Thursday, 19 December 2024

ประชาธิปัตย์ แถลงกรณีพักโทษ จ่อเสนอแก้กฎหมายราชทัณฑ์ ไม่ให้เกิด “ทักษิณโมเดล”

โฆษกประชาธิปัตย์ จ่อเสนอแก้กฎหมายราชทัณฑ์ ชี้ กรณีพักโทษกระบวนการยุติธรรมต้องเท่าเทียม ป้องกันเกิด “โรคทักษิณโมเดล” รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวต่อกรณีการพักโทษของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยออกจากโรงพยาบาลตำรวจ และเดินทางไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้า ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ว่า พรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนมาตลอด และติดตามตั้งแต่ นายทักษิณ กลับมา จนได้รับโทษจำคุก รวมถึงการรักษาตัวใน รพ.ตำรวจ ซึ่งพรรคได้ออกมาติติงในหลายโอกาสที่ผ่านมา และต้องกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าเราเป็นพรรคฝ่ายค้าน อีกทั้งเป็นพรรคที่ออกท้วงติงเรื่อง นายทักษิณ มากที่สุด ส่วนพรรคอื่นไม่ขอก้าวล่วง นายราเมศ กล่าวย้ำกรณีของ นายทักษิณ แสดงให้เห็นแล้วว่าคุกมีไว้ขังคนจน กระบวนการยุติธรรมในส่วนของกรมราชทัณฑ์ การบังคับโทษผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมาย ไร้ประสิทธิภาพ มีการดำเนินการในหลายเรื่องที่ไม่ตรงไปตรงมา ไม่เป็นตามหลักนิติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนทั้งประเทศ และขอถามไปยังรัฐบาลที่เคยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรีพูดชัดว่าการบริหารราชการแผ่นดินจะยึดหลักนิติธรรม ทั้งนี้ หลักนิติธรรมคือการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา “รัฐบาลไม่ได้ตระหนักถึงหลักนิติธรรมที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาเลย ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ คุณทักษิณ เป็นความลับทั้งหมด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่สามารถตอบคำถามใดๆ ได้เลยเกี่ยวกับ คุณทักษิณ ชินวัตร ทุกอย่างเป็นความลับหมด มีการช่วยปกปิดความจริงกันอย่างเป็นระบบ หลักนิติธรรมถูกทำลายอย่างไม่มีชิ้นดี ต้องขอกล่าวหา เพราะพี่น้องประชาชนติดตามอยู่ทุกย่างก้าวของปลายทางในกระบวนการยุติธรรม คืออำนาจราชทัณฑ์”โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุต่อไปว่า อำนาจตุลาการถูกท้าทายจากอำนาจราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรม ประชาชนรู้ทันในการกระทำของรัฐบาล รู้ทันในการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน โดยจากการออกมาแถลงว่า นายทักษิณ ได้รับโทษจำคุกจนถึงปัจจุบันครบ ๖ เดือน ตามหลักเกณฑ์การพักโทษของกรมราชทัณฑ์ ทั้งนี้ กรณีการพักโทษเป็นสิทธิ์ของนักโทษทั่วไป เพราะมีนักโทษอีกหลายคนได้รับการพักโทษเช่นกัน แต่กรณีของ นายทักษิณ ไม่ได้ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว นี่คือสิ่งที่สังคมตั้งคำถาม ป่วยจริงหรือไม่ รักษาตัวอยู่จริงหรือไม่ ประชาชนรู้ทันหมด ทุกคนในระบบทักษิณ ถวิลหาความยุติธรรมที่เท่าเทียม กลับกลายเป็นเพียงลมปากของรัฐบาล ของผู้ที่มีอำนาจ ไม่ใช่คำพูดที่เกิดจากสามัญสำนึกของตัวผู้มีอำนาจที่แท้จริง “ผมกล่าวหาเลยครับว่านี่คือการเลือกปฏิบัติ การใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน นักโทษที่อยู่ในเรือนจำเป็นประชาชนเหมือนกันครับ เป็นประชาชนที่มีกฎหมาย มีระเบียบ มีข้อบังคับ ฉะนั้นแล้ว เขาเหล่านั้นทุกคนจะต้องถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน สองมาตรฐาน ไร้ความเท่าเทียม มิหนำซ้ำ เหยียบย่ำอำนาจศาล” ทั้งนี้ กรณีศาลมีการตัดสินคดีแล้ว อำนาจของตุลาการสิ้นสุดลง แต่กระบวนการยุติธรรมหลังจากนั้นปลายทางคือกรมราชทัณฑ์ พรรคประชาธิปัตย์จึงออกมาท้วงติง ติติง เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมในส่วนของอำนาจราชทัณฑ์อยู่ในหลักเกณฑ์หลักการของประเทศ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองเดินต่อไปไม่ได้ ไม่ต้องวิเคราะห์เลยว่ากรณีของ นายทักษิณ จะทำให้รัฐบาลอยู่ได้หรือไม่ เพราะการกระทำทั้งหมดจะเป็นคำตอบในอนาคต และพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง ในฐานะฝ่ายค้าน เราจะตามติดเรื่องนี้เหมือนที่เคยกระทำมาตลอด พร้อมถามว่า แล้วประชาชนจะพึ่งหวังกระบวนการต่อจากนี้ได้อย่างไรนายราเมศ กล่าวต่อไปว่า ในประเด็นของกระบวนการพักโทษ แม้จะเป็นหลักการที่ราชทัณฑ์ใช้กับนักโทษทั่วไป แต่พี่น้องประชาชนมีความติดใจในเรื่องการจำคุกจริงหรือไม่ และในเรื่องนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เคยเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ กับคณะ ต่อสภาชุดที่ผ่านมา แต่ญัตติตกไปเนื่องจากหมดวาระของสภาฯ ดังนั้น ตนในฐานะกรรมการบริหารพรรค จะนำกฎหมายฉบับนี้มาปรับปรุงและเสนอต่อที่ประชุม สส. โดยจะให้มีการแก้ไขในเรื่องอำนาจในบางเรื่องของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรม และรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อพรรคพิจารณาแล้วจะได้ยื่นเป็นญัตติใหม่ในการประชุมสภาชุดนี้ สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ มองเห็นถึงปัญหาของการบังคับโทษในส่วนของกรมราชทัณฑ์ จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง เนื่องจากเมื่อศาลตัดสินไปแล้ว แต่ศาลไม่มีอำนาจในการพิเคราะห์พิจารณาว่าจะให้มีการลดโทษ หรือพักโทษ กับนักโทษคดีนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวควรจะมีโครงสร้างที่มีตัวแทนจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น “เราถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการป้องกันการใช้อำนาจโดยอำเภอใจโดยองค์กรบางองค์กร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ คุณทักษิณ จำคุกจริง-ไม่จริง ป่วยจริง-ไม่จริง รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจริง-ไม่จริง ทุกอย่างเป็นความลับหมด”ในส่วนของการแก้ไข พระราชบัญญัติดังกล่าว ก็เพื่อให้คงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ปลายทางของกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจของกรมราชทัณฑ์อย่างแท้จริง ซึ่งพรรคการเมืองก็ต้องมีวุฒิภาวะในการตรวจสอบ และดำเนินการให้บ้านเมืองมีกฎเกณฑ์ มีกติกาภายใต้ระบบนิติรัฐ ฉะนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากถูกด้อยค่าให้ลดน้อยถอยลงจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ก็แสดงว่ากำลังเกิดอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายแล้วอย่างไรก็ตาม นายราเมศ ยังระบุในช่วงท้ายด้วยว่า “ไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่าเป็นโรคเช่นเดียวกับ คุณทักษิณ ต่อไปอาจจะมีคนอ้างในระหว่างที่ถูกคุมขังได้ว่า ผมเป็นโรคคุณทักษิณ เมื่อเป็นโรคคุณทักษิณก็สามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีใครรู้ ไม่ต้องมีใครทราบว่าจะรักษาอย่างไร ผมไม่อยากให้เกิดทักษิณโมเดลในปลายทางของกระบวนการยุติธรรม”