สถาบันวิจัยประชากรของจีน เปิดเผยว่า จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าเลี้ยงดูบุตรสูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับจีดีพีต่อประชากรรายงานของสถาบันวิจัยประชากรชั้นนำของจีน ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงลูกตั้งแต่แรกเกิดจนสำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยในประเทศจีน อยู่ที่ประมาณ ๖๘๐,๐๐๐ หยวน (ราว ๓.๔ ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรในขณะนี้ติดอันดับสูงที่สุดในโลก รายงานดังกล่าวเผยแพร่โดยสถาบันวิจัยประชากรยู่วา ที่นำโดยนายเหลียง เจี้ยนจาง นักประชากรศาสตร์ชื่อดัง และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ท่องเที่ยวออนไลน์ซีทริป (Ctrip) ที่ทำการศึกษาเรื่องต้นทุนทางเศรษฐกิจในการเลี้ยงดูบุตรในประเทศจีน และปัจจัยสำคัญโดยการวิเคราะห์สถิติระดับชาติล่าสุดที่เผยแพร่ในปี ๒๕๖๖รายงานระบุว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ ๑๗ ปีในประเทศจีนอยู่ที่ประมาณ ๕๓๘,๐๐๐ หยวน (ราว ๒.๖๙ ล้านบาท) และเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยจะอยู่ที่ ๖๘๐,๐๐๐ หยวน (ราว ๓.๔ ล้านบาท) ตัวเลขนี้สูงกว่าตัวเลขประมาณการในรายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อ ๒ ปีที่แล้วอย่างมาก ซึ่งสะท้อนถึงภาระทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงดูบุตร อันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และค่าครองชีพที่สูงขึ้นการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ เผยให้เห็นว่าครอบครัวชาวจีนมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรจนกระทั่งอายุ ๑๘ ปี คิดเป็น ๖.๓ เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีต่อหัวประชากร ซึ่งเป็นหนึ่งในระดับที่สูงที่สุดในโลก ตัวเลขนี้ยังสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ที่มีค่าเลี้ยงดูบุตรคิดเป็น ๔.๒๖, ๔.๑๑, ๒.๒๔ และ ๒.๐๘ เท่าตามลำดับ นครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่งมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกสูงที่สุดอยู่ที่ ๑.๐๑ ล้าน (ราว ๕.๐๕ ล้านบาท) และ ๙๓๖,๐๐๐ หยวน (ราว ๔.๖๘ ล้านบาท) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับรายงานฉบับปี ๒๕๖๕ ทั้งสองเมืองมีแนวโน้มลดลง ๑๖,๐๐๐ หยวน และ ๓๓,๐๐๐ หยวน ตามลำดับรายงานยังแสดงให้เห็นว่า นอกเหนือจากต้นทุนทางการเงินแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญสองประการที่มีอิทธิพลต่อความเต็มใจที่จะมีบุตร ได้แก่ ต้นทุนเวลาและต้นทุนเสียโอกาส โดยต้นทุนด้านเวลาประกอบด้วยการลาคลอดบุตร ดูแลเด็ก ไปรับที่โรงเรียน ช่วยลูกๆ ทำการบ้าน และงานบ้านที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนด้านโอกาสรวมถึงทักษะการทำงานที่ลดลง เนื่องจากการลาหยุดงานนานเพื่อคลอดบุตร ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงเมื่อกลับมาทำงาน การถูกย้าย หรือถูกลดเงินเดือน และสูญเสียโอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง และอื่นๆ อีกมากมายเหอ ยาฟู่ หนึ่งในผู้เขียนรายงาน กล่าวกับเว็บไซต์โกลบอลไทมส์ของทางการจีนว่า “ในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ส่วนใหญ่ตกเป็นของผู้หญิงในสังคมจีน และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่มีบุตร นอกจากนี้ เนื่องจากการคลอดบุตร สตรีที่ต้องทำงานนอกบ้านอาจประสบปัญหาเรื่องชั่วโมงทำงานและอัตราค่าจ้างที่ลดลงอย่างมาก ทำให้พวกเธอตกอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างการทำงานและความรับผิดชอบต่อครอบครัว” เมื่อเผชิญกับความท้าทายดังกล่าว นายเหลียงจึงเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดการกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นของการคลอดบุตร ส่วนในระดับชาติ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องนำเสนอนโยบายโดยเร็วเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรสำหรับครอบครัว เช่น การให้เงินอุดหนุน การจัดตั้งสถานดูแลเด็ก การส่งเสริมการคลอดบุตรและการลาของผู้เป็นพ่ออย่างเท่าเทียมกัน และการปกป้องสิทธิในการเจริญพันธุ์ของหญิงโสด ขณะที่ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น การจ้างพี่เลี้ยงเด็กชาวต่างชาติ การสนับสนุนเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ และการยกเลิกการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นก็ควรได้รับการพิจารณาเช่นกันนายเหลียงแนะนำว่า “ค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรที่สูงเป็นปัจจัยลบที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ส่งผลต่อความเต็มใจของครอบครัวที่จะมีลูก และสิ่งที่มีความสำคัญอันดับแรกและสำคัญที่สุดก็คือสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิง”คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน ประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๖ ว่าจะยังคงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการการพัฒนาประชากรคุณภาพสูงเข้ากับมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นอย่างใกล้ชิด และจะเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายด้านประชากรต่อไปเจ้าหน้าที่กล่าวว่าจีนจะยังคงส่งเสริมการพัฒนาบริการดูแลเด็ก และผลักดันให้มีการเพิ่มวิชาเอกบริการดูแลทารกและเด็กเล็กในโรงเรียนอาชีวศึกษาระดับต้น วิทยาลัยอาชีวศึกษาระดับสูง และวิทยาลัยระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมการสนับสนุนสถาบันทางการแพทย์ในการพัฒนาบริการดูแลเด็กหลายภูมิภาคในจีนออกเงินอุดหนุนการคลอดบุตรสูงสุด ๒๐,๐๐๐ หยวน สำหรับครอบครัวที่มีลูก ๓ คน ขณะที่บางพื้นที่ยังได้ออกนโยบายด้านที่อยู่อาศัยที่เป็นประโยชน์สำหรับครอบครัวที่มีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหลายคนนอกจากนั้น เมื่อปีที่แล้ว ทางการจีนยังได้นำเอาขั้นตอนเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ๑๖ ขั้นตอนบรรจุไว้ในขอบเขตการชดเชยค่าประกันสุขภาพ เช่น การผสมเทียมมดลูก การย้ายตัวอ่อน และกระบวนการคัดเลือกอสุจิ.ที่มา: Globaltimesติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign