Sunday, 19 January 2025

สภาฯ คว่ำ พระราชบัญญัติรับรองทางเพศ คำนำหน้านาม-“อนุสรณ์” ร้องเพลง "กะเทยประท้วง"

สภาฯ ถก กฎหมายรับรองเพศ คำนำหน้านาม ลงท้าย พระราชบัญญัติถูกคว่ำ เห็นด้วย ๑๕๒ เสียง ไม่เห็นด้วย ๒๕๖ เสียง งดออกเสียง ๑ ไม่ลงคะแนน ๑ อภิปรายกว้างขวาง “ครูธัญ” ย้ำ ต้องคืนเจตจำนงการระบุเพศให้ LGBTQ-“อนุสรณ์” ร้องเพลง “กะเทยประท้วง-ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ” กลางสภาฯวันที่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๖๗ ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ…. เสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระ นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.กาญจบุรี พรรคเพื่อไทย เสนอให้เจ้าของร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าว พิจารณาถอนร่าง พระราชบัญญัติฯ ออกไปก่อน เพื่อรอร่างของภาคประชาชนที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันที่จะเสนอเข้ามา ถึง ๒ ฉบับ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งที่อยู่ในกลุ่ม LGBTQ และไม่ได้เป็น LGBTQ เพื่อให้กฎหหมายเป็นของทุกกลุ่มแต่นายธัญวัจน์ ยืนยันไม่ถอนร่างฯออก เนื่องจากเห็นว่า เราสามารถสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมได้อยู่แล้ว และเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศรออยู่ เราก็ควรจะต้องผลักดัน และสภาฯ ก็เปิดกว้างอยู่แล้ว และเรื่องนี้มีการผลักดันกันตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ แล้ว ทำให้ที่ประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต่อ โดยนายธัญวัจน์ ชี้แจงเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งผลให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเอกสารของรัฐไทย ยังกำหนดให้ใช้คำนำหน้านามซึ่งถือตามเพศกำเนิดได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้หลากหลายทางเพศอื่นประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การจะตัดสินใจกำหนดวิถีทางเทศ และกระทบต่อการดำเนินชีวิต จึงสมควรมีกฎหมายออกมาคุ้มครองนายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า หากเราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้างสังคมใหม่ เราจำเป็นต้องคืนเจตจำนงเรื่องของการระบุเพศให้กับพวกเขา เรื่องเพศเป็นเรื่องสำนึกภายในที่จะบอกตนเองได้ว่าตัวเองเป็นอะไร และอยากจะดำเนินชีวิตอย่างไร ทั้งวิถีและการแสดงออก โดยหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ Self-Determination หรือการกำหนดเพศด้วยตัวเอง นี่คือจุดเริ่มที่เราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้าง และมีอีกหลายก้าวสำคัญที่ต้องผลักดันเพื่อให้สังคมได้โอบรับกับความหลากหลาย เพราะเพศมีคำอธิบายมากกว่าเรื่องของร่างกายและกายภาพซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ได้นิยามอัตลักษณ์ทางเพศว่า คือการที่บุคคลหนึ่งรับรู้ต่อตนเองว่าคือใคร และเป็นเพศอะไร ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมกำหนดหรือไม่ก็ได้ หมายรวมถึงการแสดงออกทางเพศด้วย ทำให้เราจำเป็นต้องออกกฎหมายที่คำนึงถึงเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่แค่เพศสภาพทางเพศเท่านั้นจากนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นโดย สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุน ขณะที่ สส.พรรครัฐบาลทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ อภิปรายคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ อาทิ นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การออกกฎหมายใดๆ จะต้องสอดคล้องกับบริบทสังคมหากกฎหมายใดสุดโต่งเกินกว่าความต้องการของสังคมกฎหมายนั้นก็จะไม่สร้างประโยชน์ แล้วจะไม่ตอบโจทย์สภาพสังคมได้ อาจจะสร้างปัญหาตามมา ที่ผ่านมา สภาฯ ได้มีการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียม และได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อใช้สิทธิเสรีภาพในการสมรสรับรองความเป็นคู่สมรสของคน ๒ เพศ และเพศเดียวกัน ซึ่งตนอภิปรายสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะคิดเสมอว่า ไม่ว่าใครบนโลกใบนี้ต่างก็มีความรัก ไม่ควรถูกปิดกั้นเพราะเป็นเพียงแค่เกิดมาเป็นเพศใดเพศหนึ่ง นายธีระชัย กล่าวต่อว่า คำนำหน้าชื่อไม่ว่า จะเป็นนาย นาง นางสาว ที่เป็นการแบ่งเพศตามสภาพมาตั้งแต่กำเนิด ตนมีความห่วงใยและความกังวลในการเปลี่ยนได้ตามความสมัครใจ เพราะในต่างประเทศสามารถให้เปลี่ยนคำนำหน้าได้ มีกฎ มีเงื่อนไข ยากง่ายแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนทุกคนควรมีสิทธิ์ได้เลือกความเป็นตัวเอง หากเขาไม่สะดวกที่ต้องใช้คำนำหน้าที่ไม่ตรงกับเพศสภาพในปัจจุบัน ตนคิดว่า เขาควรมีสิทธิ์เลือกไม่ใส่คำนำหน้านามก็ได้ แต่ขอยกตัวอย่าง เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ การเปลี่ยนคำนำหน้าไม่ได้จะเปลี่ยนกันง่าย ต้องพบจิตแพทย์ ต้องทำหมัน เพื่อกันกรณีถูกข่มขืนและตั้งท้อง แล้วประเทศเราจะใช้หลักอะไร ซึ่งถือเป็นข้อกังวล เพราะอาจเป็นต้นเหตุของการก่ออาชญากรรม เช่น การเปลี่ยนเพื่อไปหลอก ลวนลามบุคคลอีกเพศ เพื่อบอกว่าเป็นเพศเดียวกันทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๗ ก.พ. ที่ผ่านมา ตนได้ไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำอุดรธานี กับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม ได้ไปเห็นการแบ่งแยกนักโทษชาย-หญิง ถ้าสมมติว่า เพศทางเลือกได้กระทำผิด ซึ่งเขามีจิตใจไม่ตรงกับเพศสภาพ แล้วเขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เขาต้องอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังชายหรือหญิง”ผมเห็นบางคนเพศสภาพอาจจะเป็นชาย แต่จิตใจเขาเป็นผู้หญิง พอเขาเข้าไปในเรือนจำ คนพวกนี้จะมีสภาพจิตใจอย่างไร เพราะนมก็ยังไม่ได้เอาออก ต้องตัดผมสั้นอีก อย่างนี้เราจะให้เขาได้รับสิทธิ์เลือกหรือไม่ หรือสามารถเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งได้หรือไม่ เพราะจะต้องใช้สถานที่ ผมเป็นคนคิดมาก แม้สนับสนุนเรื่องแบบนี้มาโดยตลอด แต่ผมเป็นห่วงว่าแต่ละคนสภาพไม่เหมือนกัน บางคนสามารถเตะก้านคอผู้ชายสลบ อย่างนี้ก็มี แต่เขาสามารถแปลงเพศได้ อรชรอ้อนแอ้น อย่างนี้เปลี่ยนแล้วจะมีความเป็นธรรมหรือเปล่า เพราะการจะสร้างความเป็นธรรม เท่าเทียมเราสามารถสร้างได้ด้วยตัวเองมากกว่า เราสามารถผลักดันให้ผู้มีอำนาจใช้กลไกทางกฎหมายสร้างความเป็นธรรมให้ได้เป็นรูปธรรมได้ดียิ่งกว่าการเปลี่ยนนายเป็นนาง หรือเปลี่ยนนางเป็นนาย ผมไม่อยากมองว่า แค่คำนำหน้านาม นาย นาง นางสาว เด็กชาย เด็กหญิง เป็นกรอบกำหนดในชีวิต เพราะไม่ว่าท่านจะเป็นนาย นาง นางสาว หรือมนุษย์ เสมอภาคกันทุกคน เพราะก็คนเหมือนกัน ผมเชื่อว่าถ้าคนเรารักกันจริง คำนำหน้านามไม่จำเป็นต้องเอามาเป็นกำแพงปิดกั้นความรัก ถ้าเราเอานาย นาง นางสาว มาเป็นอุปสรรค เพื่อปิดกั้นความรัก ผมว่ามันไม่ใช่ความรัก ดังนั้นหากจะทำกันจริงๆ ขอให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้ “นายธีระชัย กล่าว ส่วนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่สภาฯ เปิดพื้นที่ให้กับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพมนุษยชน และรู้สึกเท่ ที่สภาไทยพูดถึงเทรนด์ของโลก กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีหลายเรื่องที่ให้ความเป็นธรรม เช่น นิติสินสมรส และเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่นๆ แต่พอมาดูเรื่องของคำเปลี่ยนคำนำหน้านาม เราต้องรับฟังให้รอบ อย่าเหาะเกินลงกา ไปไกลชนิดที่ว่า สุดลิ่มทิ่มประตู และจะทำให้สร้างปัญหาต่อ ก่อปัญหาใหม่ และการที่เราจะภาคภูมิใจหรือไม่ภาคภูมิใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้คำนำหน้าว่าอะไร“คงไม่ใช่ว่าปกติเป็นคนหม่นหมองตรอมเศร้า ผลไม้ที่ชอบคือระกำ ปลูกดอกไม้ก็ปลูกดอกลั่นทม ฉันจะปลูกหญ้า เมื่อปลูกหญ้าก็ตรอมใจ เป็นคนประเภท ระทม ระกำตรอมใจ แต่พอเปลี่ยนคำนำหน้านามแล้วจะลุกมาแฮปปี้ชนิดที่ว่า เปลี่ยนปุ๊บแฮปปี้ปั๊บ คงไม่ใช่เช่นนั้น แต่ความภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือเป็นหญิง หรือจะเป็น LGBTQ เราสามารถภาคภูมิใจได้” นายอนุสรณ์ กล่าวทั้งนี้ นายนายอนุสรณ์ ได้ร้องเพลง “กะเทยประท้วง” ของ “ปอยฝ้าย มาลัยพร” กลางสภาฯ ว่า “ฉันภูมิใจ ภูมิใจที่เป็นกะเทย ไผสิเว้าเยาะเย้ย กะส่างเถาะเว้ย กะส่างเถาะเว้ยปากคน” พร้อมระบุว่าเป็นกะเทยก็ภาคภูมิใจได้แล้ววันนี้คำว่ากะเทย คำที่บ่งบอกถึงเพศสภาพที่ ๓, ๔, ๕ ไม่ใช่สิ่งที่จะไปบูลลี่กัน ไม่ใช่คำที่ฟังแล้วถูกประณามหยามหมิ่น สังคมเราเป็นประเทศที่เปิดรับและเปิดกว้างกับคำหลากหลายทางเพศ ดังนั้นสิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ เราจะเป็นชายจริงหญิงแท้ LGBTQ เราควรจะภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น ตนเชื่อมั่นว่าเราจะใช้คำนำหน้าว่าอย่างไรเราก็ภาคภูมิใจได้ก่อนที่เราจะเรียกร้องให้คนอื่นเคารพเรา เราควรเคารพผู้อื่นก่อน ก่อนที่เราจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับตนเอง เราหันไปมองรอบด้านเสียก่อนว่า สิทธิ์ที่เราเรียกร้องนั้นได้ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือไม่ และต้องระมัดระวังผลกระทบ ที่จะตามมาอย่างที่ “ดา เอ็นโดรฟิน” ได้ร้องเพลงไว้ว่า “ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ” ซึ่งหากเปลี่ยนคำนำหน้านาม จะไม่ได้หยุดแค่ที่ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ แต่จะกลายเป็นไม่รู้จักชายไม่รู้จักหญิง ไม่รู้จัก LGBTQขณะที่ น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งตนเกิดมาด้วยเพศหญิง วันนี้ขอพูดเลยว่าตนใช้ชีวิตเหมือนเด็กผู้ชายมาตลอดตั้งแต่เด็กมีความรู้สึกชอบและรักเพศหญิงมาตั้งแต่เด็ก และใช้ชีวิตแบบนี้มาเป็นปกติ จนกระทั่งวันนี้อายุ ๔๖ ปีแล้ว ตนภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้อยากจะเปลี่ยนคำนำหน้าเป็นผู้ชายแต่อย่างใด แต่เวลาที่เราไปติดต่อราชการ หรือเวลาแนะนำตัวเอง จะต้องมีการหันกลับมามองทุกครั้งและมีความไม่แน่ใจว่า ตกลงเราผู้ชายหรือผู้หญิงกันแน่ เมื่ออ่านในใบสมัครข้าราชการหรือเอกสารราชการคำนำหน้าขึ้นด้วยนางสาว ซึ่งจะมีเสียงซุบซิบนินทาตามหลังมาเสมอ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไรมากหมายแต่ก็เป็นเรื่องที่น่ารำคาญใจ และบางครั้งตอนที่เรายังไม่ได้คุยกับใครทุกคนก็ไม่ได้มองถึงขอบกพร่องตรงนี้ แต่เมื่อเริ่มคุยและลงท้ายด้วยค่ะ สิ่งที่ตามมาคืออคติของคนที่คุยกับเรา และมักจะมีคำนินทาตามหลังเสมอว่า ไอ้ทอม อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นคำพูดที่ค่อนข้างทำร้ายจิตใจ ผู้ใหญ่ที่ค่อนข้างเป็นเป็นหัวอนุรักษ์โบราณก็ไม่อยากคุยกับไอ้ทอม ซึ่งงานที่ไปติดต่อก็เป็นประโยชน์แต่โดนเหยียดทางอัตลักษณ์ทางเพศ ส่วนนายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขอพูดจากก้นบึ้งของหัวใจจากผู้หญิงข้ามเพศ อายุ ๕๑ ปี ตนเจ็บปวดกับคำนำหน้านามว่า นาย มาตลอดชีวิต นี่เป็นความฝันสูงสุดของตนสิ่งหนึ่งกับการที่จะได้เปลี่ยนคำนำหน้าให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนในปัจุบัน ตนฝันสิ่งนี้มานาน ความฝันของตน คือ การได้เป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งตนได้บรรลุความฝันเป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ไปหลายสิบปีแล้ว แต่ความฝันที่สองที่สูงสุด คือ ออกจากความจากความเจ็บปวดที่ตนถูกเรียกว่า นาย ทุกครั้ง และใครที่ไม่ได้เป็นบุคคลข้ามเพศไม่มีทางเข้าใจสิ่งนี้ ดังนั้นขอให้สภาฯ มาร่วมกันถกเถียงปรับแก้ในจุดที่มีปัญหา และขอวิงวอนจากหัวใจของหญิงข้ามเพศที่รอสิ่งนี้มานานตลอดชีวิตหลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมลงมติ เห็นด้วย ๑๕๒ เสียง ไม่เห็นด้วย ๒๕๖ เสียง งดออกเสียง ๑ เสียง ไม่ลงคะแนน ๑ เสียง ถือว่าที่ประชุมไม่รับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้.