Sunday, 19 January 2025

ชาวบ้านนครชุมเริ่มเผาข้าวหลามหมื่นกระบอก นำไปทำบุญวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา

23 Feb 2024
126

ชาวบ้านนครชุม เริ่มแล้วเผาข้าวหลามเงินแสน เพื่อนำไปทำบุญในวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา โดยมีประชาชนที่ศรัทธาถวายข้าวเหนียว ๖ ตัน มะพร้าว ๖ พันลูก ไม้ไผ่กว่าพันลำให้กับวัด สามารถทำข้าวหลามได้กว่าหมื่นกระบอก คนเข้าคิวรอซื้อจนต้องสั่งจองกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานวัดพระบรมธาตุเจดียาราม ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร พระเทพวชิรเมธี เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุนครชุม ได้จัดงานเผาข้ามหลามภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้น เพื่อนำไปทำบุญในวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวบ้านนครชุมที่ทำสืบต่อกันมา โดยตำนานการเผาข้าวหลามของชาวนครชุม ที่มีการเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในช่วงนี้ชาวนาชาวไร่เสร็จจากเกี่ยวข้าวเกี่ยวถั่ว ชาวบ้านจะทำข้าวใหม่และถั่วที่ได้จากการเพาะปลูกมาทำบุญ ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับแม่โพสพ และความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวนาชาวไร่และชาวบ้านในชนบท สำหรับการทำข้าวหลามของชาวนครชุม เป็นการทำการเผาแบบท้องถิ่นในสมัยดั้งเดิม โดยการตั้งเผากับดิน การทำบุญเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชาของชาวกำแพงเพชรในอดีต จะต้องเดินทางมาทำบุญที่วัดพระบรมธาตุนครชุม ซึ่งอยู่ห่างไกลและค่อนข้างลำบาก ข้าวสวยที่หุงสุกกว่าจะเดินทางมาทำบุญที่วัดส่วนใหญ่จะบูด ดังนั้นชาวบ้านจึงได้นำข้าวไปเผาเป็นข้าวหลาม ซึ่งจะอยู่ได้นานหลายวันโดยไม่บูด คนเฒ่าคนแก่ เปิดเผยว่า ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ทุกบ้านจะเผาข้าวหลามทำให้ควันไฟตลบอบอวลไปทั้งตำบล แต่เนื่องจากบ้านเจริญขึ้นบ้านเรือนประชาชนเริ่มปลูกติดกัน การเผาข้าวหลามตามบ้านได้สร้างควันไฟและฝุ่นละออง ดังนั้นการเผาข้าวหลามของชาวบ้านจึงเริ่มหายไป ต่อมาทางวัดพระบรมธาตุนครชุม โดยพระเทพวชิรเมธี เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร จึงนำชาวบ้านมาร่วมกันเผาข้าวหลามขึ้นในวัดเป็นที่เดียว เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนที่จะมาทำบุญในวันเพ็ญเดือนสาม โดยปีนี้ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคไม้ไผ่ป่ากว่า ๑,๐๐๐ ลำ มะพร้าวประมาณ ๖,๐๐๐ ลูก ข้าวเหนียวประมาณ ๖ ตัน น้ำตาลและถั่วดำอีกจำนวนมาก โดยมีชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่มาช่วยทำ ทั้งแผนกปอกมะพร้าว คั้นกะทิ ฝ่ายตัดกระบอกไม้ไผ่ แผนกกรอกข้าวใส่กระบอก ฝ่ายกรอกน้ำกะทิ ฝ่ายที่นำข้าวหลามไปเผาใส่ฝืน และสุดท้ายแผนกขาย รวมหลายสิบคนช่วยกัน สำหรับข้าวหลามของชาวนครชุมจะมีรสชาติไม่หวานแหลมมาก ข้าวจะนุ่มสามารถรับประทานกับส้มตำ ไก่ย่าง เนื้อทอดหมูทอด เหมือนกับข้าวเหนียวนึ่งได้ด้วย โดยข้าวหลามที่เผาเสร็จจะมีคนมารอซื้อกลับไปทันทีจนสุกไม่ทันขายต้องมีการสั่งจองกันล่วงหน้านับร้อยคิว โดยปีที่ผ่านๆ มาในระยะเวลา ๕ วัน ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำไปจนถึงวันแรม ๓ ค่ำเดือน ๓ สามารถจำหน่ายข้าวหลามสำหรับทำบุญวันเพ็ญเดือนสาม ได้ไม่ต่ำกว่า ๓-๔ แสนบาท โดยรายได้ทั้งหมดจะนำไปทำนุบำรุงวัดพระบรมธาตุต่อไป.