Friday, 8 November 2024

สิทธิเข้าถึงยากำพร้า คลัง!กลุ่มยาต้านพิษ

22 Feb 2024
122

ตัวชี้วัดความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ๒๕๖๔ (Global Health Security Index ๒๐๒๑) จัดอันดับ “ประเทศไทย” ให้อยู่ที่อันดับ ๕ จาก ๑๙๕ ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพมากที่สุด ตัวชี้วัดนี้สะท้อนว่า…ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีความพร้อมต่อการรับมือวิกฤติด้านสุขภาพ ทั้งยังมีความพร้อมด้านคลังยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์มากที่สุดประเทศหนึ่งลงลึกในรายละเอียด ด้านหนึ่งที่ประเทศไทยได้รับการยกย่องก็คือความพร้อมในเรื่อง “พิษวิทยา” โดยเฉพาะการทำงานของ “ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี” ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำความร่วมมือและเดินทางมาดูงานอยู่บ่อยครั้งสะท้อนความจริงข้างต้นจากเคสล่าสุด กรณีการช่วยชีวิตเด็ก ๕ ขวบ จาก “ไซยาไนด์” ซึ่งแม้ว่าโรงพยาบาลในพื้นที่ที่เกิดเหตุไม่ได้มีการสต๊อกยาต้านพิษเอาไว้ แต่ด้วย “ระบบ” และ “บุคลากรทางการแพทย์” ที่มีประสิทธิภาพ…มีศักยภาพ ทำให้เด็กน้อยเข้าถึงยาต้านพิษได้ในนาทีชีวิตศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี…เปรียบได้กับที่ปรึกษาของโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว ยังเป็น “คลังแสง” ยาต้านพิษ มอนิเตอร์สถานการณ์และทำหน้าที่จัดส่งเสบียงยาต้านพิษไปสต๊อกตามโรงพยาบาลต่างๆด้วยศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เล่าให้ฟังว่า ก่อนปี ๒๕๕๓ ประเทศไทยไม่สามารถผลิตยาต้านพิษได้ แต่เรารู้ว่าสารพิษแต่ละชนิดที่เข้าสู่ร่างกายมียาที่รักษาได้และยังไม่มีระบบการบริหารจัดการยาต้านพิษที่เป็นระบบ“ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องสต๊อกยาต้านพิษเอาไว้เอง และ…แพทย์ เภสัชกรที่รับผิดชอบก็ไม่รู้ว่าจะต้องสต๊อกยาชนิดไหนที่เหมาะกับพื้นที่ที่อาจจะเกิดเหตุพบผู้ป่วยสารพิษได้บ่อย” ศ.นพ.วินัย วนานุกูลนั่นเพราะหากสต๊อกยาต้านพิษไปด้วยความไม่รู้ ยาก็จะเสียเปล่าเพราะอาจไม่ได้ใช้เลย แต่อีกด้านในพื้นที่ที่เจอผู้ป่วยสารพิษบ่อยกลับไม่มียาที่จะเอาไว้แก้พิษ เพราะโรงพยาบาลสต๊อกยาไม่ถูกต้องอย่างไรก็ตาม หลังปี ๒๕๕๓ เกิดโครงการที่มีชื่อว่า “โครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ” ที่พลิกเกมเรื่องของยาต้านพิษในประเทศไทยไปเลย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันหลากหลายหน่วยงานประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สมาคมพิษวิทยาคลินิกแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และ ศูนย์พิษวิทยารามาฯทั้งหมดเข้ามาร่วมผลักดันให้มีโครงการเข้าถึงยาต้านพิษอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพก้าวขึ้นมาเป็นอีกประเทศที่มีการบริหารจัดการยาต้านพิษอย่างครอบคลุมทั้งการผลิต การจัดซื้อ การสต๊อกสำรองยา ที่เน้นการใช้ให้เกิดประโยชน์และมีความคุ้มค่าจากจุดเริ่มของโครงการ ต้องให้เครดิตกับ “สปสช.” ที่เห็นปัญหาการบริหารจัดการยาต้านพิษ จึงขอข้อมูลทุกด้านของยาต้านพิษ ทั้งยาที่ใช้บ่อย พื้นที่ที่ใช้บ่อย ความเหมาะสมของการสต๊อกยาต้านพิษในโรงพยาบาลเพื่อสำรองใช้ในทันที ซึ่งเป็นข้อมูลที่ศูนย์พิษวิทยารามาฯมีอยู่แล้ว พร้อมกับวิเคราะห์ส่งให้ สปสช.จากจุดนั้น…นำไปสู่ความร่วมมือจากอีกหลายหน่วยงาน เฉกเช่น สถานเสาวภา ผลิตยาต้านพิษบางชนิดได้ และยังผลิตเซรุ่มแก้พิษงูเพื่อใช้ในประเทศได้ด้วย ก็นำไปสู่การคัดยาที่ผลิตไม่ได้เอง แต่ยังจำเป็นต้องใช้ เพื่อรวบรวมให้กับองค์การเภสัชกรรมไปจัดซื้อจัดหา โครงการนี้นำไปสู่การจัดการ “คลังยาต้านพิษ” ที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถสำรองยาต้านพิษที่จำเป็นในกรณีฉุกเฉินไว้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ภายในหนึ่งชั่วโมง ในส่วนของยาต้านพิษที่ไม่เป็นที่ต้องการเร่งด่วน จะสำรองยาไว้ที่โรงพยาบาล ระดับภูมิภาคที่สำคัญ…ยังสำรองยาที่มีราคาแพงไว้ที่สถานพยาบาลในกรุงเทพฯ จัดระบบส่งทันเวลาประเด็นน่าสนใจต่อมา…การประเมินผลโครงการพบว่า “จำนวนผู้ป่วย” ที่เข้าถึง “ยาต้านพิษ” เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากสารพิษลดลงจาก ๕๒% เป็น ๒๘% ตั้งแต่เริ่มโครงการส่วนการ “สำรองยา” อย่างมีประสิทธิภาพยังช่วยลดงบประมาณการจัดหายาต้านพิษงูได้ถึง ๖๐% …นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศไทยสามารถส่ง “ยาต้านพิษ” ไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น พม่า อินเดีย ไนจีเรีย เวียดนาม และ มาเลเซียนอกจากนี้ความสำเร็จในการบริหารจัดการยา ยังนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างไทยและองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการจัดทำ โครงการจัดซื้อจัดจ้างยาต้านพิษร่วมกันระหว่างประเทศ หรือ Initiative for Collaborative Procurement in the South–East Asia Region (iCAPS)นพ.วินัย ย้ำว่า เราต้องทำระบบพิเศษที่สำรองยาต้านพิษและเข้าถึงได้ทันทีเมื่อมีผู้ป่วยต้องการยา เราเชื่อว่า…ระบบบริหารจัดการที่เน้นความร่วมมือ แลกเปลี่ยนระหว่างกัน จะสามารถทำให้การจัดหา…กระจายยามีประสิทธิภาพสูงสุด และลดภาระค่าใช้จ่ายจากการสำรองยาได้อีกด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง เป็นเจตนารมณ์สำคัญของการจัดตั้ง “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง ๓๐ บาท” ในที่นี้รวมถึงผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินวิกฤติที่ต้องให้การรักษาด้วยยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ซึ่งในอดีตมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตลง…เพราะเข้าไม่ถึงดังนั้น สปสช.จึงได้ร่วมมือกับศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี สนับสนุนการจัดระบบบริหารจัดการยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษเหล่านี้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เป็นต้นมา ไม่เพียงแต่สำหรับผู้ป่วยบัตรทองเท่านั้น แต่ผู้ป่วยที่ได้รับพิษทุกสิทธิการรักษาก็สามารถเข้าถึงยาแก้พิษได้ เรียกได้ว่า…เป็น “ระบบบริหารจัดการยา” ระดับประเทศนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (สปสช.) เสริมว่า การดำเนินการเป็นภาพรวมระดับประเทศ ทำให้ปริมาณยาในการจัดซื้อมีจำนวนเพียงพอในการจัดหาหรือผลิตได้ พร้อมมีการจัดทำแผนคลังยาเพื่อเป็นจุดกระจายยาไปในแต่ละพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว…มีการจัดทำการบริหารจัดการผ่านเว็บในการค้นหายารักษา พร้อมเชื่อมต่อ GIS กับสต๊อกออนไลน์ และในการเบิกจ่ายยาก็จะเป็นแบบเรียลไทม์ พร้อมกับการเติมยาที่ใช้ระบบ VMI ขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งต่อมาได้ขยายไปยังเซรุ่มพิษงูด้วย ที่สำคัญได้ช่วยให้ประเทศประหยัดงบประมาณได้ปีละกว่าหมื่นล้านบาท “…จากการสูญเสียยากลุ่มนี้ที่แต่ละโรงพยาบาลได้ทำการสต๊อกเก็บยากันเอง ด้วยระบบนี้ทำให้ประเทศไทยถูกยกเป็นต้นแบบของการจัดระบบยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษให้กับนานาประเทศด้วย”ในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ สปสช.ยังคงสนับสนุนโครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษต่อเนื่อง โดยจัดสรรงบประมาณตามแผนดำเนินการ จำนวน ๑,๗๐๙ ล้านบาท (รวมยาบัญชี จ.๒ และยาประกาศ CL)ข้อมูลรายงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ มีผู้ป่วยที่ได้รับยากำพร้าและยาต้านพิษปีละ ๗,๐๐๐-๗,๕๐๐ คน…ในช่วง ๕ ปีสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยสะสมถึงราว ๓๗,๕๐๐ คน“คลังแสง” ระบบยากำพร้ากลุ่มต้านพิษ ไม่เพียงแต่ลดการสูญเสียชีวิตเท่านั้น หากแต่ยังลดผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในด้าน “สังคม”…“เศรษฐกิจ” จากการสูญเสียคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม