Sunday, 19 January 2025

ทิศทางว่าที่ผู้นำ "สุเบียนโต"

ไม่ต้องรอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก็ได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้วว่า “ปราโบโว สุเบียนโต” อดีตนายพล วัย ๗๒ ปี คือประธานาธิบดีคนต่อไปของอินโดนีเซียโดยมีกำหนดรับไม้ต่อจาก “โจโก วิโดโด” หรือโจโกวี วัย ๖๒ ปี ประธานาธิบดีคนที่ ๗ ของอินโดนีเซีย ที่นั่งบัลลังก์ผู้นำมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ และอยู่จนครบเวลา ๑๐ ปี (ผู้นำสองสมัย วาระละ ๕ ปี) ในเดือน ตุลาคม๒๕๖๗เส้นทางชีวิตของ…ปราโบโว สุเบียนโต โจโยฮาดีกุสุโม…ผู้นี้ ถือว่า มีความหลากหลาย เติบโตในครอบครัวนักเศรษฐศาสตร์และการเงิน เติบโตและร่ำเรียนหนังสือในประเทศยุโรป รวมถึงกรุงลอนดอน อังกฤษ ก่อนได้รับการชี้ทางจากบิดา ให้เข้าร่วมหลักสูตรนักเรียนนายร้อย และเข้ารับราชการกองทัพ จนไต่เต้าขึ้นเป็นผู้บัญชาการคุมกำลังหน่วยรบพิเศษเบเร่ต์แดง “คอพาสซัส”ผ่านสมรภูมิมาทั้งในสถานการณ์ความขัดแย้งติมอร์ตะวันออก และเหตุ ความไม่สงบในเขตปาปัว ถูกกล่าวหาว่าหน่วยใต้บังคับบัญชาพัวพันกับเหตุสังหารหมู่ และการกวาดล้างฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง ก่อนเข้ามาอยู่ในสมการอำนาจทางการเมืองในยุคประธานาธิบดี “ซูฮาร์โต” คุมหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องกับเหตุ ลักพาตัว กักขังหน่วงเหนี่ยวทรมาน กลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ทำให้ถูก “เช็กบิล” ปลดจากสายคุมกำลัง ตามด้วยการถูกเด้งจากกองทัพในยุคของประธานาธิบดี “ยูซูฟ ฮาบีบี”แต่ก็เหมือนเปลี่ยนจากวิกฤติเป็นโอกาส ว่าที่ผู้นำสุเบียนโตได้ตัดสินใจไปทำธุรกิจกับน้องชาย “ฮาชิม โจโยฮาดีกุสุโม” ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจในยุโรป จนสามารถก่อสร้างรากฐานทางธุรกิจ ภายใต้ชื่อนูซันตารา กรุ๊ป ที่ทุกวันนี้ดูแลกลุ่มบริษัทในอินโดนีเซียและต่างประเทศกว่า ๒๐ แห่ง รวมถึงบริษัทด้านพลังงานน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน และทำให้สุเบียนโตมีทรัพย์สินมากกว่า ๑๖๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า ๕,๗๘๐ ล้านบาท ด้วยความที่เจ้าตัวยอมรับว่า มีวีรบุรุษในใจคือ คีเมล อาตาเติร์ก รัฐบุรุษของตุรกี จึงมีการสันนิษฐานว่า นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมอดีตพลโทสุเบียนโต จึงมีการดำเนินรอยตามที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ “ทหารอาชีพสู่ นักการเมือง” กลับมาลงเล่นการเมืองและสมัครแข่งขันในศึกเลือกตั้ง ไม่ว่ากับประธานาธิบดีสุลิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ในปี ๒๕๕๒ และประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ในการเลือกตั้งปี ๒๕๕๗ และปี ๒๕๖๒ ซึ่งรอบหลังสุดนี้ ได้ส่งผลให้ สุเบียนโต ก้าวเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี “กลาโหม” อินโดนีเซียในที่สุดแม้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า สุเบียนโตต่อรองอะไรกับประธานาธิบดีโจโกวี จึงทำให้ผู้นำคนปัจจุบันเลือกที่จะสนับสนุนอดีตนายพลผู้นี้เป็นผู้นำคนที่ ๑๘ ของอินโดนีเซีย โดยปล่อยผ่านคำทัดทานภายในพรรครัฐบาล ที่ต้องการให้โจโกวีสนับสนุนคนของพรรคคือ “กันจาร์ ปราโนโว” อดีตผู้ว่าการ จังหวัดชวากลาง วัย ๕๕ ปีแต่หากนำเรื่องราวที่ผ่านมา ประติดประต่อเข้าด้วยกันก็จะพอเห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยประเด็นแรก นายพลสุเบียนโตเคยถูกตั้งข้อสงสัยว่า ประสบความสำเร็จในการเดินเกม “สร้างสถานการณ์” คัดค้านผลเลือกตั้ง กล่าวหาทุจริต มีม็อบลงถนน จนนำไปสู่การ “เจรจาต่อรอง” กับประธานาธิบดีโจโกวี และถูกทาบทามมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ประเด็นที่สองคือ การให้คำมั่นสัญญาว่า จะสานต่อนโยบายเรือธงของรัฐบาลโจโกวี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการย้ายเมืองหลวง และประเด็นที่สามคือ การพ่วงลูกชายคนโตของผู้นำโจโกวี “กิบรัน รากา บูมิง” วัย ๓๖ ปี ลงแข่งเลือกตั้งในฐานะรองประธานาธิบดี ณ เพลานี้ คงไม่ผิดแปลกแต่อย่างใดที่จะกล่าวว่า ผู้นำแดนอิเหนาคนต่อไปคือ “ปราโบโว สุเบียนโต” อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาคือ รัฐบาลอินโดนีเซียหลังเดือน ตุลาคมจะมีทิศทางเช่นไรโดยเฉพาะเรื่องการ “ต่างประเทศ” ที่รัฐบาลของโจโกวีวางตัวมาอย่างรัดกุม ด้วยหลักการ “เบบาส ดัน อัคทิฟ” เสรีและกระตือรือร้น ภายใต้ กรอบการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในเกมอำนาจบนเวทีโลกซึ่งเป็นนโยบายที่อินโดนีเซียดำเนินมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เคยสนับสนุนอเมริกาต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แต่ก็พร้อมผูกมิตรกับรัฐบาลเวียดนาม เคยไม่ชอบกลุ่มคนเชื้อสายจีนแต่ทุกวันนี้ก็ให้การสนับสนุนและส่งเสริมประเพณีอย่างตรุษจีน เคยใช้อาวุธยุทโธปกรณ์จากค่ายรัสเซียเต็มกองทัพ มีศูนย์การผลิตอะไหล่ในประเทศ แต่ก็สลับสับเปลี่ยนไปซื้ออาวุธจากชาติตะวันตก โปรโมตสันติภาพในยูเครน แต่ก็ปล่อยกระแสในโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยความเห็นใจฝ่ายรัสเซียมีนักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ในสหรัฐฯเขียนไว้ว่า ถึงอดีตนายพลสุเบียนโตจะเป็นคนหัวแข็ง (หรือถึงขั้นอารมณ์แปรปรวน) แต่ก็ยึดหลักการปฏิบัติได้จริงมากกว่าอุดมการณ์ จึงเชื่อว่านโยบายที่รัฐบาลโจโกวีดำเนินมาเกือบ ๑๐ ปีที่ผ่านมาและให้ผลลัพธ์เชิงบวก จะได้รับการสานต่อ ส่วนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สุเบียนโตมีประสบการณ์ใช้ชีวิตในชาติตะวันตก เคยได้รับการฝึกฝนจากกองทัพสหรัฐฯ อีกทั้งระยะหลังรัฐบาลอินโดนีเซียเอง ก็วางตัวกลางๆในเรื่องข้อตกลง AUKUS และการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จึงมีความเป็นไปได้ที่ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกจะไปในทางที่ดียิ่งขึ้นเพียงแต่สิ่งที่ชาติตะวันตกจะ (และกำลัง) มีปัญหาคือ การที่ชาติตะวันตกพยายามนำมาตรฐานด้าน “แรงงาน” ของตัวเองมาบีบให้ประเทศอื่นทำตาม ซึ่งจะเป็นการลดความได้เปรียบของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ “โกล บอล เซาท์” รวมถึงอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับนโยบายจำกัดหรือห้ามการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติบางประเภทอย่างนิกเกิลที่ทำให้การแปรรูป วัตถุดิบ-การผลิตสินค้ามีมูลค่าเหล่านี้ต้องดำเนินการภายในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ซึ่งกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีความเข้มแข็งมากขึ้นทุกขณะ.วีรพจน์ อินทรพันธ์คลิกอ่านคอลัมน์ “๗ วันรอบโลก” เพิ่มเติม