Tuesday, 24 September 2024

"อนามัยโลก" จับตาโควิด ๑๐ สายพันธุ์ต้องเฝ้าระวัง JN.๑ เพิ่มขึ้นยึดไทย

องค์การอนามัยโลกยังจับตา ติดตามโควิด-๑๙ สายพันธุ์โอมิครอน ๑๐ สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ๕ สายพันธุ์ และที่ต้องจับตามองอีก ๕ สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ในกลุ่มที่เฝ้าระวังที่พบมากที่สุดช่วงท้ายปี ๖๖ คือ JN.๑* ที่มีอัตราการพบเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและห่วง JN.๑* จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่อาจระบาดระดับประเทศหรือทั่วโลก ด้าน “หมอยง” โพสต์เฟซบุ๊กระบุปลายเดือน กุมภาพันธ์มีแนวโน้มโควิด-๑๙ ลดลง ผู้ป่วยที่ต้องนอน รพ.หรือเสียชีวิตจะน้อยลงที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ ๑๖ ก.พ. นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการติดตามสายพันธุ์โควิด-๑๙ ที่ระบาดในประเทศไทยและทั่วโลกว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังให้ความสำคัญกับการติดตามสายพันธุ์โอมิครอน ๑๐ สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) ๕ สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.๑.๕*, XBB.๑.๑๖*, EG.๕*, BA.๒.๘๖* และ JN.๑* ส่วนสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) จำนวน ๕ สายพันธุ์ ได้แก่ DV.๗*, XBB*, XBB.๑.๙.๑* XBB.๑.๙.๒* และ XBB.๒.๓* ภาพรวมทั่วโลกสายพันธุ์ในกลุ่มที่เฝ้าระวังที่พบมากที่สุด ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๒๕-๓๑ ธันวาคม๒๕๖๖ ได้แก่ JN.๑* สัดส่วนร้อยละ ๖๕.๕ รองลงมาคือ EG.๕* พบร้อยละ ๑๖.๖ มีอัตราการพบที่ค่อยๆลดลง ขณะที่ JN.๑* มีอัตราการพบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ว่า JN.๑* จะเพิ่มมากขึ้นและจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในระดับประเทศหรือทั่วโลกสำหรับสถานการณ์สายพันธุ์โอมิครอนในไทย นพ.ยงยศกล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ตุลาคม๒๕๖๖ สายพันธุ์ลูกผสม XBB.๑.๙.๒* เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทย เริ่มลดลงตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๗ ขณะที่ JN.๑* มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม คาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดปัจจุบัน เดือน พฤศจิกายน๒๕๖๖ พบว่า สายพันธุ์ JN.๑* มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๒ เดือน ธันวาคม๒๕๖๖ เพิ่มเป็นร้อยละ ๒๐.๓ และเดือน มกราคม๒๕๖๗ เพิ่มเป็นร้อยละ ๔๓.๗ กรมและเครือข่ายห้องปฏิบัติการยังเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยการรวบรวมตัวอย่างผลบวกจากการทดสอบ ATK จากทั่วประเทศและเผยแพร่ผ่านฐานข้อมูลสากลหรือ GISAID สม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบอุบัติการณ์แนวโน้มการระบาดใหญ่ การกลายพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิม เพื่อวางมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสมทันการณ์ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับโควิด-๑๙ เมื่อวันที่ ๑๖ ก.พ. ว่า โควิด-๑๙ เมื่อเข้าสู่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จะมีแนวโน้มลดลงตามฤดูกาล จำนวนผู้ป่วยที่จะต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจะน้อยลงไปด้วย อัตราการเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง ตลอดทั้งปี ๖๗ ผู้เสียชีวิตน่าจะอยู่ที่ประมาณ ๓๐๐ คน หรือเฉลี่ยอย่างมากวันละ ๑ คน เท่ากับไข้หวัดใหญ่ในปี ๒๐๐๙ แต่ยังมากกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประชากรส่วนใหญ่จะเคยติดเชื้อไปแล้ว บางคน ๒ ครั้ง ๓ ครั้งก็มีการ ติดเชื้อซ้ำ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มอาการจะลดลงเมื่อโรคเข้าสู่โรคประจำฤดูกาล ในเดือนมีนาคมจะลดน้อยลงมาก จนถึงเดือนพฤษภาคม แล้วไปเริ่มใหม่มากขึ้นในเดือนมิถุนายนช่วงที่นักเรียนเปิดเทอมการให้วัคซีนมีความจำเป็นในกลุ่มเปราะบางเป็นเข็มกระตุ้นช่วงเวลาที่ควรจะได้รับคือ ก่อนเดือนมิถุนายน จะเป็นปลายเมษายนหรือพฤษภาคมก็ได้อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่