Monday, 20 January 2025

“มหาวิทยาลัยชื่อดัง” จี้รัฐ พิจารณากฎหมาย ป้องกันใช้งาน AI ไม่เหมาะสม

23 Feb 2024
100

คณบดี CITE DPU ชี้ AI คือ Soft Skill ใหม่ ในยุคดิจิทัล ที่เด็กไทยต้องเรียนรู้เป็นทักษะหนึ่งที่ติดตัว พร้อม จี้ หน่วยงานรัฐ เร่งพิจารณากฎหมายควบคุม ป้องกันใช้งาน AI ไม่เหมาะสม วันที่ ๒๓ ก.พ. ๒๕๖๗ จากกรณี ปัจจุบันเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กว่าปีเศษที่มีการใช้งาน Generative AI อย่างแพร่หลาย ทั้ง ChatGPT (Generative Pre-trained Transformer) รวมทั้ง AI ตัวอื่นอย่าง Gemini (ชื่อเดิม Bard) Copilot และ AI ตัวอื่นๆ ถูกนำมาเป็นตัวช่วยในการทำงานต่างๆ ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันหลายองค์กรเริ่มลดกำลังคนและนำ AI มาแทนที่มนุษย์ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และใช้งาน AI เพื่อให้สามารถปรับตัว อยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำงานของเทคโนโลยี AI มีความก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด มีการนำมาใช้งานในภาคส่วนต่างๆ มากมาย เราจะพบว่า AI มีความสามารถต่างๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึงมากมาย เช่น การสร้างตัวตนเสมือน การวาดรูป การแต่งนิยาย การสร้างภาพวิดีโอ การแต่งเพลง การสร้างภาพสถาปัตยกรรม การสร้างผลงานทางศิลปะ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การแปลภาษา จึงเริ่มมีการนำ AI มาใช้งานต่างๆ ทั้งที่ซับซ้อนและไม่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเกษตรที่นำ AI ช่วยดูแลฟาร์มทั้งระบบ หรือการใช้ AI มาช่วยนำเข้าข้อมูลโดยอัตโนมัติในสำนักงานต่างๆ หรือ ด้านการเงินที่นำ AI ช่วยวิเคราะห์ซื้อขายสินทรัพย์ ด้านการธนาคารที่นำ AI มาประเมินการปล่อยกู้ หรือด้านสาธารณสุขที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์โรค หรือด้านการขนส่งที่นำ AI มาขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น กล่าวได้ว่า AI สามารถเข้าไปอยู่ได้แทบจะทุกวงการรอบตัวเรา ดังนั้นเราจึงต้องปรับตัว อยู่ร่วมและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี AI ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้ AI เสมือนเป็นดาบสองคม กล่าวคือ AI สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงานได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากข้อมูลหรือผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก AI ก็อาจจะเรียนรู้ข้อมูลที่ผิดหรือไม่ถูกต้องหรือละเมิดมาได้ ดังนั้นเราต้องประมวลและตรวจสอบให้ได้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จาก AI มีอะไรที่ไม่ถูกต้องและอย่างไร ซึ่งต้องอาศัย Core Knowledge ของเราเองนั่นเอง เพื่อให้สามารถใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำหน้า AI เปรียบเสมือนว่าเราคุยเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับใครสักคน แล้วเรารู้ว่าคนที่เรากำลังคุยด้วยกำลังให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง “ที่องค์กรต่างๆ ต้องเริ่มมีการใช้งาน AI เพิ่มมากขึ้น ในการดำเนินการต่างๆ เพื่อเป้าหมายการให้บริการหรือผลประกอบการที่ดีขึ้น รวมทั้งการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ AI ก็เป็นดาบสองคมเช่นกัน เช่น การสร้างข้อมูลลวง หรือ Deep fake หรือการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือการสร้างผลงานด้วย AI โดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องและขัดเกลา รวมทั้งการคัดลอกผลงานหรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการใช้ AI เพื่อส่งคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ต่างๆ จนผู้เล่นรายเล็กไม่เหลือรอด หรือการใช้ AI หาและใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่มีอยู่ หรือการส่งข้อมูลต่างๆ ที่ให้ลูกค้าโดยอัตโนมัติจาก AI โดยไม่มีการตรวจสอบ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการใช้งานที่ไม่เหมาะสมหรือเสี่ยงต่อการคุกคามรวมทั้งเพื่อสร้างความปลอดภัย การมีกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบหรือควบคุมการใช้งาน AI ให้อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น อะไรที่ไม่ควรให้ AI ทำงาน เป็นต้น ทั้งนี้ควรมุ่งเน้นแนวทางการใช้งานและผลลัพธ์ที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ ภาครัฐรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนักถึงเรื่องนี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ชัยพร กล่าวอีกว่า เด็กยุคใหม่ควรเรียนรู้และใช้งาน AI ให้เป็นทักษะหนึ่งติดตัว เพื่อให้สั่งการ ใช้ประโยชน์ หรือเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของ AI ได้ ทั้งนี้ที่วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ หรือ CITE DPU ได้พยายามติดอาวุธให้นักศึกษา โดยอาจารย์ผู้สอนได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสั่งการหรือ prompt ตัว Generative AI ในทุกหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาใช้เป็น Soft Skill ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมอัปเดตการใช้งานสั่งการ Generative AI อาทิ การใช้ Chat GPT เป็นต้น แต่หากต้องการมุ่งเน้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ก็สามารถเลือกเรียนหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ทั้งระดับ ปริญญาตรี-โท-เอก ที่มีเนื้อหา AI อยู่ในหลักสูตรแล้ว โดยในอนาคต CITE DPU ก็มีแผนพัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่ให้สามารถสร้างและประยุกต์การใช้งาน AI ให้ลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการแยกออกมาเป็นหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับสายอาชีพด้าน AI ต่อไป “จากมุมมองของผู้ประกอบการในสายอาชีพวิศวกรรม หากเรามี Skill การใช้งานสั่งการ Generative AI ได้จะทำให้ได้เปรียบมากกว่าคนที่ทำงานด้วยวิธีเดิมๆ ในการทำงาน ช่วยเพิ่มความเร็วในการทำงาน แต่ก็มีข้อควรระวังและต้องใช้งานให้เป็น แต่หากเราไม่ปรับตัวเราก็อาจถูก AI แทนที่ได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ชัยพร กล่าวทิ้งท้ายผู้สนใจในหลักสูตรต่าง ๆ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://cite.dpu.ac.th/