ครบ ๗๙ วัน กระทรวงมหาดไทยรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ มียอดหนี้รวม ๑๐,๒๔๙ ล้าน คนลงทะเบียนแล้วกว่า ๑.๔๓ แสนราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๑๔,๘๔๗ ราย มูลหนี้ลดลง ๗๒๑ ล้านบาท ย้ำ ทุกจังหวัด เร่งกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สินเร็วสุด วันที่ ๑๗ ก.พ. ๖๗ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ ๗๙ โดยเมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียน พบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว ๑๔๓,๗๓๑ ราย มูลหนี้รวม ๑๐,๒๔๙.๔๖๙ ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ ๑๒๐,๐๔๕ ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ๒๓,๖๘๖ ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ ๑๑๔,๑๖๐ ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด ๕ ลำดับแรก ดังนี้ ๑. กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด ๑๑,๑๖๘ ราย เจ้าหนี้ ๘,๒๖๒ ราย มูลหนี้ ๙๑๐.๐๘๕ ล้านบาท ๒. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน ๕,๗๙๖ ราย เจ้าหนี้ ๕,๔๕๘ ราย มูลหนี้ ๓๙๗.๙๖๒ ล้านบาท ๓. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน ๕,๓๐๕ ราย เจ้าหนี้ ๔,๒๗๗ ราย มูลหนี้ ๓๔๙.๐๖๕ ล้านบาท ๔. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน ๔,๙๗๔ ราย เจ้าหนี้ ๔,๐๗๓ ราย มูลหนี้ ๔๓๐.๓๙๒ ล้านบาท ๕. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน ๓,๙๐๖ ราย เจ้าหนี้ ๒,๘๒๘ ราย มูลหนี้ ๓๖๐.๘๑๘ ล้านบาท ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด ๕ ลำดับแรก ได้แก่ ๑. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน ๒๓๗ ราย เจ้าหนี้ ๒๓๙ ราย มูลหนี้ ๑๔.๒๔๓ ล้านบาท ๒. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน ๓๓๘ ราย เจ้าหนี้ ๒๖๑ ราย มูลหนี้ ๒๓.๗๑๘ ล้านบาท ๓. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน ๓๘๐ ราย เจ้าหนี้ ๒๙๘ ราย มูลหนี้ ๑๔.๙๖๙ ล้านบาท ๔. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน ๔๖๐ ราย เจ้าหนี้ ๓๓๗ ราย มูลหนี้ ๒๐.๑๕๕ ล้านบาท และ ๕. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน ๔๖๒ ราย เจ้าหนี้ ๓๗๑ ราย มูลหนี้ ๒๕.๖๖๑ ล้านบาท “สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว ๒๔,๐๖๖ ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๑๔,๘๔๗ ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย ๒,๒๑๗.๘๔๔ ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย ๑,๔๙๖.๗๐๐ ล้านบาท มูลหนี้ลดลง ๗๒๑.๑๔๔ ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ๓,๒๖๗ ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๔๑๗ ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย ๒๗๖.๔๓๔ ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย ๔๔.๐๗๙ ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง ๒๓๒.๓๕๔ ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ดำเนินคดีไปแล้ว ๒๗๗ คดี ใน ๓๕ จังหวัด” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเต็มที่ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ ฝ่ายปกครองจะเชิญทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอม แต่หากการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าไปแก้ปัญหาต่อไป นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกอำเภอดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” อย่างน้อยเดือนละ ๔ ครั้ง หนุนเสริมเพิ่มเติมจากตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัดที่มีการจัดเดือนละ ๑ ครั้ง โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อนำเข้าสู่หนี้ในระบบควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน“ในส่วนของการนำเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ปัจจุบันมีประชาชนที่มาลงทะเบียนหนี้นอกระบบที่เป็นลูกหนี้ และที่ไม่สามารถให้ข้อมูลเจ้าหนี้นอกระบบได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้การติดต่อเชิญมาไกล่เกลี่ยได้ยาก ซึ่งเราได้มีการประชุมปรึกษาหารือพบว่าทั้งหมดที่ไม่สามารถให้ข้อมูลเจ้าหนี้นอกระบบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกมืออาชีพพวกปล่อยเงินกู้นอกระบบมืออาชีพ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการปล่อยกู้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเก็บดอกเบี้ยที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด กระทรวงมหาดไทยจะได้ส่งข้อมูลการทวงหนี้แบบใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่คุกคามในลักษณะนี้ รวมถึงข้อมูลรายละเอียด อาทิ รายชื่อ และสถานที่ที่คนกลุ่มนี้ไปปล่อยกู้ ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวปิดท้ายว่า ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก ๑๒ วันที่พี่น้องประชาชนยังคงสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเราจะรับลงทะเบียนถึงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นี้ ทั้งการเดินทางไปขอคำปรึกษาและลงทะเบียน ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด (ห้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด) ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง (ห้องศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ) สำนักงานเขตทั้ง ๕๐ เขตของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพื้นที่การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัด และตลาดนัดแก้หนี้อำเภอ หรือสามารถลงทะเบียนทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. ๑๕๖๗ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
ลงทะเบียน "หนี้นอกระบบ" ๗๙ วัน หนี้กว่าหมื่นล้าน ไกล่เกลี่ย ๑.๔ หมื่นราย
Related posts