Thursday, 19 September 2024

ทส.เปิดปฏิบัติการฝนหลวง-คุมเผา-แปรเชื้อเพลิงเป็นทรัพย์สิน แก้วิกฤติฝุ่นพิษ PM ๒.๕-ไฟป่า

ฝุ่นพิษ PM ๒.๕ ถึงวันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจและเป็นภัยเงียบในชีวิตปกติของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในแทบทุกพื้นที่ของประเทศไปแล้วนับตั้งแต่เดือน ตุลาคม๒๕๖๖ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องเผชิญกับ PM ๒.๕ อย่างหนัก ค่าฝุ่นเป็นสีแดง สีส้มมากกว่าสีเขียว สาเหตุมาจากฝีมือมนุษย์ในการเผาพื้นที่การเกษตร พื้นที่นาข้าวในจังหวัดภาคกลางรวมถึงมาจากโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งมลพิษที่เคลื่อนที่ได้ เช่น รถยนต์ ที่มีสัดส่วนกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือมาจากภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งในขณะที่อีกแหล่งกำเนิดของ PM ๒.๕ อย่าง “ไฟป่า” ในพื้นที่ภาคเหนือ “ไฟกลางคืน” ที่มีการลักลอบเผาป่ากำลังลุกลามในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติของ จ.เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง ตาก ฯลฯ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเผาภาคเกษตรก็ยังเกิดขึ้นมากมายฝุ่นพิษ PM๒.๕ ขยายวงจากกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลางสู่ภาคเหนือ ภาคอีสาน กลายเป็นวัฏจักรซ้ำซาก แต่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ในปี ๒๕๖๗ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหา PM ๒.๕ และไฟป่า ได้มีปฏิบัติการและทิศทางที่ก้าวหน้าขึ้นต่างจากปีที่ผ่านมา ที่เป็นมาตรการใหม่คือมาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน ๑๑ ป่าอนุรักษ์ และ ๑๐ ป่าสงวนแห่งชาติที่มีสถิติไหม้มากที่สุดในปี ๒๕๖๖ เพราะไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ป่ามากกว่า ๖๕ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เดิมการกำหนดเป้าหมายของการแก้ปัญหาจะใช้ขอบเขตพื้นที่จังหวัดและใช้จุดความร้อนหรือ hotspot เป็นตัวชี้วัดซึ่งมักจะไม่ประสบความสำเร็จที่สำคัญในปีนี้ มีการคุมเข้มการเผา ๓ ป่าสำคัญเหนือเขื่อนภูมิพล คือ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกันเป็นผืนใหญ่ขนาดกว่า ๒ ล้านไร่ รวมทั้งมีการจับกุมผู้ลักลอบเผาได้ในหลายพื้นที่ อาทิ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติแม่วะ จ.ลำปาง เป็นต้น รวมทั้งย้ายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบกพร่องตลอดจนการปิดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไปแล้ว ๓๗ แห่ง เพื่อไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในพื้นที่ ขณะที่กรมป่าไม้ลงพื้นที่รณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างเข้มข้น “ทส.ได้ยกระดับมาตรการแก้ปัญหา PM ๒.๕ และไฟป่าในทุกพื้นที่ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลระยะเร่งด่วน ได้ประสานกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ ขอให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำฝนหลวงในทันที ขณะเดียวกันได้ให้กรมควบคุมมลพิษที่มีข้อมูลเรื่องฝุ่นในมือ ชี้เป้าให้กับกรมฝนหลวงฯว่า ในแต่ละวัน หรือแต่ละสัปดาห์จะมีการเคลื่อนย้ายของฝุ่นไปจังหวัดใดบ้าง เพื่อให้กรมฝนหลวงฯ ประเมินความชื้นและเมฆหรือปัจจัยอื่นที่จะทำให้การทำฝนหลวงได้สำเร็จตามเป้าหมาย ขณะที่การแก้ฝุ่น PM ๒.๕ ในพื้นที่ที่เกิดจากไฟป่า ตั้งเป้าตรึงกำลังลาดตระเวนในพื้นที่ป่า ลดการเผาให้ได้ร้อยละ ๕๐ จากปี ๒๕๖๖ ใน ๑๑ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และ ๑๐ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เช่น ป่าศรีน่าน เขื่อนศรีนครินทร์ สลักพระ ถ้ำผาไท แม่ปิง ลุ่มน้ำปาย สาละวิน แม่จริม แม่ตื่น เป็นต้น โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จัดระเบียบควบคุมผู้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ หากเกิดการเผาต้องสนับสนุนกำลังและอุปกรณ์เข้าดับโดยเร็ว รวมถึงสอดส่องจับกุมดำเนินคดีกับผู้ลักลอบเผาอย่างจริงจังทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการทส.ในฐานะประธานกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน เปิดเผยถึงมาตรการแก้ปัญหา PM ๒.๕ และไฟป่าปี ๒๕๖๗ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณขณะเดียวกัน พล.ต.อ.พัชรวาท ยังมีข้อเสนอในเชิงทางเลือกและผลประโยชน์ให้กับชาวบ้านในการไม่เผาป่าและพื้นที่การเกษตร โดยมีการนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM ๒.๕ Free) มาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การจัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เหมาะสมในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรโดยนำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้และจัดตั้งศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือที่เรียกว่าการแปรเชื้อเพลิงให้เป็นเงินรวมทั้งการพิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหา PM ๒.๕ เป็นต้นด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. ว่า จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมดึงภาคเอกชนร่วมลงทุนในการแก้ไขไฟในป่าในพื้นที่ ๑๑ ป่าอนุรักษ์ ๑๐ ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การทำแผนลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงและการใช้มาตรการด้านการค้าและด้านภาษี เพื่อควบคุมภาคเอกชนของประเทศไทยที่ไปทำธุรกิจหรือนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น นายจตุพร บุรุษพัฒน์ “พล.ต.อ.พัชรวาทได้มีข้อสั่งการเร่งด่วนกรณีจุดความร้อนในพื้นที่ป่าทั้ง ๑๑ ป่าอนุรักษ์และ ๑๐ ป่าสงวนแห่งชาติ ขอให้กรมอุทยานฯและกรมป่าไม้ เฝ้าระวัง ควบคุม และดับไฟให้เร็ว สำหรับพื้นที่อื่นๆ ให้ ทสจ.และ สคพ.เป็นหูเป็นตา โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตร หากพบการเผาต้องแจ้งจังหวัด จับดำเนินคดีตามมาตรการทุกกรณีและให้สื่อสารสร้างการรับรู้ สร้างความร่วมมือและความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้งดการเผา งดการเข้าป่า พร้อมหาแหล่งทุนอื่นเข้าร่วมชดเชย รวมถึงร่วมแจ้งเบาะแสการเผาแก่เจ้าหน้าที่ ที่สำคัญขอให้เตรียมการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่เกิดไฟไหม้ไปแล้วให้กลับคืนสภาพสีเขียวเร็วที่สุด” ปลัด ทส. กล่าวนั่นหมายถึงมาตรการป้องกันฝุ่น PM ๒.๕ และไฟป่า ทส.เน้นควบคุมป้องกันใน ๓ พื้นที่แหล่งกำเนิดหลัก ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เมืองรวมถึงหมอกควันข้ามแดน“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่ามาตรการแก้ปัญหา PM ๒.๕ และไฟป่าของ ทส.มีปฏิบัติการและทิศทางที่ก้าวหน้าและดีขึ้น แต่สิ่งที่เราอยากจะฝากคือการต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้กระทำผิดเพราะการขอความร่วมมือหรือรณรงค์ไม่ให้เผาหรือไม่ให้ก่อมลพิษอย่างเดียว คงไม่สามารถแก้ปัญหาที่กำลังลุกลามเหมือนไฟลามทุ่งได้คงมีแต่การเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเท่านั้น จึงจะหยุด PM ๒.๕ และไฟป่าได้. ทีมข่าวสิ่งแวดล้อมอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่