Sunday, 22 December 2024

เด็กไม่เกิน ๑๔ ทำผิดไม่ต้องรับโทษ จี้บังคับใช้ ก.ม. เอาจริงเชือดพ่อแม่

16 Feb 2024
156

ประเทศไทยน่าจะถึงเวลาแล้วในการปรับแก้กฎหมายกำหนดโทษในคดีเด็ก เมื่อสำนักตำรวจแห่งชาติ เตรียมเสนอกระทรวงยุติธรรม ปรับแก้กฎหมายจากเดิมเด็กกระทำผิดอายุต่ำกว่า ๑๐ ปี แต่ไม่เกิน ๑๕ ปี ไม่ต้องรับโทษ มาเป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๐ ปี แต่ไม่เกิน ๑๔ ปี ไม่ต้องรับโทษ ให้ตรงกับสภาพบริบทสังคมในปัจจุบัน และเสนอแนวทางการพิจารณาคดี อาจให้มีโทษจำคุกในบางกรณีภายหลังเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มก่อคดีอาชญากรรมรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และจากกรณีเด็กชายวัย ๑๔ ปี ก่อเหตุยิงในห้างดังกลางกรุง จนมาเหตุแก๊งเยาวชน ๕ ทรชนในพื้นที่ จ.สระแก้ว รุมทำร้ายป้าบัวผันจนเสียชีวิต สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน ทำให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาอายุการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนในห้วงปี ๒๕๕๙-๒๕๖๖ จากข้อมูลพบว่าเด็กและเยาวชน อายุ ๑๐-๑๘ ปี ก่อคดีอุกฉกรรจ์ รวมทั้งสิ้น ๑,๖๔๕ คดี โดยอายุ ๑๗ ปี กระทำความผิดสูงสุด ๔๑๘ คดี อายุ ๑๘ ปี จำนวน ๔๑๖ คดี และอายุ ๑๖ ปี จำนวน ๓๖๗ คดี และตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ เริ่มพบว่า ผู้ก่อเหตุอายุ ๑๐-๑๘ ปีมีแนวโน้มสูงขึ้น คดีที่ก่อเหตุสูงสุดได้แก่ฆ่าผู้อื่น จำนวน ๙๕๔ คดี ปล้นทรัพย์จำนวน ๑๐๙ คดี และชิงทรัพย์จำนวน ๙๗ คดีนอกจากนั้นยังก่อคดีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย โดยตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เริ่มสูงขึ้น เป็นความผิดทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายสูงถึง ๑,๘๖๐ คดี รวมถึงคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มีแนวโน้มสูงขึ้น และเกณฑ์ผู้กระทำความผิดอายุน้อยลงพร้อมกับมีข้อเสนอให้พิจารณาบังคับใช้มาตรา ๙๗ วรรคสอง ของ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว ๒๕๕๓ ให้มากขึ้น โดยคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว ถ้าศาลพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าขณะกระทำผิดหรือระหว่างพิจารณา เด็กและเยาวชนกระทำความผิดมีสภาพเช่นเดียวกับบุคคลอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไป ให้ศาลมีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ เด็กโตเร็ว ความคิดอาจเท่าผู้ใหญ่ ก.ม.ควรรุนแรงมากขึ้นในมุมมองของ “ด็อกเตอร์ฑิตฐิตา ธิติธรรมพฤกษ์” นักอาชญาวิทยา ด้านพฤติกรรมอาชญากร ยอมรับว่าการลงโทษและตัวบทกฎหมายในการควบคุมพฤติกรรมเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด มาจากสํานักอาชญาวิทยากึ่งดั้งเดิม (Neo-classical) มองว่าคนกระทำผิดอาจเกิดจากบางปัจจัย เช่น อายุ และเพศ ควรจะต้องพิจารณาด้วย ทำให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้กับเด็กและเยาวชนในเรื่องอายุ ให้มีความแตกต่างจากผู้ใหญ่การเตรียมจะปรับอายุเด็กกระทำผิดจากไม่เกิน ๑๕ ปี ไม่ต้องรับโทษ มาเป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๔ ปี ไม่ต้องรับโทษ ก็ยังใช้แนวคิดนี้อยู่ แต่ปัจจุบันเด็กเติบโตอย่างรวดเร็ว มีพัฒนาการมากขึ้น และพัฒนาการด้านเทคโนโลยี ได้ทำให้เด็กเรียนรู้มากขึ้น น่าจะใช้ความคิดและเหตุผลได้มากยิ่งขึ้น แม้มีอายุน้อยก็ตาม จนความคิดความอ่านอาจเทียบเท่าผู้ใหญ่ ซึ่งก็เห็นด้วยในการป้องกันสังคมในรูปแบบยับยั้งโดยทั่วไป ด้วยการออกกฎหมายที่รุนแรงมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด“ทั้งนี้ทั้งนั้นการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องเข้มข้นด้วย และในฐานะนักอาชญาวิทยา เห็นว่าควรมีบทลงโทษผู้ปกครองอย่างจริงจังเสียที แม้มีกฎหมายแต่จะบังคับใช้มากน้อยแค่ไหน อย่างสหรัฐฯ เอาผิดผู้ปกครองด้วย ถ้าดูแลเด็กไม่ดี ก็ให้รัฐดูแล ทำในลักษณะบ้านกึ่งวิถี ไม่ใช้รูปแบบสถานพินิจ แต่เป็นบ้านที่มีกฎระเบียบวินัย ซึ่งรัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จะให้ผู้ปกครองเป็นคนจ่ายทั้งหมด” ต้องลงโทษผู้ปกครองไปด้วย อย่าจบแค่ทางแพ่งด้านบทลงโทษเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด ควรต้องหนักขึ้น โดยขึ้นอยู่กับพฤติการณ์หากกระทำผิดรุนแรงเสมือนผู้ใหญ่ หรือก่อความรุนแรงจนสร้างความหวาดกลัวให้กับคนในสังคม และประเทศไทยอาจล่าช้าในการปรับแก้กฎหมาย เพราะต่างประเทศมีการเขียนกฎหมายที่รัดกุมมากกว่า แต่ประเทศไทยเพิ่งมาเริ่มจากเหตุเยาวชนกราดยิงในห้างส่วนต่างประเทศเกิดเหตุเกือบทุกวัน และเกรงว่าในอนาคตจะเกิดเหตุกราดยิงในไทยมากขึ้น อาจลุกลามในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา ซึ่งควรต้องมีสถานีตำรวจสาขาย่อย ไม่ใช่มีแต่ รปภ. ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที และควรปรับเรื่องนโยบายมาตรการต่างๆ และสภาพแวดล้อม ให้มีความพร้อมรับมือหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น หรืออย่างกรณีกราดยิงหนองบัวลำภู กว่าตำรวจจะไปถึงที่เกิดเหตุก็ล่าช้าไปแล้ว “ไทยไม่บังคับใช้อย่างจริงจังในการลงโทษผู้ปกครองไปด้วย พอสุดท้ายขึ้นศาลเยาวชน ก็จบด้วยค่าเสียหายทางแพ่งเท่านั้น ทางพ่อแม่ก็จ่ายแทน หรือน่าจะมีมาตรการอื่น เช่น การปรับพ่อแม่ผู้ปกครองทางอาญา หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนทางแพ่งก็จ่ายผู้เสียหายไป และพฤติการณ์การกระทำของเด็กอายุ ๑๔ ก็ไม่ต่างกับเด็กอายุ ๑๕ ปี เหมือนไม่ได้แก้ จนดูว่าไม่ต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดควรมีมาตรการอย่างไรจะจัดการกับผู้ปกครองให้หนัก ไม่ดูแลพฤติกรรมของลูกหลาน เพราะทุกวันนี้เป็นสังคมก้มหน้า ให้ลูกหลานดูแต่แท็บเล็ต มือถือ แตกต่างกับในอดีตที่พ่อแม่มีเวลาให้กับลูกๆ มากกว่า”.