ป.ป.ช.รับคำร้อง สอบ “กรมราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจ” เอื้อประโยชน์ ให้ “ทักษิณ” หรือไม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง เชิญผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูล ยังให้ความเห็นไปก่อนไม่ได้ หากมีมูลความผิดจริง ก็จะมีการสั่งไต่สวนวันที่ ๑๗ ก.พ. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงคำร้องที่ยื่นให้ไต่สวนกรมราชทัณฑ์ และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ กับพวกและฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้อง มีพฤติการณ์หรือการกระทำที่ผิดประมวลจริยธรรมของข้าราชการหรือนักการเมืองและกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเอื้อประโยชน์กับ นายทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ ว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลทั้งกรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ เพราะตามขั้นตอน ต้องได้ข้อมูลมาก่อนว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีกฎหมายและวิธีปฏิบัติอย่างไรในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งใช้เวลาพอสมควร หากพบว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและมีการกระทำผิดกฎหมาย มีมูลความผิดจริง ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องมีการสั่งไต่สวน แล้วเชิญพูดถูกกล่าวหามาชี้แจงเมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณได้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นการปฏิบัติ ๒ มาตรฐาน นายนิวัติไชย กล่าวว่า พฤติกรรมที่ช่วยเหลือ ต้องดูคนที่มีหน้าที่ ซึ่งคือกรมราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งต้องดูว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ มีความเกี่ยวข้องหรือไม่ ดังนั้นก็ถือว่าเข้าอยู่ แต่จะเข้าความผิดหรือไม่ ก็อยู่ที่ข้อเท็จจริง ถ้ามีกฎหมาย มีเปิดช่องก็ทำได้ แต่หากไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องทำไปโดยฝ่าฝืนก็มีประเด็นว่า จะมีมูลเป็นความผิดหรือไม่ จึงอยู่ที่การตรวจสอบ ซึ่งวันนี้ยังเร็วไปที่จะบอกว่าใครผิดใครถูกเมื่อถามย้ำว่า มีการมองพฤติกรรมของกรมราชทัณฑ์ กับโรงพยาบาลตำรวจมีกฎหมายรองรับ แต่ในทางพฤติกรรมสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ถ้ามีกฎหมาย มีระเบียบรองรับ ส่วนพฤติกรรมเหมาะสมหรือไม่ ก็ต้องแยกกัน เพราะ ป.ป.ช.ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องความเหมาะสมได้ เพราะหากไม่ผิดกฎหมายแล้วเขาจะมีเจตนาอย่างไร แต่หากผิดกฎหมายถึงจะมีเจตนาในทางอาญา แต่หากกฎหมายเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจ เขาก็ใช้ดุลพินิจ ซึ่งเขาอาจจะใช้ดุลพินิจกับคนอื่นด้วยก็ได้อย่างไรก็ตาม เรื่องการตรวจสอบว่า มีการใช้ดุลพินิจถูกต้องหรือไม่นั้นก็ต้องทำควบคู่กันไป แต่อย่างแรกก็ต้องดูข้อกฎหมาย ระเบียบ วิธีปฏิบัติ มติ ครม. เป็นหลักก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่วางเส้นไว้แล้วว่า อย่าฝ่าฝืน แล้วค่อยมาดูว่า มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ทั้งนี้ หากกฎหมายให้ทำได้ การตรวจสอบดุลพินิจก็ลำบาก เหมือนกรณีศาลตัดสินคดีก็มีฝ่ายที่แพ้ฝ่ายชนะ ก็เป็นการใช้ดุลพินิจที่ทำได้โดยกฎหมาย ระเบียบวิธีปฏิบัติ แล้วจะไปชี้อย่างไร แต่หากมีการใช้ดุลพินิจเพราะได้รับผลประโยชน์ ป.ป.ช.ก็ตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามส่วนนี้ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง ตนจึงพูดในหลักการเท่านั้นเมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรมราชทัณฑ์มีการออกระเบียบมารองรับไว้ก่อนแล้ว และหลังจากนั้นก็ได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ต้องดูว่า สิ่งที่ทำนั้นทำคนเดียวหรือไม่ เรื่องนี้จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถไปวิจารณ์ก่อนหน้าว่า ทำเพื่อเอื้อประโยชน์หรือไม่ ต้องดูที่ข้อเท็จจริงก่อน ยังไม่สามารถพูด หรือให้ความเห็นไปก่อนได้ เพราะเป็นเพียงปัญหาตุ๊กตายังไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่.