Thursday, 19 December 2024

ปล่อยตัว "ทักษิณ" เที่ยงคืน ๑๘ กุมภาพันธ์นี้ ผบ.เรือนจำ นำเอกสารพักโทษให้เซ็น

17 Feb 2024
118

ราชทัณฑ์ ส่ง ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นผู้นำเอกสารพักโทษ “ทักษิณ ชินวัตร” หลัง “รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม” อนุมัติปล่อยตัว ซึ่งสามารถเดินทางกลับเที่ยงคืนของวันที่ ๑๘ ก.พ. หรืออาจจะกลับ ๖ โมงเช้าเมื่อวันที่ ๑๗ ก.พ. ๖๗ ผู้สื่อข่าวรายงาน ขั้นตอนการปล่อยตัว นายทักษิณ ชินวัตร ว่า กรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อาจเป็น ผบ.เรือนจำฯ หรือเจ้าพนักงานเรือนจำที่ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้เดินทางไปพบผู้ได้รับการพักโทษ พร้อมกับนำเอาเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพักโทษให้เจ้าตัวเซ็นลายมือชื่อ ด้วยนายทักษิณ ถือว่าครบวันบริหารโทษและได้เข้าสู่กระบวนการพักโทษแล้ว อีกทั้ง รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม ก็อนุมัติรับทราบให้ปล่อยตัวพักโทษ เมื่อถึงวันพักโทษ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถคุมตัวไว้ได้อีกต่อไป ส่วนกระบวนการเกี่ยวกับการคุมประพฤติระหว่างพักโทษ เช่น ข้อกำหนด ข้อห้ามการกระทำ หรือเงื่อนไขการรายงานตัวต่างๆ หลังจากนี้ก็ค่อยดำเนินการในภายหลังได้ โดยเจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะมีเวลา ๓ วันในการเดินทางเข้าพบผู้ได้รับการพักโทษ นับแต่วันที่ได้พักโทษ สำหรับกรณีของนายทักษิณ หากวันพักโทษที่จะต้องปล่อยตัวไปตรงกับวันหยุด ตามหลักการแล้ว ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะมอบหมายให้พัศดีเวรทำหน้าที่เดินทางไปยังสถานที่คุมขัง ก็คือ รพ.ตำรวจ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนปล่อยตัวผู้ได้รับการพักโทษ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า ผบ.เรือนจำฯ อาจจะเดินทางไปด้วยตัวเอง ส่วนกระบวนการปล่อยตัวนายทักษิณ เมื่อได้รับการพักโทษตามกฎหมายแล้ว เวลาเที่ยงคืนที่กำลังเข้าสู่วันพักโทษ หรือ เวลา ๐๐.๐๐ น. วันที่ ๑๘ ก.พ. ก็ถือว่าเจ้าตัวได้รับการพักโทษแล้ว แต่ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ไม่เคยมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังยามวิกาล และการปล่อยตัวจะต้องมีขั้นตอนของเอกสารต่างๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขัง และส่วนใหญ่จะทำในเวลาทำการปกติ เช่น เวลา ๐๖.๐๐ น. หรือเวลา ๐๘.๐๐ น. หรือบางเรือนจำอาจปล่อยตัวในช่วงเวลา ๑๓.๐๐ น. ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละเรือนจำ จึงมีความเป็นไปได้ว่าภายในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ก.พ. นายทักษิณจะได้รับการปล่อยตัวพักโทษ แต่ถึงอย่างไรก็มีความเป็นไปได้อีกว่าแม้ได้รับการพักโทษแล้ว แต่นายทักษิณอาจจะนอนพักรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ ได้อีก หากสุขภาพยังไม่เอื้ออำนวยมากเพียงพอในการขยับหรือเคลื่อนย้าย จึงต้องดูในส่วนของรายละเอียดการพูดคุยระหว่างแพทย์และผู้ป่วยประกอบด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ครอบครัวหรือญาติก็จำเป็นต้องรับฟังเช่นเดียวกัน