Saturday, 16 November 2024

นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านรัสเซีย ผู้ทำตามความเชื่อของตัวเอง จนตัวตาย

อเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านรัสเซียผู้เป็นที่รู้จักมากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เสียชีวิตแล้ว ในทัณฑนิคมที่เขาถูกคุมขังอยู่ โดยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุการตายนาวาลนีเป็นนักเคลื่อนไหว ต่อต้านเรื่องการคอร์รัปชันและความไม่โปร่งใส่มาตั้งแต่วัยหนุ่ม ซึ่งการลงมือทำมากกว่าพูดของเขา ทำให้มีผู้คล้อยตามและสนับสนุนมากมายการเคลื่อนไหวต่อต้านของนาวาลนี ทำให้เขาต้องเข้าออกคุกบ่อยครั้ง และถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาล ถึงขั้นถูกวางยาพิษ แต่เขาก็ยังตัดสินใจกลับมารัสเซีย เพื่อทำตามความเชื่อของตัวเอง แม้รู้ว่าอาจต้องแลกด้วยชีวิตอเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านรัสเซีย เสียชีวิตแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะเดินอยู่ในทัณฑนิคม ‘IK-๓’ หรือชื่อเล่นคือ ‘หมาป่าขั้วโลก’ ที่เมืองคาร์ป ห่างจากกรุงมอสโกกว่า ๑,๒๐๐ ไมล์ และเป็นสถานที่ที่นาวาลนีถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลานานถึง ๓๐ ปี โดยที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า สาเหตุการตายคืออะไรตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชายวัย ๔๗ ปีผู้นี้ผงาดขึ้นมามีชื่อเสียงในฐานะ ฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน และการคอร์รัปชันภายในรัฐบาลที่แข็งกร้าวที่สุด และจัดการประท้วงขนาดใหญ่ เพื่อแสดงพลังมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง จนต้องเข้าออกคุกบ่อยพอๆ กันตามปกติแล้วในรัสเซีย ขั้วตรงข้ามของปูตินมักจางหายไปท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมือง หรือเนรเทศตัวเองออกไปหลังจากถูกคุมขัง แต่นาวาลนีกลับแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นบุคคลสำคัญของฝ่ายค้าน แม้ตัวเองจะถูกวางยาพิษอาการสาหัสจนต้องไปรักษาในต่างประเทศ ก็ยังเลือกกลับรัสเซียเพื่อทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แม้รู้ดีว่า กลับมาแล้วอาจไม่รอดก็ตามอเล็กเซ นาวาลนี เป็นใคร และอะไรที่เปลี่ยนให้อดีตทนายความผู้นี้ กลายเป็นมาแกนนำฝ่ายค้านที่โดดเด่นที่สุดในรัสเซีย? นาวาลนีเป็นนักเคลื่อนไหวมาตั้งแต่วัยหนุ่มอเล็กเซ นาวาลนี เกิดเมื่อวันที่ ๔ มิ.ย. ๒๕๑๙ ในเมืองบูติน ห่างจากกรุงมอสโกประมาณ ๔๐ กม. เขาจบปริญญาสาขาวิชานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิตรภาพประชาชนแห่งรัสเซีย (RUDN) ในปี ๒๕๔๑ และในปริญญาสาขาเศรษฐศาสตร์ ในอีก ๓ ปีต่อมา ระหว่างทำงานเป็นทนายความนาวาลนีเป็นนักเคลื่อนไหวมาตั้งแต่วัยหนุ่ม หนึ่งในผลงานแรกของเขาคือ จัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการพัฒนาที่มากเกินไปในมอสโกในปี ๒๕๔๗ และซื้อหุ้นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ในช่วงปี ๒๕๕๑ เพื่อกลายเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีหุ้นในมือ คอยผลักดันเรื่องความโปร่งใสพอถึงปี ๒๕๕๓ เขากับทีมทนายความก็จัดตั้งกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชันที่เรียกว่า RosPil ซึ่งคอยวิเคราะห์การใช้จ่ายของหน่วยงานกับรัฐวิสาหกิจ เปิดโปงการกระทำผิดและนำเรื่องส่งฟ้องต่อศาล จากนั้น ๑ ปีต่อมา เขากับทีมงานก็ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน (Foundation for Fighting Corruption) เพื่อเปิดโปงการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียการเคลื่อนไหวของนาวาลนี ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การคอร์รัปชัน ดึงดูดชาวรัสเซียมากมายที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเอง “ถูกโกง” ให้มาเป็นแนวร่วมอย่างเข้มแข็ง มากกว่าการใช้ประเด็นที่เป็นนามธรรมอย่างเรื่องแนวคิดประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชน ถูกจับทำอะไรนาวาลนีไม่ได้นาวาลนีเข้าออกคุกหลายต่อหลายครั้งตลอดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา รวมถึงในปี ๒๕๕๖ เขาถูกศาลตัดสินจำคุก ๕ ปีในข้อหายักยอกเงิน ซึ่งนาวาลนีตอบโต้ว่าเป็นข้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ขณะที่สำนักงานอัยการทำเรื่องเซอร์ไพรส์ด้วยการขอให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวนาวาลนีระหว่างอุทธรณ์ ก่อนที่ศาลชั้นสูงกว่าจะตัดสินให้เขารับโทษแบบรอลงอาญาแต่ ๑ วันก่อนมีคำตัดสินนั้น นาวาลนีลงทะเบียนสมัครป็นนายกเทศมนตรีกรุงมอสโกแล้ว โดยฝ่ายค้านมองว่า การปล่อยตัวเขาเป็นผลจากการประท้วงใหญ่ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงเพื่อต่อต้านคำตัดสิน แต่ผู้สังเกตการณ์หลายคนเชื่อว่า ทางการตัดสินใจเช่นให้ดูเหมือนว่า ให้เกียรติการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีผลการเลือกตั้งที่ออกมาปรากฏว่า นาวาลนีได้ที่ ๒ ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่ดีมากเมื่อเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกลไกทางการเมืองของปูติน รวมทั้งมีผลงานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความสวยงามของมอสโกนาวาลนียิ่งมีคะแนนนิยมมากขึ้นไปอีก หลังจากนักการเมืองฝ่ายค้านชื่อดังอีกคนอย่าง บอริส เนมต์ซอฟ ถูกยิงเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำบนสะพานใกล้พระราชวังเครมลินในปี ๒๕๕๘ ขณะที่ปูตินพยายามอย่างหนักในการเลี่ยงไม่พูดชื่อของนาวาลนี โดยทุกครั้งที่ต้องพูดถึง เขามักใช้คำว่า “คนผู้นั้น” (That person) หรือ “คนที่คุณระบุชื่อ” (Those you named) แทนตลอด เพื่อลดความสำคัญของชายคนนี้ ถูกวางยาพิษในไซบีเรียหลังจากนั้น นาวาลนีก็กลายเป็นศูนย์กลางการประท้วงครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัสเซีย เพื่อต่อต้านผลการเลือกตั้งอันน่าสงสัย และการกีดกันผู้สมัครอิสระ จนทำให้ตัวเขาถูกศาลตัดสินให้รับโทษจำคุกอีกครั้ง โทษฐานมีส่วนร่วมในการประท้วงแต่ในปี ๒๕๖๒ ระหว่างถูกคุมขัง นาวาลนีถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเกิดจากอาการแพ้อะไรบางอย่าง แต่หมอบางคนระบุว่า ดูอาการคล้ายถูกวางยาพิษปีต่อมา ในวันที่ ๒๐ ส.ค. ๒๕๖๓ นาวาลนี จู่ๆ ก็ล้มป่วยอาการสาหัสระหว่างเดินทางด้วยเครื่องบินจากเมืองทอมสก์ ที่เขากำลังจัดหาผู้สมัครเลือกตั้งฝ่ายค้าน ไปยังกรุงมอสโก โดยเขาล้มลงบนทางเดินเครื่องบินหลังกลับจากห้องน้ำ จนเครื่องต้องลงจอดฉุกเฉินในเมืองโอมสก์ ซึ่งนาวาลนีอยู่โรงพยาบาลที่นั่น ๒ วันก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่เยอรมนีเมื่อมาถึงเยอรมนี แพทย์ก็วินิจฉัยว่า นาวาลนีถูกวางยาพิษด้วยสาร ‘โนวิชอก’ ซึ่งมีพิษทำลายประสาท แบบเดียวกับสารที่เกือบเอาชีวิตของนายเซอร์เก สกริปาล อดีตสายลับสองหน้าชาวรัสเซียกับลูกสาวในอังกฤษ เมื่อปี ๒๕๖๑ และทำให้มีหญิงที่ไม่เกี่ยวข้องคนหนึ่งโดยลูกหลงเสียชีวิตนาวาลนีต้องนอนโคมานานร่วม ๒ สัปดาห์ และต้องบำบัดอยู่ระยะหนึ่งเพื่อให้กลับมาพูดหรือเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง ซึ่งนาวาลนีกล่าวหาปูตินว่าอยู่เบื้องหลังการวางยาพิษเขา ขณะที่ฝ่ายรัสเซียก็ออกมาประกาศว่า นาวาลนีละเมิดเงื่อนไขการรอลงอาญาข้อหายักยอกเงินตอนอยู่ในเยอรมนี และจะถูกจับกุมตัวทันทีที่กลับถึงรัสเซีย ถ้าไม่กลับก็ไม่ใช่นาวาลนีหากเป็นคนอื่น เจอรัสเซียประกาศแบบนี้คงไม่เดินทางกลับไปให้โดนจับ แต่นั่นไม่ใช่นาวาลนี ในวันที่ ๑๗ ม.ค. ๒๕๖๔ แกนนำฝ่ายค้านรายนี้กับภรรยา โดยสารเครื่องบินไปยังกรุงมอสโก และถูกจับกุมทันทีตามคาด หลังจากนั้นภายในเวลาเพียง ๒ สัปดาห์ เขาถูกนำตัวขั้นศาล ตัดสินความผิด และพิพากษาให้จำคุก ๒ ปีครึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการประท้วงมโหฬารในหลายพื้นที่ของรัสเซีย และมีผู้ประท้วงถูกจับกุมตัวมากกว่า ๑๐,๐๐๐ คนแต่ถึงแม้ตัวจะอยู่ในคุก นาวาลนีก็ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว ในตอนที่ปูตินส่งกองทัพบุกยูเครนเมื่อ ๒๔ ก.พ. ๒๕๖๕ เขาก็ประณามการก่อสงครามอย่างรุนแรง ผ่านการโพสต์โซเชียลมีเดียจากในคุก และกล่าวระหว่างขึ้นศาลไม่ถึง ๑ เดือนหลังสงครามเริ่มต้นขึ้น นาวาลนีก็ถูกตัดสินจำคุกเพิ่มอีก ๙ ปี ข้อหายักยอกเงินและหมิ่นศาล ซึ่งตัวเขากับผู้สนับสนุนยืนกรานว่าไม่เป็นความจริง จากนั้นเจ้าหน้าที่สืบสวนของรัสเซียก็เริ่มการสืบสวนคดีใหม่ทันที และในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ นาวาลนีถูกตัดสินว่ามีความผิดข้อหาสนับสนุนองค์กรสุดโต่ง และถูกพิพากษาให้จำคุก ๑๙ ปีสัญญาณเตือนบางอย่างเกี่ยวกับชะตากรรมของนาวาลนีเริ่มดังออกมา เมื่อในวันที่ ๑๑ ธ.ค. ๒๕๖๖ นาวาลนีที่ต้องขึ้นศาลผ่านวิดีโอลิงก์กลับไม่ปรากฏตัว โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าไฟฟ้าขัดข้อง ก่อนจะมีการเปิดเผยว่า เขาถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑนิคม IK-๓ ในเมืองคาร์ป ทางเหนือของวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) ที่ฤดูหนาวยาวนานและหฤโหด นอกจากนั้นยังอยู่ห่างจากเหมืองถ่านหินวอร์คูตา หนึ่งในระบบค่ายกักกันที่เลวร้ายที่สุดของโซเวียตแค่ราย ๑๐๐ กม.ด้วยและแล้ววันที่หลายคนกลัวกันก็มาถึง สำนักงานราชทัณฑ์กลาง (FSIN) ของรัสเซีย ประกาศในวันศุกร์ที่ ๑๖ ก.พ. ๒๕๖๗ ว่า นาวาลนีเกิดอาการป่วยขณะเดินอยู่ในทัณฑนิคม แล้วล้มลงหมดสติ เจ้าหน้าที่พยายามช่วยชีวิตเขาแต่ไม่สำเร็จ ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน กลับมาทำไม เมื่อรู้ว่าต้องตาย?หลายคนคงถามคำถามนี้อยู่ในใจ ว่าในเมื่อรอดตายจากการถูกวางยาพิษแล้ว เขากลับมารัสเซียทำไมอีก ทั้งที่เสี่ยงถูกจำคุก หรือถึงขั้นเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำเหมือนผู้ต่อต้านปูตินคนอื่นๆ ซึ่งนาวาลนีตอบเรื่องนี้เอาไว้ด้วยโพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อ ๑๗ ม.ค. หรือราว ๑ เดือนก่อนที่เขาจะตายว่า “ผมไม่อยากยอมแพ้ทั้งต่อประเทศและต่อความเชื่อของตัวเอง”“ผมไม่สามารถทรยศต่อทั้งเรื่องแรกและเรื่องที่สองได้ หากความเชื่อของคุณมีคุณค่าอะไรบางอย่าง คุณต้องยินดีที่จะยืนหยัดเพื่อมัน และหากจำเป็น ก็ต้องทำการเสียสละบ้าง”ขณะที่นายอับบาส กัลยามอฟ อดีตผู้เขียนคำสุนทรพจน์ของรัฐบาลเครมลิน ซึ่งเคยขัดแย้งกับนาวาลนีมาหลายครั้ง มองว่า สิ่งที่นาวาลนีเป็นคือแสดงออกด้วยการกระทำ “สำหรับเขา การเมืองคือการกระทำ ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือทฤษฎีเหมือนฝ่ายค้านคนอื่นๆ พวกนั้นนั่งเงียบๆ อยู่นอกประเทศ พูด พูด แล้วก็พูด โดยไม่ทำอะไรเลย สำหรับนาวาลนีนี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจทนได้”การกลับมาของเขาแสดงให้เห็นทั้งความยึดติดอย่างไม่อายควบคุมต่อเหตุผล และความจริงใจอย่างลึกล้ำของเขา นายกัลยามอฟกล่าวปฏิกิริยาโดยทั่วไปต่อข่าวการเสียชีวิตของนายนาวาลนีในหมู่คนที่รู้จักเขา ส่วนใหญ่ชื่อว่าเขาถูกฆาตกรรม ไม่ว่าจะโดยตรง หรือทางอ้อมด้วยสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายในทัณฑนิคม ขณะที่รัฐบาลเครมลินเลือกที่จะใช้ความเงียบสยบความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตของชายวัย ๔๗ ปีรายนี้ในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ผลักดันให้นาวาลนีกลับมายังรัสเซียอาจเป็น “ความไม่เกรงกลัว” ที่เขาคิดว่าอาจทำให้เขาได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองเหมือนเนลสัน แมนเดลา “นาวาลนีท้าทายพวกเขาด้วยความไม่เกรงกลัวของตัวเอง แต่พวกเขาไม่อดทนต่อความไม่เกรงกลัว” นายคีริล โรกอฟ อดีตที่ปรึกษารัฐบาลรัสเซียกล่าวสิ่งที่โรกอฟกล่าว แสดงออกมาในคำพูดของนาวาลนีตอนขึ้นศาลครั้งแรก ๑ เดือนหลังกลับมารัสเซีย โดยเขาอ้างคำพูดจากการ์ตูนเรื่อง ‘Rick and Morty’ มาพูดว่า “การใช้ชีวิตคือการเสี่ยงทุ่มหมดหน้าตัก มิเช่นนั้น คุณก็เป็นแค่ก้อนโมเลกุลไร้ชีวิตที่มารวมตัวกัน ลอยไปยังที่ใดก็ตามที่จักรวาลพัดพาคุณไป”ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรีที่มา : euronews , apnews , nytimes