Sunday, 19 January 2025

แกะรอยดีเอ็นเอ “โลงผีแมน” หาเครือญาติ มนุษย์โบราณ ๑,๗๐๐ ปี มาไกลจากแม่น้ำแยงซี

18 Feb 2024
149

การแกะรอยดีเอ็นเอ “โลงผีแมน” มนุษย์โบราณ ๑,๗๐๐ ปี ในแหล่งขุดค้นโบราณคดีใน จ.แม่ฮ่องสอน ถือเป็นข้อมูลใหม่ ที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยง ในเชิงเครือญาติและการย้ายถิ่น จากที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซี ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และถือเป็นประวัติศาสตร์ ที่โครงกระดูกโบราณ ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตให้กับคนเป็น แม้เหลือแค่โครงกระดูกนอนสงบในถ้ำมากว่าพันปี ศ.ด็อกเตอร์รัศมี ชูทรงเดช นักโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีบนพื้นที่สูงและริเริ่มการขุดค้นแหล่งโบราณคดีใน จ.แม่ฮ่องสอน กว่า ๒๐ ปี ภายใต้กลุ่มวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ๒๕๖๐ ได้สำรวจพบชิ้นส่วนมนุษย์โบราณ และร่องรอยวัตถุทางวัฒนธรรมภายในโลงไม้ ในถ้ำและเพิงผาบนพื้นที่สูง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน มีอายุเก่าแก่ราว ๒,๓๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว แสดงถึงพิธีกรรมความตาย ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะพื้นที่เรียกว่า “วัฒนธรรมโลงไม้” แต่คนในพื้นที่รู้จักกันดีในชื่อของ “โลงผีแมน”โดยจุดประสงค์ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคน และสิ่งแวดล้อมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย ทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในชิ้นส่วนกระดูกและฟันโบราณ จำนวน ๓๓ ชิ้น อายุกว่า ๑,๗๐๐ ปี ที่พบภายในแหล่งโบราณคดีประเภทถ้ำของวัฒนธรรมโลงไม้บนพื้นที่สูงใน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอนนำสู่การสกัดดีเอ็นเอโบราณ ในสภาพแวดล้อมแบบป่าเขตร้อนเนื่องจากสภาพแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอากาศแบบร้อนและชื้น เป็นปัจจัยทำให้มีการเสื่อมสลายของดีเอ็นเอในตัวอย่างโบราณ ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาดีเอ็นเอโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำกัด มีผลการศึกษาที่ไม่สมบูรณ์ จากตัวอย่างเพียงไม่กี่ชิ้น เช่น จากแหล่งโบราณบ้านเชียง ที่มีเพียง ๒ ชิ้น ดังนั้นผลการศึกษาครั้งนี้ จึงเป็นผลการศึกษาดีเอ็นเอโบราณที่สมบูรณ์ที่สุด ณ ปัจจุบัน ในแง่ของจำนวนตัวอย่างและคุณภาพของดีเอ็นเอ จากการวิเคราะห์ด้วยความรู้ด้านพันธุศาสตร์ประชากร พบว่าคนโบราณที่ อ.ปางมะผ้า มีอายุที่เก่าอยู่ในสมัยเหล็ก มีพันธุกรรมที่คล้ายกับประชากรโบราณในสมัยหินใหม่ จาก ๒ พื้นที่ คือ ประชากรโบราณจากที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และประชากรโบราณจากที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลือง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนแสดงถึงความต่อเนื่องทางพันธุกรรมของคนในสมัยหินใหม่ และสมัยเหล็กในทวีปเอเชีย ซึ่งผลการศึกษาแตกต่างจากคนโบราณจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง สมัยสัมฤทธิ์ ที่พบความต่อเนื่องทางพันธุกรรมจากประชากรโบราณในสมัยหินใหม่จากที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีเท่านั้น แต่ไม่พบพันธุกรรมจากประชากรลุ่มแม่น้ำเหลือง “ความแตกต่างพันธุกรรมของคนโบราณของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย สอดคล้องกับหลักฐานทางวัฒนธรรมที่พบในแหล่งโบราณคดี เช่น วัฒนธรรมการฝังศพและการบริโภคอาหาร ความแตกต่างนี้อาจเกิดจากเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนในอดีตที่แตกต่างกัน การเคลื่อนย้ายของคนโบราณในภาคเหนือจะผ่านทางลุ่มแม่น้ำสาละวินในเขตพื้นที่สูงด้านตะวันตกของประเทศไทย ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะผ่านมาทางแม่น้ำทางด้านตะวันออกได้แก่ แม่น้ำแดงและแม่น้ำโขง” การศึกษาครั้งนี้ยังเป็นการศึกษาครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้ข้อมูลดีเอ็นเอเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมโบราณที่อาศัยอยู่ในถ้ำเดียวกัน และระหว่างถ้ำในพื้นที่ใกล้เคียงกันทีมนักวิจัยพบว่า คนที่เป็นญาติใกล้ชิดกันในครอบครัวเดียวกันจะนำร่างผู้ตายใส่ในโลงไม้โลงเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ขณะครอบครัวที่ห่างออกไปจะมีการวางศพในโลงที่ห่างออกไป นอกจากนั้นยังพบความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติระหว่างคนโบราณในถ้ำย่าป่าแหน ๒ กับถ้ำลอด เป็นระดับความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่ใกล้ชิดเทียบได้กับระหว่างหลานกับทวด ประมาณ ๓ รุ่น และระหว่างถ้ำย่าป่าแหน ๒ กับถ้ำหม้อมูเซอ เป็นความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่ยิ่งห่างออกไปเทียบได้กับระหว่างหลานกับทวดไปอีกประมาณสองรุ่น ซึ่งเป็นถ้ำที่ตั้งอยู่คนละลุ่มน้ำใน อ.ปางมะผ้า ผลการศึกษาดีเอ็นเอสะท้อนถึงโครงสร้างของประชากรโบราณว่ามีขนาดของประชากรขนาดใหญ่ คนโบราณมีปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่ พบว่าความสัมพันธ์ทางเครือญาติมีความสำคัญต่อพิธีกรรมการฝังศพของคนในชุมชน.