มั่นใจว่าความหลากหลายของเนื้อหาเหล่านี้ ท้ายที่สุดมันจะถูกคัดกรองด้วยตนเองจากวุฒิภาวะของสังคมและจากประชาชน จะมองเห็นได้ว่ากระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เป็นความผิดแบบไหน หรือใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ “กรณีของสื่อมวลชน ๒ รายจากสำนักข่าวประชาไท และสเปซบาร์ รัฐบาลก็เสียใจที่เรื่องนี้เกิดขึ้น แต่ต้องเรียนให้ทราบว่าหมายจับออกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ ทางตำรวจและฝ่ายความมั่นคงมีพยานหลักฐานที่ทำไว้ก่อนที่รัฐบาลเศรษฐาจะเข้ามา ดังนั้น กระบวนการออกหมายจับและกระบวนการดำเนินการจับกุมไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจที่รัฐบาลนี้จะเข้าไปก้าวก่ายได้ ท่านคงไม่สบายใจถ้ามีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้น และมีรัฐบาลนี้เข้าไปก้าวก่ายจัดการ หรือไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม”ขณะที่กรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗) ในเรื่องญัตติด่วนขบวนเสด็จ ก็กลายเป็นไวรัลไปหมด ไม่มีใครสบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตนเองถามทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเรื่องเมื่อวาน ถ้าดูเฉพาะฉาบฉวย สบายใจหรือที่อดีตหัวหน้าพรรคของท่านหรือหัวหน้าท่านไปเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับคนที่ก่อคดี ตนที่คุกคามขบวนเสด็จ โบราณเขาบอกรักวัวให้ถูกรักลูกให้ตี เรารักใครถ้าทำไม่ดีเราก็ต้องช่วยกันตักเตือนคะคาน เดี๋ยวนี้เขาใช้การพูดคุยให้ความรู้ ให้ความคิด สิ่งใดกฎหมายบังคับ สิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร “อยู่ๆ เรื่องนี้กลายมาเป็นโทษรัฐบาล ผมว่าฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างมีเหตุผล แทนที่จะไปพูดถึงบุคคลที่ได้ดำเนินการไปถูกผิดตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด เมื่อวานท่านกำลังเรียกร้องให้เคร่งครัดอยู่ดีๆ วันนี้ท่านบอกว่าเรากำลังใช้อำนาจไปคุกคาม หน้าที่ของรัฐบาลคือดำเนินการตามสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงและให้กระบวนการยุติธรรมเพื่ออำนวยความยุติธรรมกับทุกๆ คนที่เกี่ยวข้อง ท่านก็คงไม่สบายใจถ้าใครมากล่าวหาท่านโดยตรงว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ หรือว่าอยู่เบื้องหลังอะไรต่างๆ ใจเย็นๆ นะครับ ทุกอย่างว่ากันไปตามเหตุผล ว่าไปตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายไปสร้างเรื่องเท็จมาทำร้ายการแสดงออกของพี่น้องประชาชน อันนั้นเรามาคุยกัน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องดำเนินการแต่ขณะนี้ไม่ได้ถูกปิดกั้นการแสดงออก เพียงแต่การแสดงออกสมควรหรือไม่สมควร ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นการพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว หรือการบีบแตรไล่ขบวนเสด็จ ไปแทรกเข้าขบวนเสด็จ เหมือนกันทั้งหมด กฎหมายก็พยายามทำ แต่ก็พยายามให้ความนุ่มนวล จนหลายท่านอาจจะบอกว่าทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทำงานอย่างเคร่งครัด เหมือนกับที่มีการอภิปรายสนับสนุนเมื่อวานนี้ เมื่อเรื่องเกิดขึ้นเราพยายามอิงตามกระบวนการยุติธรรม แต่ท่านยังตั้งคำถาม ก็ฟังไว้เป็นอุทาหรณ์ ผมก็จะนำเรื่องนี้เสนอ ครม. พิจารณา แต่อยากให้ช่วยดูให้ครบถ้วนและอย่าเพิ่งด่วนสรุป อย่าเพิ่งใช้วาทกรรม” นายภูมิธรรม ยังชี้แจงต่อไปว่า ตนดูข่าวบางช่องทำถ่ายภาพสภาฯ และมีไฟลุกท่วมจอ ท่านอยากให้ความขัดแย้งกลับมาหรือ รัฐบาลนี้พยายามจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไปแล้ว และถ้าความขัดแย้งแบบใหม่เกิดขึ้นมา ท่านกำลังปลุกให้กระแสสังคมขึ้นมาชนหน้ากัน อยากเห็นเมืองไทยกลับไปสู่วังวนแบบเดิมหรือและขออย่าห่วง รัฐบาลนี้ยืนยัน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ผ่านทางสื่อมวลชน แต่ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือสื่อมวลชน รัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต้องรักษากฎกติกา สังคมถึงจะสงบสุข ทุกอย่างจะเดินไปได้ ส่วนกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น ถ้ามีจุดรั่วไหลหรือไม่สมบูรณ์เรามาช่วยกันแก้ปัญหา เชื่อว่าจากการที่นำเสนอคงทำให้ท่านสบายใจ ไม่ต้องห่วง รัฐบาลนี้ยังยืนยันคุ้มครองสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มที่ น.ส.ภคมน กล่าวต่อไปว่า ดีใจที่ นายภูมิธรรม ยังยืนยันในหลักการและเชื่อในเสรีภาพของประชาชน แต่ต้องตั้งสติเพราะวันนี้ไม่ได้พูดเรื่องขบวนเสด็จ แต่เรากำลังพูดเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน อย่าเพิ่งไปไกลมากกว่านั้น และต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าบ้านเราสื่อมวลชนไม่ได้เป็นอิสระจากทุนอย่างเด็ดขาดขนาดนั้น โดยเฉพาะธุรกิจสื่อมวลชนต้องพึ่งพาแหล่งทุนในการสนับสนุน ไม่มีทุนไหนที่พร้อมแบบรับความเสี่ยงโดยการทำให้รัฐไม่พอใจ ทำให้สื่อไม่มีอิสระมากพอ กรณีที่รัฐออกหมายจับทำให้ลดความน่าเชื่อถือของเขา และเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในยุครัฐบาลเผด็จการ“ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลนี้ปิดปากหรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการเช่นนี้เราจะแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น จะการันตีหรือมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมนี้เป็นไปตามขั้นตอน ทราบดีว่าเรื่องเกิดตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว รัฐสภาเป็นพื้นที่กว้างและปลอดภัยที่สุดของสังคมตอนนี้ที่เราจะหยิบยกมาพูดกัน และสิ่งที่รัฐต้องตระหนักอยู่เสมอคือ สื่อมวลชนไม่ใช่ PR หรือ IO (ไอโอ) ของรัฐ อย่าติดนิสัยของพวกเผด็จการ เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพ หยิบปากกาขึ้นมาบันทึกสถานการณ์ ข้อเท็จจริงออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ เพราะหน้าที่ที่สำคัญของสื่อคือการนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่ใช่การนำเสนอความเห็นเพื่อเทิดทูนและสร้างความราบรื่นให้แก่รัฐบาล แต่เป็นการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนความจริง ไม่ว่าความจริงนั้นจะมีประโยชน์ต่อฝ่ายไหนก็ตาม อยากเห็นภาพต่างจากรัฐบาลเผด็จการ”สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวยืนยันอีกครั้งว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนคือ เสรีภาพของประชาชน การผลักให้สื่อเป็นคู่ขัดแย้ง เท่ากับว่ากำลังเลือกที่จะยืนฝั่งตรงข้ามกับประชาชน แล้วใครจะเป็นหู เป็นตา เป็นปากแทนประชาชน หวังว่ารัฐบาลชุดนี้สลัดรอยต่อของรัฐบาลเผด็จการได้ แล้วคืนศักดิ์ศรี คืนเสรีภาพให้สื่อมวลชน อีกทั้งคาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะเปิดพื้นที่ตรงกลางให้กว้างที่สุด ให้คนที่เขาอยู่ตรงนี้ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิ อย่าตีตราหรือผลักไสให้ไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ดังนั้น คำถามคือรัฐบาลจะมีแนวทางส่งเสริมเสรีภาพสื่ออย่างไรไม่ให้ถูกละเมิดเสรีภาพในการเสนอ ไม่ให้ถูกเซนเซอร์ ไม่ให้ถูกฟ้องร้องแบบนี้ และรัฐบาลจากการันตีได้หรือไม่ว่าเหตุการณ์ลิดรอนเสรีภาพครั้งนี้จะเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือครั้งสุดท้ายของสื่อมวลชน จากนั้น นายภูมิธรรม ได้ลุกขึ้นตอบอีกครั้งว่า “อย่ากังวลใจ อย่าหมกมุ่นกับสิ่งที่เคยเกิด แล้วก็อย่าจินตนาการต่อเนื่องว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผมเรียนยืนยันครับว่า รัฐบาลนี้ให้ความเคารพต่อเสรีภาพประชาชน และโดยเฉพาะสื่อมวลชน เรายึดตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๓๕ ที่ถือว่าสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและข้อคิดเห็น เราส่งเสริมให้สื่อกำกับดูแลควบคุมกันเอง ผมอยากกราบเรียนว่าเรายึดถือตามรัฐธรรมนูญ”ทั้งนี้ ไม่อยากให้เอาเรื่องอดีตมาผูกพันกับปัจจุบันแล้วมาเสนอ ถ้าบอกว่ารัฐบาลนี้จะคุกคามสื่อ มีหลายรายการและหลายคอลัมนิสต์ที่พูดถึงรัฐบาลในทางที่ไม่ดีมากมาย แต่รัฐบาลนี้ไม่เคยเข้าไปแตะต้อง ถือเป็นเสรีภาพ เพราะฉะนั้นอยากให้ทำใจให้กว้าง ยืนยันว่าสื่อมวลชนทั้งหลายไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย เราคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแน่ แต่ต้องอยู่ในกรอบ แม้อาจเกินเลยไปบ้างแต่รัฐบาลนี้ก็ยังไม่เคยเข้าไปทำอะไร รัฐบาลนี้ยึดมั่นในเสรีภาพ และอย่าไปกังวลใจแทนสื่อมวลชน ๒ คนนั้น กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไป ถ้าถึงที่สุดแล้วหลักฐานออกมาว่ายังไม่เพียงพอ เราค่อยมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาดำเนินการไม่เหมาะ ตนมีโอกาสคุยเจ้าหน้าที่เขายืนยันว่ามีหลักฐานครบถ้วน แต่เราทั้งสองฝ่ายอย่าเพิ่งไปยืนข้างใคร รอหลักฐานก่อนแล้วค่อยมาว่ากันแต่ถ้าหลักฐานชัดก็ต้องเข้าใจ ต้องยอมรับว่ากระบวนการเป็นอย่างไร วันนี้เรายังไม่ได้สรุป ให้กระบวนการดำเนินการไป รัฐบาลนี้รู้ดีว่าสื่อไม่ใช่ PR และไม่ใช่ IO ของใคร ไปถามประชาชนดูว่าสื่อมวลชนวันนี้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และ IO ให้รัฐบาลมากน้อยแค่ไหน ดูได้ทุกช่อง เพราะฉะนั้นอย่าเอาเรื่องอย่างนี้มาบอกว่ารัฐบาลคุกคามสื่อ อยู่กับความเป็นจริง และคนที่จะตอบได้ดีที่สุดว่ารัฐบาลคุกคามสื่อ หรือว่าคนที่กล่าวหาพูดไม่ครบถ้วน โดยมีประโยชน์ที่ตัวเองอยากเชื่ออยากเห็นประชาชนคือคำตอบ  อย่างไรก็ตามเมื่อ น.ส.ภคมน ยืนยันว่า การคุยกันวันนี้เพื่อหลักการในอนาคต และความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากการตั้งคำถามหรือข้อสงสัย แต่เกิดขึ้นจากความรู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรม การแก้ปัญหานี้คือการตอบคำถามของความรู้สึกเหล่านั้นอย่างสิ้นสงสัย การกล่าวหาว่าเป็นวาทกรรม เป็นการปฏิเสธว่าปัญหาไม่มีอยู่จริง และไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาใด พร้อมฝากว่า อย่าให้ลูกผสมที่ผสมข้ามขั้วมา กลืนกินไปทั้งหมด นายภูมิธรรม ลุกตอบครั้งสุดท้ายว่า “ท่านก็ยังติดใจเรื่องการตั้งรัฐบาลอยู่ และไม่ได้เป็นรัฐบาลต่อ เลยติดใจเรื่องลูกผสม จริงๆ มาตามกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด สิ่งที่ท่านพูดผมคิดว่าหลักการเราไม่ต่างกัน รัฐบาลนี้ยืนยันอยู่แล้ว ปัญหาคือท่านมองว่ารัฐบาลนี้ไม่รับฟัง เอาสิ่งต่างๆ มาปกป้องตัวเอง และชี้หน้าคนอื่น ผมว่าทั้งหมดอยู่ที่ข้อเท็จจริง การปฏิบัติที่เป็นจริงอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่คนเห็น ท่านจะพูดวาทกรรมสวยหรูอย่างไร หรือท่านจะบอกว่าท่านเป็นสื่อมวลชนมาอย่างไรก็ตาม ผมว่าวันนี้เราเถียงกันเรื่องรูปธรรมที่เกิดขึ้น รัฐบาลยืนยันว่ายึดมั่นในรัฐธรรมนูญ ยึดมั่นการให้เสรีภาพพี่น้องประชาชน และยึดมั่นการเคารพเสรีภาพของสื่อ”ขณะเดียวกัน สิ่งที่แตกต่างกันวันนี้คือการมองรูปธรรม การมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับรูปธรรม ทุกกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความมั่นคง มันเป็นเรื่องที่ต้องเอาข้อเท็จจริงมาพูด ท่านบอกว่าเราทำให้มันเกิดความรุนแรงมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม เรื่องที่เกิดขึ้นมีอยู่ทั้งสองมุมมอง ถ้าท่านหยิบมาพูดแล้วมันเกินความเป็นจริง ก็กลายเป็นจุดชนวนให้ความขัดแย้งในสังคมขยายตัวมากขึ้น ไม่ว่าใครก็ตามที่ปลุกให้เกิดความรุนแรง ๒ ฝ่าย ล้วนแต่กำลังจะสร้างเงื่อนไขให้เกิดความวุ่นวาย ให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เศรษฐกิจประเทศล้มเหลวมาจนขนาดนี้ ต้องการหรือ อยากให้เข้าใจสิ่งนี้ และคิดว่าแม้ข้อมูลอาจจะเหมือนกันแต่ทัศนะอาจจะต่างกัน ท้ายที่สุด ประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่างๆ มีกระบวนการมาอย่างไร ท่านแสดงความเห็นบทบาทอย่างไร รัฐบาลทำอะไรทุกอย่างเป็นอย่างไร ประชาชนเป็นคำตอบ.