Sunday, 19 January 2025

๓ ปี รัฐประหารเมียนมา ชาติพันธุ์บีบเปลี่ยนพม่า

ครบรอบ ๓ ปี รัฐประหารเมียนมา “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร” ก็ยังไม่สามารถสร้างเสถียรภาพความสงบในประเทศได้ ทั้งยังต้องเผชิญแรงกดดันต่อต้านจากฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย และกลุ่มชาติพันธุ์อย่างหนักหน่วงที่ไม่มีท่าทีจะยอมแพ้เลยด้วยซ้ำ นับตั้งแต่ “กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ” เปิดปฏิบัติการ ๑๐๒๗ โจมตียึดฐานที่มั่นในหลายเมืองทางตอนเหนือรัฐฉานตั้งแต่เดือน ตุลาคม๒๕๖๖ “ส่งผลให้กองทัพเมียนมาเพลี่ยงพล้ำสูญเสียจุดยุทธศาสตร์หลายแห่ง” เป็นความคาดหวังสำคัญให้ “กลุ่มชาติพันธุ์เคลื่อนไหว” โค่นล้มระบอบเผด็จการทหารมาจนทุกวันนี้กระทั่งรัฐบาลต้องยกระดับการรักษาความปลอดภัย “ขยายสถานการณ์ฉุกเฉิน ๖ เดือน” นับแต่วันที่ ๓๑ มกราคม๒๕๖๗ เพื่อทำภารกิจจำเป็นให้เกิดเสถียรภาพและความสงบสุขของประเทศ ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งใหม่ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้เร็ววันนี้ ตามที่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาให้สัญญาจะจัดขึ้นใน ๑ ปี หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์๒๕๖๔เหตุนี้จุดเปลี่ยนเมียนมาจะเป็นอย่างไรต่อนั้น รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า หลังรัฐประหาร ๓ ปีมานี้เมียนมาเปลี่ยนไปเยอะมาก โดยเฉพาะบทบาทการเคลื่อนไหว “กลุ่มชาติพันธุ์จับมือกับกลุ่มรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)” ออกมาร่วมกันต่อต้านกองทัพเมียนมาอย่างหนักลักษณะรูปแบบต่างจากครั้งเมื่อปี ๒๕๓๑ “หลังกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารแล้วยังบริหารผ่านส่วนกลางได้” แต่ปัจจุบันภาพเหล่านั้นถูกลบไปจากกระแสดิจิไทเซชัน (Digitization) เข้ามาเปลี่ยนแปลงการต่อสู้ให้เป็นรูปแบบที่เรียกว่า “กองจรยุทธในเมือง” ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้เกือบหมด รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์นฤมล ทับจุมพลตั้งแต่รัฐยะไข่ คะฉิ่น ฉาน กะเหรี่ยงแดง กะเหรี่ยง มณฑลตะนาวศรี และรัฐมอญ แล้วก็ดูเหมือนว่า “กลุ่มต่อต้าน” พยายามบีบให้รัฐบาลทหารต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวจำกัดให้อยู่เฉพาะตอนในอย่าง “มณฑลย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และพะโค” ที่เป็นเขตปกครองภายใต้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารนั้นสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น “กลุ่มชาติพันธุ์สามารถยึดพื้นที่รอบนอกได้มากขึ้น” อาจส่งผลให้กองทัพเมียนมาคงเหลือพื้นที่การปกครองเฉพาะเพียง ๗ มณฑลเท่านั้น ถ้าอธิบายให้เห็นภาพชัดๆ “เมียนมาเปรียบเสมือนเป็นไข่ดาว” บริเวณไข่ขาวกำลังถูกยึดไปเรื่อยๆ “คงเหลือไข่แดงเล็กๆ” ยังเป็นพื้นที่เขตอิทธิพลของรัฐบาลทหารสะท้อนเห็นว่ารัฐบาลทหารกำลังถูกบีบให้เปลี่ยนแปลงได้ ๒ ทาง คือ ทางแรก…“ยกระดับความรุนแรง” ด้วยการระดมโจมตีทางอากาศพื้นที่ที่ถูกยึดครองไปให้หนักขึ้น แต่โอกาสจะได้ฐานที่มั่นทางทหารคืนแบบเดิมคงเป็นไปได้ยาก เพราะในแง่กายภาพทางทหารราบ “กลุ่มชาติพันธุ์” โจมตียึดเป็นฐานที่มั่นทางทหารเกือบหมดแล้วสังเกตจาก “เมียวดี” แม้กองทัพเมียนมาจะครอบครองอยู่ก็ตามแต่หากเข้าไปถึง “เกาะมาร์กาเร็ต–พะอัน” พื้นที่ตรงนี้ได้กลายเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าโจมตียึดครองไปไม่นานนี้ เช่นเดียวกับ “ตะนาวศรี” เป็นเขตปกครองกองทัพเมียนมาจริง แต่หากเข้าไปถึงทวายก็เป็นเขตอิทธิพลของกลุ่ม PDF ควบคุมเรียบร้อยเหมือนกันทำให้กองทัพเมียนมาเหลือ เขตปกครอง บริเวณพื้นที่ตอนในประเทศที่กำลังถูกบีบให้เล็กลงเรื่อยๆ ถัดมาทางที่สอง…“เมียนมาเปลี่ยนเป็นสหพันธรัฐ” ตอนนี้กลุ่มชาติพันธุ์ตกลงตรงกันในการจัดการกองทัพเมียนมาเป็นหลักสำคัญ “เพื่อกระบวนการสร้างสหพันธรัฐ” ส่วนหน้าตาเป็นแบบใดคงต้องตามกันต่อ ฉะนั้นแนวคิดที่ว่ากองทัพเมียนมาเปิดทางเลือกตั้งใหม่ “พรรค NUG” จะกลับคืนเป็นรัฐบาลอีกครั้งภาพนี้อาจเกิดขึ้นได้ยากเพราะตลอด ๓ ปีหลังรัฐประหารนั้น “ภูมิรัฐศาสตร์ของเมียนมาได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง” ดังนั้นถ้ารัฐบาลทหารตัดสินใจถอยหลัง “เปิดการเจรจา” ย่อมทำให้บนโต๊ะการพูดคุยนี้จะมิใช่มีเพียง ๒ ฝ่ายต่อไปเท่านั้น แต่จำเป็นต้องดึงกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาร่วมอยู่ด้วยประเด็นคือกว่าจะถึงจุดนั้น “สงครามสู้รบจะรุนแรงมากขึ้น” สิ่งนี้กลายเป็นความท้าทายให้ประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่เคยพบเจอว่า “ความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมา” จะนำไปสู่การปราบปรามประชาชนรุนแรงเท่าครั้งนี้ เพราะถ้าดู https://aappb.org/ สรุปตัวเลขนักโทษทางการเมืองหลังรัฐประหารอย่างวันที่ ๙ กุมภาพันธ์๒๕๖๗ นักโทษถูกจับกุมทั้งสิ้น ๒๖,๐๓๘ คน จำคุก ๒๐,๐๗๑ คน ถูกสังหาร ๔,๕๐๗ คน ฉะนั้นตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า “กองทัพเมียนมาใช้ความรุนแรงมากขึ้น” เช่นนี้กระบวนการประนีประนอมก็ยากจะเกิดขึ้นได้ “ประเทศเพื่อนบ้าน” ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย บังกลาเทศ ย่อมมีบทบาทสำคัญต่อการจัดการความขัดแย้งนี้โดยเฉพาะ “จีนและไทย” อย่างการประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง “จีน” เสนอตัวเป็นผู้ประสานสร้างระเบียงมนุษยธรรม แล้วไม่น่าเชื่อจู่ๆ “เมียนมากลับตอบรับ” ด้วยที่ผ่านมาไม่เคยสนใจเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งอาจเพราะถูกปิดล้อมไม่อาจขยับทุ่มเทสรรพกำลังในการรบทั้งประเทศได้เหมือนอดีตจนไม่มีทางเลือกอื่น ทว่าในส่วน “บทบาทประเทศไทย” แม้เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่สุดและไม่อาจแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้านได้ “แต่อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่” ด้วยการดึงองค์กรผู้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดอื่นมาร่วมในการผลักดันแนวคิดระเบียงมนุษยธรรมอันจะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ จ.ตาก บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาด้วยมีเงื่อนไขว่า “ต้องไม่ดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ” เพราะด้วยรัฐเมียนมาไม่สามารถปกครองตัวเองได้ ดังนั้นต้องเปิดทางให้ระดับท้องถิ่น องค์กรชาติพันธุ์ ภาคประชาสังคมมามีบทบาทในการดำเนินงานนี้ “โชคดีมีข่าวพูดกันว่าจะทำงานผ่านกาชาดเมียนมา-กาชาดไทย” แต่อาจต้องดึงองค์กรศาสนาที่ยอมรับทุกฝ่ายเข้ามาร่วมด้วยเพื่อให้ระเบียงมนุษยธรรมสามารถเกิดขึ้นได้จริง อย่างเช่นกรณียุคเขมรแดง “ประเทศไทย” ก็เคยเปิดระเบียงมนุษยธรรม สมัยนั้นองค์กรระดับท้องถิ่น องค์กรศาสนา องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นคนกลางของความขัดแย้งที่ได้รับการยอมรับเข้ามาทำงานด้านนี้จนประสบความสำเร็จแน่นอนว่า “ฝ่ายความมั่นคงไทยต้องกังวลกับระเบียงมนุษยธรรม” ด้วยปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยหนีจากความขัดแย้งในเมียนมาตกค้างในค่ายอยู่มากมาย “ทำให้เกรงกันว่าหากเปิดศูนย์มนุษยธรรมอีกจะมีผู้ตกค้างเพิ่มขึ้น” แต่ความจริงเรื่องนี้แม้จะเปิดหรือไม่ก็ตาม “ผู้หนีภัยสงคราม” ก็ยังคงหลบหนีเข้ามาในไทยอยู่ตลอดเมื่อเป็นเช่นนี้ “ประเทศไทย” ต้องจัดระบบด้วยการปล่อยให้ภาคประชาสังคมเข้ามาดำเนินการกันเอง “กองทัพไทย” อาจควบคุมจำกัดการใช้พื้นที่ที่เหมาะสมเท่านั้น เช่น กรณีค่ายผู้ลี้ภัยเขมรเขาอีด่าง “รัฐไทย” ก็ปล่อยให้องค์กรระหว่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการเพราะมีงบประมาณ และบุคคลากรเพียบพร้อม ฉะนั้นกระทรวงต่างประเทศอาจทำงานผ่านกาชาดไทย-กาชาดเมียนมา หรือองค์กรระหว่างประเทศได้ “ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าภาพ” เพราะถ้าปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านเกิดความไม่สงบเช่นนี้ย่อมกระทบไทยไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะการนำเข้าแรงงานแบบ MOU อาจต้องทำผ่านวันสต็อปเซอร์วิสในย่างกุ้งส่งมาทางเครื่องบินแทนสุดท้ายตลอด ๓ ปีหลังรัฐประหาร “การสู้รบในเมียนมายังคงรุนแรง” แต่มีข้อดีในแง่อำนาจต่อรองภายในค่อนข้างเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก “รัฐบาลทหารถูกบังคับให้ต้องเจรจาเพื่อนำไปสู่เมียนมาใหม่” สิ่งนี้จะทำให้สถานการณ์แนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆแต่ต้องใช้เวลาอย่าง ๖ ปีในการขับเคลื่อนกระบวนการสหพันธรัฐแห่งเมียนมานั้นนับแต่นี้คงต้องเป็นหน้าที่ “อาเซียนต้องแสดงบทบาทตัวกลาง” โดยเฉพาะประเทศไทยอาจต้องเข้าไปหาบันไดลงให้กับกองทัพเมียนมา “เพื่อก้าวข้ามวิกฤติความขัดแย้งในครั้งนี้” ทั้งต้องคิดหาประตูทางออกหนีไฟ เพื่อนำไปสู่ระเบียงมนุษยธรรมลักษณะแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วยนี่คือสถานการณ์ในเมียนมาตลอด ๓ ปี “หลังรัฐประหาร” การสู้รบยังมีแนวโน้มรุนแรง ดังนั้นการก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ “เมียนมาต้องแก้ปัญหาจากภายในประเทศ” ส่วนอาเซียนเป็นองค์กรภายนอกคอยทำหน้าที่ผลักดัน และสนับสนุนก่อให้เกิดการเปลี่ยนยุติความรุนแรงนั้น.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม