Tuesday, 21 January 2025

กู้เรือหลวงสุโขทัย ไทย สหรัฐ

โฆษกกองทัพเรือ เผยความร่วมมือไทย – สหรัฐฯ ในการกู้เรือสุโขทัยแบบจำกัด (Light Salvage) เริ่มปฏิบัติภารกิจ 22 กุมภาพันธ์ นี้

​ ​วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 พลเรือตรี วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือไทยและสหรัฐอเมริกา ในการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด(Light Salvage) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นี้ ซึ่งจะยังไม่ใช่การกู้เรือทั้งลำขึ้นมาจากน้ำ แต่จะเป็นการดำเนินการซึ่งประกอบด้วย การสำรวจหลักฐานใต้น้ำทั้งภายในและภายนอกตัวเรือเพื่อนำมาประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริงของกองทัพเรือ การค้นหาผู้สูญหาย 5 คน การทำให้ยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ และวัตถุอันตรายหมดความสามารถ รวมถึงการนำอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์บางอย่างขึ้นมาจากน้ำ โดยวัตถุประสงค์หลักของปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อยืนยันสาเหตุในการจมของเรือและวัตถุพยานในการสอบสวน ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ดำเนินการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องแล้ว และจำเป็นต้องใช้วัตถุพยานเพื่อนำมาสรุปผล รวมทั้งจำเป็นต้องค้นหาผู้สูญหายที่อาจติดอยู่ภายในตัวเรือ ในส่วนที่สหรัฐฯ เสนอตัวมาช่วยเหลือในการทำลายวัตถุอันตรายจะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งฝ่ายไทยและสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐมีประสบการณ์ และเครื่องมือพิเศษ จะทำให้ปฏิบัติการร่วมกันครั้งนี้ สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยกองทัพเรือจะใช้เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด 2 ลำ เรือตรวจการณ์ 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง 1 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด 40 นาย ร่วมในการปฏิบัติภารกิจ

​ ทางด้านกองทัพเรือสหรัฐฯ จะใช้เรือ Ocean Valor พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยประดาน้ำ และกู้ซ่อมเคลื่อนที่ (Mobile Dive and Salvage Unit) ซึ่งประจำอยู่ที่ฐานทัพเรือในรัฐฮาวาย จำนวน 17 นาย เข้าร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ โดยเรือ Ocean Valor จะออกเดินทางในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ไปยังจุดที่เรือหลวงสุโขทัยจม และจะเริ่มปฏิบัติภารกิจในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ดังกล่าว เป็นกำลังพลที่จะเข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 43 โดยในการฝึกจะประกอบไปด้วยกิจกรรมการฝึกต่าง ๆ รวมถึงการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัดในครั้งนี้

​ สำหรับการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องแสดงถึงมิตรภาพอันยาวนานระหว่างกองทัพเรือไทย กับกองทัพเรือสหรัฐฯ โดยกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจร่วมกันให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ด้วยความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบันทึกภาพทั้งภายในและภายนอกของตัวเรือ เพื่อใช้ประกอบกับการสอบสวนที่ได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ ให้ทราบถึงสาเหตุของการจม ทั้งนี้ กองทัพเรือจะกำหนดพื้นที่ห้ามเดินเรือรอบ ๆ บริเวณที่ปฏิบัติภารกิจ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ สำหรับผลการปฏิบัติต่าง ๆ กองทัพเรือจะชี้แจงให้ทราบในโอกาสต่อไป