“คุมประพฤติ” พบ “ทักษิณ” บ้านจันทร์ส่องหล้า เซ็นต์รายงานตัว แจงข้อกำหนด-ข้อห้าม-เงื่อนไขพักโทษ และนัดหมายรายงานตัวครั้งต่อไป เผยระหว่างพักโทษไม่มีข้อห้ามงานการเมือง แต่ต้องดูคุณสมบัติ-หรือข้อยกเว้นตำแหน่งนั้นๆ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์๖๗ พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร ๑ ซึ่งเป็นสำนักงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ได้เดินทางเข้าพบ นายทักษิณ ชินวัตร และผู้อุปการะ พร้อมกับแจ้งเงื่อนไข ข้อกำหนดการพักโทษและนัดหมายรายงานตัวในครั้งถัดไป สำหรับการนัดหมายรายงานตัวในเดือน มีนาคมกรณีหาก นายทักษิณ ยังคงอยู่ระหว่างการพักฟื้นรักษาตัว หรือการตรวจรักษากับแพทย์ ทางเจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะต้องประสานติดต่อกับผู้อุปการะว่า สะดวกให้เข้าพบยังบ้านจันทร์ส่องหล้าในวันเวลาใด หรือถ้ายังไม่สะดวกในเดือนนั้นๆ ก็สามารถแจ้งเลื่อนได้ แต่ถ้า มีอาการดีขึ้นสะดวกในการเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่คุมประพฤติด้วยตัวเอง ก็สามารถเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร ๑ ถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ จึงขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยในช่วงเวลานั้นๆ อย่างไรก็ตามหลักการโดยรวมของการรายงานตัวของผู้ถูกคุมความประพฤติ คือ ต้องรายงานตัวทุกเดือน โดยในแต่ละเดือนสามารถขยับวันเวลาบวกลบได้ เช่น ขยับวันเวลาการรายงานตัวเข้ามาเร็วขึ้น เพียงแค่ต้องไม่เกินปฏิทินในเดือนนั้น และถ้ารายงานตัวครบ ๔ เดือน ครั้งถัดไปก็สามารถลดหย่อนได้เป็น ๒ เดือนค่อยรายงานตัว ซึ่งก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่ถูกใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติรายอื่นๆพ.ต.ท.มนตรี กล่าวต่อว่า ส่วนคุณสมบัติของผู้อุปการะผู้ได้รับการพักโทษ ผู้อุปการะไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ครอบครองทะเบียนบ้านของสถานพักโทษ แต่ต้องเป็นบุคคลที่สามารถให้หลักประกันแก่กรมคุมประพฤติได้ เช่น มีสถานะและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในพื้นที่ กทม. เจ้าหน้าที่คุมประพฤติสามารถติดต่อได้สะดวก เพราะผู้อุปการะก็เหมือนผู้ปกครอง เวลาผู้ถูกคุมความประพฤติเกิดปัญหาใด เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะต้องประสานติดต่อได้ ส่วนข้อกำหนด-ข้อห้าม-หรือเงื่อนไขต่างๆ ระหว่างการพักโทษ คือ “๕ ให้ ๕ ห้าม” ซึ่งถูกระบุในหนังสือสำคัญแจ้งการพักการลงโทษ หรือใบ พ.๘ ซึ่งเป็นเอกสารของกรมราชทัณฑ์ สำหรับผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ ประกอบด้วย ๕ ให้ คือ ๑.ให้รายงานตัวกับกรมคุมประพฤติภายใน ๓ วัน ๒.ให้อยู่ในความดูแลของผู้อุปการะ ๓.ให้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผน หากฝ่าฝืนหรือมีปัญหาใดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติรายงานให้ผู้คุมประพฤติรับทราบ ส่วนการจะผิดเงื่อนไขหรือไม่ ผู้คุมประพฤติจะตรวจสอบและวินิจฉัย หากผิดเงื่อนไขก็ต้องส่งตัวกลับเข้าเรือนจำฯ ๔.ให้ประกอบอาชีพสุจริต ถ้าเปลี่ยนอาชีพก็ต้องแจ้งผู้คุมประพฤติรับทราบ และ ๕.ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานคุมประพฤติพ.ต.ท.มนตรี กล่าวต่อว่า ส่วน ๕ ห้าม คือ ๑.ห้ามออกนอกเขตจังหวัด หากมีกิจธุระจำเป็นต้องแจ้งผู้คุมประพฤติเพื่อขออนุญาต และต้องแจ้งกำหนดเวลาการไป-กลับ อยู่ยาวเป็นเดือนไม่ได้ ๒.ห้ามประพฤติเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนันหรือดื่มสุราจนมีอาการมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะดื่มไวน์หรือไปสังสรรค์เล็กน้อยไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมสามารถทำได้ ๓.ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหยหรือยาเสพติด ๔.ห้ามไปเยี่ยมผู้ต้องขังอื่นที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำ ทัณฑสถาน และ ๕.ห้ามคบค้าสมาคมกับผู้ที่จะนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำ”ส่วนกรณีจะไปดำรงตำแหน่งนั่งบอร์ดกรรมการ หรือไปเป็นที่ปรึกษาในทางการเมือง ตนมองว่าในฐานะผู้ได้รับการพักโทษ ที่เตรียมจะกลับเข้าสู่สังคมเมื่อได้รับการพ้นโทษนั้น ระหว่างนี้ก็สามารถทำหน้าที่ต่างๆได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไปดูว่าบอร์ดกรรมการนั้นๆ หรือตำแหน่งที่ปรึกษาในทางการเมืองนั้นๆ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่ง โดยมีข้อยกเว้นประการใดหรือไม่ เช่น มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดมาดำรงตำแหน่งหรือไม่ คล้ายลักษณะของกรณีที่บุคคลใดจะไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จะมีข้อห้ามกำหนดไว้ว่า ต้องไม่เป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาของศาลมาก่อน ดังนั้นในระหว่างการพักโทษจึงยังไม่มีการห้ามในเรื่องของงานทางการเมือง เพราะอย่างไรแล้วผู้ได้รับการพักโทษ เมื่อพ้นโทษก็จะได้ใช้ชีวิตปกติและมีสิทธิในฐานะคนไทยตามรัฐธรรมนูญทุกประการ” พ.ต.ท.มนตรี กล่าวพ.ต.ท.มนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการติดกำไล EM ในส่วนของผู้ได้รับการพักโทษแบบปกติ จะต้องติดกำไล EM เกือบทุกราย ยกเว้นมีอาการเจ็บป่วยหนัก หรือต้องเอกซเรย์จากการประสบอุบัติเหตุ หรือมีความจำเป็นต้องถอดออกเพื่อการรักษาพยาบาล กรมคุมประพฤติก็จะทำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการพักการลงโทษเพื่อถอดกำไล EM ให้ได้ ส่วนผู้ได้รับการพักโทษแบบกรณีมีเหตุพิเศษฯ ถ้าเจ็บป่วยและสูงอายุจะเข้าเงื่อนไขยกเว้นให้ไม่ต้องติดกำไล EM ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการพักการลงโทษได้กำหนดไว้ โดยสอดรับกับกฎกระทรวง ว่าด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดในการติดตามตัวผู้ถูกคุมความประพฤติ ตามเงื่อนไขที่ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่ง พ.ศ. ๒๕๖๐