Sunday, 19 January 2025

“เศรษฐา” ย้ำ กำลังเร่งโครงการแจกเงินหมื่น จี้ ธปท. ถึงเวลาลดดอกเบี้ยแล้ว

นายกฯ ยันพยายามเร่งเงินดิจิทัลให้เร็วที่สุด ต้องรับฟังความเห็นที่ส่งมา มอง GDP ไทยต่ำกว่าคาด เพราะไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามา กระตุก กนง.-ธปท. ถึงเวลาแล้วลดดอกเบี้ย เพราะไม่ต้องใช้งบฯ ยันไม่ได้ต้องการเอาชนะ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่ จ.อุดรธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการคลัง กล่าวถึงกรณีโครงการเติมเงิน ๑ หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตก็พยายามที่จะออกมาให้เร็วที่สุด อย่างที่ตนบอกไปมีทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา และหลายคนก็เสนอมาก็ต้องรับฟัง ถ้าตนไม่รับฟังเดี๋ยวพวกท่านก็มาบอกอีกว่าไม่รับฟัง ก็พยายามทำให้อยู่ในกรอบเวลาให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็บอกแล้วว่าเพิ่งเห็น ก็ขอเวลา ซึ่งตนก็ยินดีมีอะไรก็บอกมา ก็ยินดีรับฟัง เมื่อถามต่อว่าที่ผู้ว่าฯธปท. ขอเวลาไม่ได้บอกขอเวลาเท่าไรใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนก็บอกขอเร็วที่สุดแล้วกัน ให้ได้ภายใน ๓๐ วัน อีก ๑-๒ สัปดาห์ค่อยมาว่ากัน ทั้งนี้ หากทุกคนเห็นด้วยและพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่มีการทุจริตประพฤติมิชอบ ก็จะพยายามทำให้เร็วที่สุด อยากจะให้เกิดขึ้น ภายในเดือน พ.ค. และนโยบายอื่นก็พยายามดำเนินการอยู่นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ ๔ ทั้งปี ๒๕๖๖ และแนวโน้มปี ๒๕๖๗ โดยเป็นตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า และต่ำกว่าที่ตลาดคาด โดยมี GDP ขยายตัวเพียง ๑.๗% โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องนี้ได้พูดหลายครั้งแล้ว ๑๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเรามี GDP โตต่ำกว่า ๒% และต่ำกว่าเพื่อนบ้าน รวมไปถึงอันดับ GDP โลกก็หล่นลงมาเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันนี้รัฐบาลก็ยังไม่สามารถใช้งบงบประมาณได้ โดยเร็วที่สุด น่าจะเป็นช่วงวันที่ ๑ เมษายน แต่ว่าทุกกระทรวงใช้นโยบายเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น พักหนี้ แก้ไขหนี้ในและนอกระบบ วีซ่าฟรี และอีกหลายๆ เรื่องที่รัฐบาลพยายามใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เราต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้าไปภายในระบบ ไม่ใช่แค่ตัวเลข GDP ที่โต ๑.๗% หรือเฉลี่ยทั้งปีไม่สูงกว่า ๒% ซึ่งที่ผ่านมาทุกสำนักก็มีการทำนายปรับลดลงตลอดเวลาทุกเดือนที่ออกมา ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีการทำนายที่ชัดเจนมากกว่านี้ ไม่ใช่ปรับลดลงทุกเดือน ส่วนปัจจัยที่ GDP ต่ำกว่าที่คาดการณ์นั้นเกิดจากอะไร มองว่าเกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เนื่องจากไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามา ไม่ใช่แค่ GDP อย่างเดียว และภาคการผลิตก็มีตัวเลขต่ำมาก มีการใช้อยู่ประมาณ ๕๐% สมมติว่าโรงงานผลิตได้ ๑๐๐ ก็มีการใช้ไม่ถึง ๖๐% แล้วจะมีกำไรได้อย่างไร และมี Margin ที่ไม่ Cover แสดงว่าโรงงานที่กำลังผลิตอยู่ตอนนี้ไม่มียอดสั่งซื้อเข้ามา เพราะว่ามีกำลังซื้อต่ำ และหนี้ครัวเรือนที่สูง รายได้ไม่มี เงินในกระเป๋าไม่มี ในขณะที่เรื่องของรายจ่ายสูง รัฐบาลก็ได้ช่วยเหลือไปแล้ว และออกนโยบายไปแล้ว เช่น เรื่องของลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ลดค่าไฟฟ้า ซึ่งอะไรที่รัฐบาลทำได้ก็ทำตลอด อย่างไรก็ตาม อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ ก็คือเรื่องของลดนโยบายดอกเบี้ย เพราะเรื่องนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ ๒.๕ หากลดไปสลึงหนึ่งก็จะเหลือ ๒.๒๕ ก็จะสามารถช่วยบรรเทาลดภาระของประชาชนได้ แต่ กนง.ไม่ลดกัน ในขณะเดียวกัน เรื่องของดอกเบี้ยนายกรัฐมนตรีได้พูดมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนจะไม่มีเสียงตอบรับ ซึ่งในมุมมองของตนก็อยากให้ทุกคนออกมาพูดเรื่องนี้ ก่อนที่จะถามผู้สื่อข่าวว่า ผู้ควบคุมนโยบายดอกเบี้ยใครเป็นผู้ควบคุม โดยบอกให้ผู้สื่อข่าวพูดดังๆ ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ซึ่งก่อนหน้านี้ตนก็ได้คุยกับเลขาธิการสภาพัฒน์ ได้บอกว่าได้ทำทุกอย่างแล้ว เชื่อว่าหากลดนโยบายดอกเบี้ยไปเหลือ ๒.๒๕ และหากช่วงเวลานั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ยังมีช่องว่าง ที่จะสามารถลดลงไปได้อีก คิดว่าการลดดอกเบี้ยไปก่อนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน “ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมั้ง” ซึ่งตนได้สอบถามเลขาธิการสภาพัฒน์ ไปว่าเรื่องของการลดดอกเบี้ยคิดเห็นอย่างไร ซึ่งท่านก็บอกว่าสมควรลด แต่ตนจึงถามกลับว่าทำไมถึงไม่พูดต่อหน้าสาธารณชนบ้าง ซึ่งคิดว่าควรที่จะต้องพูดอย่างชัดเจน เพราะว่าตน เลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้ว่า ธปท. ต่างจบเศรษฐศาสตร์มาด้วยกันทั้งสิ้น ยืนยันว่าไม่ได้มาเพื่อเอาชนะกัน เพียงอยากจะถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมีการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้น เพื่อรองบประมาณที่กำลังจะคลอดออกมา และขอยืนยันว่าตนไม่ได้จมปลักแต่เรื่องการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องนี้จะสามารถแบ่งเบาลดภาระของพี่น้องชาวไทยทุกคนได้