Monday, 18 November 2024

ฝ่าทางตันอาชีวะตีกัน ย้ายที่ลงโทษมิใช่ทางแก้

17 Feb 2024
72

ปัญหาร้อนเรื้อรังยังรุนแรง “เด็กอาชีวะต่างสถาบันยกพวกตีกัน” สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนส่วนใหญ่มานาน แถม “ผู้บริสุทธิ์” ต้องตกเป็นเหยื่อของความคึกคะนองจนถูกลูกหลงสังเวยชีวิตไปทุกปีแม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกระเบียบบังคับสถาบันการศึกษาล้อมคอกอยู่ตลอด แต่ยังไม่เป็นผลคงเปิดศึกแห่งศักดิ์ศรีไล่ตีกันนองเลือดเป็นประจำดังเดิม ทำให้ต้องมาถอดบทเรียนความรุนแรงนี้โดย ด็อกเตอร์สุพัทธ แสนแจ่มใส นักจิตวิทยาเด็กและอาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล บอกว่าเด็กอาชีวะยกพวกตีกันนั้น มักอยู่ในช่วง “วัยรุ่นติดเพื่อน” เป็นช่วงวัยเปลี่ยนด้านร่างกาย ฮอร์โมน ชอบอยากลองสิ่งแปลกใหม่ ทำในสิ่งที่ท้าทายรู้สึกว่าตนเองแน่ เก่ง เหนือกว่าใครให้เป็นที่ยอมรับ เมื่อเข้าเรียนในสถาบันการศึกษามักมีค่านิยมปลูกฝังความเชื่อ เพื่อให้รู้สึกรักศรัทธาสถาบันที่ต้องนับถือกลายเป็นการหล่อหลอมใจเมื่อความเชื่อถูกปลูกฝังจากรุ่นพี่บวกกับต้องการเป็นที่ยอมรับ มักนำไปสู่การทำร้ายเด็กช่างชิงสิ่งสัญลักษณ์ของสถาบันอื่น เพื่อเป็นผลงานให้ถูกยอมรับจากรุ่นพี่และเพื่อนมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดตามมา เช่นเดียวกันเปรียบเทียบกับ “สถาบันเน้นวิชาการสอบเข้าเรียนแพทย์” อันเป็นค่านิยมที่มุ่งเรียนอย่างเดียว บางคนต้องเสียเงินติวหนังสือสู่การแข่งขันทางวิชาการ เช่น โอลิมปิกวิชาการระดับชาติ เพื่อสร้างโปรไฟล์โดดเด่นให้ได้มาซึ่งการยอมรับในสถาบัน หรือบุคคลอื่น สิ่งนี้ก็เป็นค่านิยมของสถาบันที่ปลูกฝังขึ้นมาแบบหนึ่งเช่นกันฉะนั้นแล้ว “นักเรียนยกพวกตีกัน” มักเป็นพฤติกรรมตามวัย และค่านิยมถูกสร้างให้รักเชื่อศรัทธาในสถาบันมากกว่าเรื่องอื่นเท่านั้น เพราะเด็กอาชีวะหลายคนสมัยเรียนทั้งเกเร ก้าวร้าวยกพวกตีกันประจำ แต่เมื่อเรียนจบแล้วกลายเป็นผู้ใหญ่สามารถประกอบอาชีพหาเงินเลี้ยงดูรับผิดชอบครอบครัวอย่างสมบูรณ์แบบเป็นปกติด้วยซ้ำ ด็อกเตอร์สุพัทธ แสนแจ่มใสยิ่งกว่านั้น “ก็ไม่ได้มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับครอบครัว” แต่กลับเลี้ยงลูกเป็นเด็กดีมีระเบียบวินัยเคารพกฎหมายปกติ และบางคนส่งเสียลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศประสบความสำเร็จมากมายแน่นอนว่า “เด็กบางคนก็เก็บกด” ด้วยเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมาก่อน หรือต้องอยู่ในพื้นที่ที่ใช้ความรุนแรง เช่น ครอบครัว ชุมชน เจอการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายประจำ ทำให้เกิดจดจำ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กถูกทอดทิ้งไม่ได้รับความสนใจ “ต้องหันหาโซเชียล และติดเกม” อันมีเนื้อของการใช้ความรุนแรงไม่เหมาะสมสิ่งนี้ล้วนเป็นปัจจัยต้นทุนสะสมในตัวกลายเป็น “ความคุ้นชินการใช้ความรุนแรง” เริ่มแสดงออกการทำผิดระเบียบโรงเรียนสู่แนวโน้มความก้าวร้าว เมื่อถูกกระตุ้นอย่างเพื่อนชวนก็อาจจะนำไปสู่การก่อเหตุยกพวกตีกันทำร้ายร่างกายอื่นได้ เพราะเป็นวิธีเรียกร้องความสนใจ และรู้สึกตัวเองว่าเด่นดังให้เพื่อนเห็นความสามารถยอมรับนั้นตามที่เคยเจอมา “เด็กบางคนมีโอกาสเห็นหน้าพ่อแม่” ตอนฝ่ายปกครองโรงเรียนเชิญผู้ปกครองเข้าพบด้วยซ้ำ “แต่เด็กกลุ่มนี้ก็เป็นเพียงส่วนน้อย” ที่เก็บกดตั้งใจใช้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ระบายพฤติกรรมตัวเอง เพราะที่ผ่านมา “เด็กหลายคนอยู่ในครอบครัวมีปัญหา” แต่กลับสามารถแข่งขันทางวิชาชีพได้รับรางวัลก็มี ล่าสุดเด็กอาชีวะแข่งขันแกะสลักน้ำแข็งนานาชาติที่จีน คว้ารางวัลชนะเลิศสร้างชื่อระดับโลก ดังนั้นปัญหาอาชีวะตีกันเกิดจากค่านิยมปลูกฝังความเชื่อของสถาบันสร้างขึ้น ถ้าเรียนจบออกไปค่านิยมนั้นก็จะเจือจางหายไปประเด็นทางออกปัญหาเท่าที่เจอ “สถาบันที่นักเรียนชอบก่อเหตุบ่อยๆ” ในอดีตหลายแห่งต้องเปลี่ยนชื่อ และปรับการเรียนการสอนเน้นหลักสูตรเชิงพาณิชยกรรมบริหารธุรกิจไปเลยด้วยซ้ำ “เพื่อเปลี่ยนภาพพจน์ค่านิยมใหม่” แล้วส่วนใหญ่สามารถตัดปัญหานักเรียนยกพวกตีกันออกไปได้สำเร็จด้วยซ้ำย้ำตามหลักจิตวิทยา “มาตรการลงโทษไล่ออก” มักไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดี เพราะเป็นการผลักให้ออกจากระบบการศึกษา “เด็กจะไม่ได้รับการวินิจฉัยปัญหาที่ต้องรับการดูแลพิเศษใดๆ” ทั้งยังเป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับเขาทำให้ต้องออกไปรวมกลุ่มเพื่อนใหม่ และไร้การควบคุมหาพื้นที่ที่จะทำให้ถูกยอมรับในสังคมอีกเช่นเดิมดังนั้นการแก้ปัญหานักเรียนตีกันไม่สามารถจัดการด้วย “การลงโทษไล่ออกเพื่อกำราบนักเรียนอย่างเดียว” แต่ควรใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย “เพื่อช่วยให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษา” ในการหาทางช่วยให้พวกเขาได้เห็นคุณค่าในตัวเอง และเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างมีเป้าหมายดีกว่าไล่ออกไปก่อเหตุความรุนแรงในสังคม ทว่ากรณี “เด็กก่อคดีรุนแรง” ปัจจุบันไม่อาจกำหนดอายุกับเยาวชนทำผิดคดีอาญาได้ ด้วยความเจริญเติบโตเปลี่ยนจากอดีต “เด็กหญิงประจำเดือนมาเร็วขึ้น” เป็นหนุ่มสาวความคิดความอ่านเป็นผู้ใหญ่ระดับหนึ่งเหตุนี้การลงโทษเด็กทำผิดคดีอาญาต้องวิเคราะห์เป็นรายๆ ด้วยประเมินการกระทำนั้นมีเจตนา มีความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท หรือทำเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อารมณ์ชั่ววูบ ก็ควรลงโทษตามพฤติการณ์นั้นถ้าเทียบกับต่างประเทศ “การป้องกัน และแก้ปัญหานักเรียนตีกัน” ในสถานศึกษาตั้งแต่อนุบาล-มหาวิทยาลัย “มักมีนักจิตวิทยาประจำ” ทำหน้าที่วิเคราะห์ความประพฤติ ดูแลสุขภาพจิตให้คำแนะนำนักเรียนไม่เท่านั้นยังทำหน้าที่ “คัดกรองนักเรียนใหม่” ตั้งแต่ประเมินความเสี่ยงการใช้ความรุนแรง เด็กอยู่ในครอบครัวถูกละเลย บกพร่องการควบคุมอารมณ์หรือไม่ หากเด็กมีอาการรุนแรงก็เข้าสู่การบำบัดรักษาให้ดีก่อนแต่สำหรับ “ประเทศไทย” กระบวนการเหล่านี้ยังไม่เห็นภาพว่า “มีนักจิตวิทยาประจำสถาบันศึกษาที่ชัดเจน” ส่วนใหญ่ใช้ครูแนะแนวทำหน้าที่นี้แทน เว้นโรงเรียนเอกชนที่มีเงินมากพอจ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก “หากทุกสถาบันมีนักจิตวิทยาประจำทำการคัดกรองเด็กเสี่ยงใช้ความรุนแรงก่อนเข้าเรียนตั้งแต่แรก เพื่อให้ทราบพฤติกรรมแต่ละคน หากเด็กมีแนวโน้มก้าวร้าวเสี่ยงใช้ความรุนแรงในโรงเรียนก็สามารถนำตัวมาส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ดูแลเป็นพิเศษได้ สิ่งนี้เป็นการป้องกันเหตุความรุนแรงในโรงเรียนไว้ก่อนได้ดีที่สุด” ด็อกเตอร์สุพัทธ ว่าเช่นเดียวกับ “ย้ายที่ตั้งแก้ปัญหานักเรียนยกพวกตีกัน” แม้จะย้ายสถานศึกษาออกห่างไกลเพียงใดก็ตาม “ค่านิยมความเป็นอัตลักษณ์ของสถาบันยังคงอยู่” แต่ด้วยผู้บริหาร หรือนักการเมืองอาจมีฐานคิดว่า “ย้ายที่ตั้งออกห่างอริต่างสถาบันแล้วจะดีขึ้น” แต่สุดท้ายแล้วเด็กจะตีกันเจอกันตรงไหนก็ก่อเหตุได้เหมือนเดิมยิ่งกว่านั้น “เด็กบางคนอาจตั้งใจต้องการเรียนสถาบันนั้น” แต่เมื่อย้ายที่ตั้งใหม่ก็อาจเปลี่ยนใจไม่อยากเรียนหนังสือไปเลย “ออกนอกระบบการศึกษา” กลายเป็นปัญหาทางสังคมตามมาอีก ดังนั้นการแก้ปัญหาควรฟังเสียงนักเรียน หรือเสียงสถาบันนั้น เพราะเขาจะรู้ถึงปัญหาดีที่จะสามารถนำพาไปสู่การแก้ไขได้ตรงจุดที่สุด อย่างไรก็ดีหากย้ายที่ตั้งแล้วเปลี่ยนชื่อสถาบัน และเปลี่ยนแนวการสอนเน้นเชิงพาณิชยกรรมบริหารธุรกิจก็อาจแก้ปัญหาได้ แต่ว่าเด็กบางส่วนประสงค์เรียนช่าง หรือวิศวกรจำเป็นต้องเลือกไปสถาบันอื่นแทนสุดท้ายย้ำว่า “นักเรียนอาชีวะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ” สามารถการันตีจากเด็กอาชีวะถูกยอมรับคุณภาพ และเป็นแรงงานที่ต้องการของต่างชาติจำนวนมาก ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องเปลี่ยนค่านิยมใหม่ให้ “รักสถาบันด้วยการสร้างชื่อเสียงเชิงบวก” ส่งเสริมให้มีนักเรียนเป็นต้นแบบไอดอลที่ดีให้รุ่นน้องรุ่นต่อไปโดยเฉพาะการส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวข้องกับวิชาการ “จัดประกวดการแข่งขันทั้งภายในสถาบัน และระหว่างสถาบัน” แล้วดึงนักเรียนกลุ่มเสี่ยงออกร่วมสร้างผลงานตามความถนัด และศักยภาพที่มี เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ และเห็นคุณค่าของตัวเอง เพื่อกระตุ้นให้ค้นพบศักยภาพ และความถนัดที่มีอยู่ในตัวนั้นทว่าเป็นไปได้ “สถานศึกษาทำ MOU กับสถานประกอบการยิ่งดี” เพื่อเป็นการการันตีให้เด็กเรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน “อันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้มีความฝัน” เพราะถ้าเด็กเห็นอนาคตเขาก็จะเรียนอย่างมีเป้าหมาย รู้จักการวางแผนชีวิต และสามารถยับยั้งชั่งใจใช้เวลาอยู่กับเรียนอย่างคุ้มค่าดีกว่าไปวิ่งไล่ตีกันนี่คือต้นตอสำคัญ “นักเรียนอาชีวะยกพวกตีกัน” เป็นปัญหาที่ต้องใช้ความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน โดยเฉพาะ “สถาบันการศึกษา” จะรู้ดีที่สุด ควรเป็นผู้หาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม