Thursday, 19 December 2024

ร่องรอยของถนนและเกษตรกรรมคุกคามเมืองที่สาบสูญ

กลุ่มโบราณสถานที่เรียกว่า “ลอสต์ ซิตี้” (Lost City) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ธิวแดด เปอร์ดีดา” (Ciudad Perdida) เป็นแหล่งโบราณคดีอายุ ๒,๕๐๐ ปี ในยุคก่อนการค้นพบของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาลี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าฝนหนาทึบของเอกวาดอร์ เชื่อกันว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของอารยธรรมยัม (Yumbo civilization) โบราณ มีอายุย้อนกลับไปประมาณปีคริสต์ ศักราช ๘๐๐ ร่องรอยของ “นครที่สาบสูญ” ของชาวแอมะซอน ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ๒๕๒๑ ประกอบด้วย วิหาร ลานกว้างกลางแจ้ง ที่อยู่อาศัย ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า ๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในหุบเขาอูปาโน บริเวณเชิงเขาของเทือกเขาแอนดีส ทางตะวันออกของเอกวาดอร์ นักโบราณคดีได้ระบุเนินดินประมาณ ๗,๔๐๐ เนินที่มีรูปร่างต่างๆกันว่าสร้างขึ้นด้วยมนุษย์เมื่อหลายพันปีก่อน ที่แห่งนี้นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างมาก โดยให้ข้อมูลเชิงลึกอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตและแนวปฏิบัติของชาวพื้นเมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้ ทว่านครที่สาบสูญกำลังเผชิญภัยคุกคามจากการขยายถนนที่ทำให้เสี่ยงต่อการถูกปล้นสะดมและก่อกวนพื้นที่ อีกทั้งกิจกรรมเกษตรกรรมในพื้นที่โดยรอบได้นำมาซึ่งการตัดไม้ทำลายป่าและใช้ยาฆ่าแมลง สุ่มเสี่ยงต่อระบบนิเวศอันละเอียดอ่อนที่อยู่โดยรอบ การแผ้วถางที่ดินเพื่อการเกษตรจะทำลายสมดุลทางธรรมชาติ อาจนำไปสู่ความเสีย หายต่อแหล่งโบราณคดีอย่างถาวร เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้ องค์กรต่างๆ และหน่วยงานของรัฐบาลได้ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องและเร่งสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของพื้นที่และความจำเป็นในการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค มีการนำกฎระเบียบที่เข้มงวดมาใช้เพื่อควบคุมการก่อสร้างถนนและกิจกรรมการเกษตรใกล้กับแหล่งโบราณคดี รวมถึงริเริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้เป็นแหล่งรายได้ทางเลือกให้กับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อเมืองที่สาบสูญแห่งนี้ได้. อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่