Thursday, 19 December 2024

"บิ๊กต่อ" ชงกระทรวงยุติธรรมปรับกฎหมายเด็ก ลดอายุทําผิดต้องได้รับโทษ

“บิ๊กต่อ” รับผลการศึกษาอายุผู้กระทำผิดอาญา พบแนวโน้มเด็กและเยาวชนก่อคดีอายุน้อยลง เตรียมเสนอแก้กฎหมาย ป.อาญามาตรา ๗๔ จากเดิมกำหนดเด็กอายุกว่า ๑๐ ปีแต่ไม่เกิน ๑๕ ปีกระทำผิดไม่ต้องรับโทษ เป็นเด็กอายุกว่า ๑๐ ปีแต่ไม่เกิน ๑๔ ปีแทน ลดอายุลง ๑ ปี พร้อมส่งข้อเสนอให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ให้ตรงกับสภาพบริบทสังคมหลังจากเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มก่อคดีอาชญากรรมรุนแรงเพิ่มมากขึ้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ประกาศหาแนวทางเสนอแก้กฎหมายลดอายุเยาวชนถูกดำเนินคดีอาญาตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น ความคืบหน้าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา ๑๓.๐๐ น. วันที่ ๑๕ ก.พ. พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เผยว่าสืบเนื่องจากกรณีเด็กชายวัย ๑๔ ปี ก่อเหตุยิงบุคคลในศูนย์การค้าและเหตุกลุ่มเยาวชนรุมทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายในพื้นที่ สภ.อรัญประเทศ การก่อเหตุลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดความสูญเสียต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาอายุการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนห้วงปี พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๖ พบว่า“๑.กลุ่มคดีอุกฉกรรจ์ ห้วงอายุ ๑๐-๑๘ ปีรวมทั้งสิ้น ๑,๖๔๕ คดี อายุที่กระทำความผิดสูงสุดได้แก่ อายุ ๑๗ ปีจำนวน ๔๑๘ คดี อายุ ๑๘ ปีจำนวน ๔๑๖ คดี และอายุ ๑๖ ปีจำนวน ๓๖๗ คดีตามลำดับ นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๖๕ เป็นต้นมา เริ่มพบว่า ผู้ก่อเหตุในห้วงอายุ ๑๐-๑๘ ปีมีแนวโน้มสูงขึ้น คดีที่ก่อเหตุสูงสุดได้แก่ฆ่าผู้อื่นจำนวน ๙๕๔ คดี ปล้นทรัพย์จำนวน ๑๐๙ คดี และชิงทรัพย์จำนวน ๙๗ คดีตามลำดับ” โฆษก ตำรวจกล่าวพล.ต.ท.อาชยน กล่าวต่อว่า ๒.กลุ่มคดีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย รวมทั้งสิ้น ๔,๓๑๘ คดี อายุที่กระทำผิดสูงสุดได้แก่ อายุ ๑๘ ปีจำนวน ๑,๓๙๘ คดี อายุ ๑๗ ปีจำนวน ๑,๐๒๕ คดี และอายุ ๑๖ ปีจำนวน ๘๐๕ คดีตามลำดับ โดยพบว่ามีผู้กระทำความผิดที่อายุต่ำกว่า ๑๐ ปีจำนวน ๒๐ คดี และพบว่าห้วงอายุ ๑๐-๑๘ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นต้นมาเริ่มสูงขึ้น เป็นความผิดทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายสูงถึง ๑,๘๖๐ คดี“๓.กลุ่มคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์รวมทั้งสิ้น ๕,๙๐๓ คดี อายุที่กระทำความผิดสูงสุดได้แก่ อายุ ๑๘ ปีจำนวน ๑,๘๒๐ คดี อายุ ๑๗ ปีจำนวน ๑,๑๓๗ คดี และอายุ ๑๖ ปีจำนวน ๙๖๐ คดี ส่วนผู้กระทำความผิดอายุต่ำกว่า ๑๐ ปีจำนวน ๒๙ คดี และพบว่าห้วงอายุ ๑๐-๑๘ ปีเริ่มกระทำความผิดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๒ เป็นความผิดลักทรัพย์ ๒,๙๗๒ คดี ฉ้อโกง ๙๒๑ คดี และวิ่งราวทรัพย์ ๕๗ คดี จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนในคดีอุกฉกรรจ์ ชีวิต หรือร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มีแนวโน้มสูงขึ้นและเกณฑ์ผู้กระทำความผิดอายุน้อยลง” โฆษก ตำรวจกล่าวพล.ต.ท.อาชยน กล่าวต่อว่า แม้ข้อมูลทางการวิจัยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชนยึดหลักมุ่งคุ้มครองเด็กและเยาวชนเน้นการสงเคราะห์ บำบัดฟื้นฟู แก้ไข เยียวยา คำนึงถึงอนาคตเด็กและเยาวชน แต่การพิจารณากำหนดโทษสามารถกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับพฤติการณ์ได้ เช่น ความผิดร้ายแรง กระทำความผิดซ้ำ อาจกำหนดโทษจำคุกเพื่อให้หลาบจำได้ แนวทางการดำเนินการของต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษกำหนดอายุเด็กไม่เกิน ๑๐ ปี ไม่ต้องรับโทษเกณฑ์อายุน้อยกว่าประเทศไทยที่กำหนดอายุไม่เกิน ๑๒ ปี ส่วนในเยอรมนี แคนาดา และฝรั่งเศสจะพิจารณาเกณฑ์อายุและประเภทความผิดร้ายแรงประกอบกัน ทั้งนี้ข้อเสนอแนะทั่วไปของสหประชาชาติ (ฉบับที่ ๑๐) ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กำหนด เกณฑ์อายุขั้นต่ำที่บุคคลจะมีความรับผิดอาญาไม่ควรต่ำกว่า ๑๒ ปี และบุคคลอายุ ๑๘ ปี เป็นผู้บรรลุนิติภาวะโฆษก ตำรวจกล่าวด้วยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่าสังคมไทยควรพิจารณากำหนดเกณฑ์อายุเด็กหรือเยาวชนขึ้นใหม่ เพื่อสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเสนอแก้ไขกฎหมาย ป.อาญามาตรา ๗๔ จากเดิมกำหนดเด็กอายุกว่า ๑๐ ปี แต่ไม่เกิน ๑๕ ปี กระทำผิดไม่ต้องรับโทษเป็นเด็กอายุกว่า ๑๐ ปี แต่ไม่เกิน ๑๔ ปีแทน รวมทั้งพิจารณาบังคับใช้มาตรา ๙๗ วรรคสอง แห่ง พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว ๒๕๕๓ มาใช้มากขึ้นใจความว่าคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว ถ้าศาลพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าขณะกระทำผิดหรือระหว่างพิจารณา เด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดมีสภาพเช่นเดียวกับบุคคลอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไป ให้ศาลมีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ ข้อเสนอดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะรวบรวมเสนอกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้ตรงกับสภาพบริบทสังคมต่อไปอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่