Thursday, 19 December 2024

ปลูกหม่อน..ร้อนแล้ง ระวังเพลี้ยไฟบุกสวน

22 Feb 2024
111

พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม แจ้งเตือนเกษตรกรป้องกันต้นหม่อนจากเพลี้ยไฟ เนื่องจากสภาพอากาศในระยะนี้อยู่ในภาวะร้อนแล้ง เอื้อต่อการระบาดของเพลี้ยไฟเข้ามาทำลายต้นหม่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงที่มีเพลี้ยไฟระบาดรุนแรงในรอบปี แต่การระบาดจะลดลงในช่วงที่มีฝนตกชุก“เพลี้ยไฟสามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดปี ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะมาดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นหม่อน โดยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบหม่อน โดยเฉพาะใบอ่อนที่ยอดหม่อน ส่งผลให้ใบกร้าน ยอดและใบแคระแกร็น บางครั้งใบจะหงิก ใบม้านเข้าหากิน ใบที่กร้านสังเกตใต้ใบจะมีสีน้ำตาลและใบจะหลุดร่วง” อธิบดีกรมหม่อนไหมแนะว่า ในระยะนี้ให้เกษตรกรสำรวจแปลงหม่อนอย่างสม่ำเสมอ ไถพรวนดินในแปลงหม่อน เพื่อกำจัดวัชพืชซึ่งเป็นแหล่งขยายพันธุ์และหลบซ่อนของเพลี้ยไฟหากพบการระบาดของเพลี้ยไฟ ให้กำจัดโดยการตัดแต่งกิ่งหม่อน ทั้งตัดกลางและตัดต่ำ จะช่วยตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยไฟไม่ให้มีที่วางไข่ รวมทั้งใช้กับดักแสงไฟล่อแมลง เพื่อดึงดูดตัวเต็มวัยเพลี้ยไฟให้มาติดในกับดัก หรือใช้น้ำฉีดพ่นบริเวณใต้ใบ เพื่อให้ตัวอ่อนหล่นออกจากใบ อาจใช้ใบกะเพราหรือใบโหระพา ๑ กิโลกรัม ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำ ๒๐ ลิตร หมักทิ้งไว้ ๑ คืน กรองเอากากออก แล้วนำน้ำหมักไปฉีดพ่นในแปลงหม่อน รวมทั้งอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติในแปลงหม่อน เช่น ด้วงเต่าลาย เป็นต้น เท่านี้ก็ลดความเสียหายจากเพลี้ยไฟได้พันจ่าเอก ประเสริฐ แนะเพิ่มเติมว่า ถ้าพบการระบาดรุนแรงมาก จําเป็นต้องใช้สารเคมี ให้ใช้สารเคมีฉีดพ่น ได้แก่ ไดเมทโธเอท ในอัตรา ๓๐-๔๐ ซีซีต่อนํ้า ๒๐ ลิตร แต่เนื่องจากสารเคมีประเภทนี้มีพิษตกค้างในใบหม่อนนานไม่น้อยกว่า ๒๐ วัน จึงควรเก็บใบหม่อนไปเลี้ยงไหม หลังพ่นสารเคมีไปแล้ว ๓๐–๓๕ วัน. คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม