Sunday, 19 January 2025

พิธีลอยเรือ…อูรักลาโว้ย ปล่อยผีชั่วร้าย..สู่ทะเลกว้าง

25 Feb 2024
115

พูดไปให้เสียดายกรณี “เกาะหลีเป๊ะ” หรือ “ลิเป๊ะ” ภาษามลายูหมายถึงที่ราบบนเกาะขนาดกระจิ๋วหลิว ๓ ตารางกิโลเมตรกลางทะเล อันดามัน… ห่างแผ่นดินสตูลทางทะเล ๗๕ กิโลเมตร ติดตะเข็บน่านน้ำทะเลสากลมาเลเซีย…เชื่อมไกลไปสู่มหาสมุทรอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา และอินเดียทะเลแถบนี้เดิมทีเป็นถิ่นชนพื้นเมืองชาว “อูรักลาโว้ย” หรือ “ชาวเล” ที่ใช้ภาษาพูดตนเองไม่มีภาษาเขียน สันนิษฐานว่าเคลื่อนย้ายจากอินโดนีเซีย สู่เกาะลันตา กระบี่ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน แล้วจากนั้นปี ๒๔๕๒ กระจายมายังเกาะอาดัง-ราวีและหลีเป๊ะ ยังชีพด้วยการทำประมง สันทัดเรื่อง “ดำน้ำ” ได้นานโดยปราศจากท่ออากาศหายใจ สามารถจับกุ้งมังกรที่เรียก “การัง” ซึ่งซ่อนตัวตามหลืบหินใต้ทะเลลึกมาบริโภคเป็นอาหารคนกลุ่มนี้เล่าว่านับถือ “ภูตผีแห่งท้องทะเล” ไร้ซึ่งศาสนา แต่ด้วยอาศัยในถิ่นไทยกับแนวเขตติดต่อเพื่อนบ้าน จึงรู้ที่จะใช้ภาษาไทยและยาวี ส่วนศาสนาเริ่มนับถืออิสลามมากกว่าศาสนาอื่น กระทั่งปี ๒๕๑๗ ทางการไทยได้ส่งคนลงไปสำรวจทรัพยากรธรรมชาติที่มีทั้งสัตว์น้ำ พืชใต้น้ำและป่าไม้บนเกาะต่างๆพบว่าล้วนอุดมสมบูรณ์ มีบางส่วนแอบถูกลักลอบใช้ระเบิดทำประมง โค่นล้มป่าไม้และล่าสัตว์จากกลุ่มนายทุน จึงเร่งประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย มิให้ถูกคุกคามไปมากกว่านี้ครั้งนั้น…มีการถกเถียงกันถึงสถานะเกาะหลีเป๊ะก่อนจะประกาศ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นควรรักษาไว้ดั่งไข่ในหินให้วิถีชีวิตและธรรมชาติแหล่งนั้นเป็นทรัพยากรมีค่า เป็นสินค้าเชิดหน้าชูตาทางการท่องเที่ยวให้แก่คนมาเที่ยวในอนาคต ส่วนอีกฝ่ายก็เห็นแย้ง…ควรเร่งคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ป้องกันถูกปู้ยี่ปู้ยำเช่นหลายพื้นที่ที่ควบคุมไม่ทัน…ผลสรุปปักธงให้พื้นที่ ๑.๔ พันตารางกิโลเมตร ทั้งบนบกในน้ำเป็น…“อุทยานแห่งชาติตะรุเตา” แต่ปล่อยให้หลีเป๊ะอยู่นอกกรอบอุทยานO O O O ขณะชาวอูรักลาโว้ยอีกกลุ่มจำต้องอพยพจากเกาะอาดัง-ราวี สู่หลีเป๊ะมาสมทบด้วยกรอบ พระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ทำให้ครัวเรือนที่มี ๑๐๐ หลังประชากร ๗๐๐ ชีวิต เพิ่มเป็น ๑.๘ พันทันทีวันนี้…หากจะเอ่ยถึง “หลีเป๊ะ” ก็คงจะได้เพียงตำนานบอกเล่าที่ครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๑๘ ชุมชนบนเกาะขนาดจิ๋วกลางท้องทะเลย่านนี้ มีลูกหลานชาวเลอูรักลาโว้ยอยู่ในเขต ต.สาหร่าย อ.เมืองสตูล ดำรงอาชีพประมงสลับปลูกมะพร้าวกับมีสุขศาลา ๑ แห่ง พยาบาลผดุงครรภ์ ๑ คน โรงเรียน ๑ โรง นักเรียน ๑๐๒ คน ครู ๒ คน สอนคนละ ๒ ชั้น…แล้วก็มีสภากาแฟเล็กๆ ขายกาแฟชงน้ำร้อนจากหม้อต้มบนเตาฟืน ไม่มีครีมนมข้นหวานน้ำตาลก้อน จะมีเพียงโอเลี้ยงทิพย์ตามมโนปราศจากน้ำแข็ง นอกจากที่ใช้แช่ปลาปูกุ้งหอยเท่านั้น แต่…ก็มีข้าวเหนียวหน้าน้ำตาลหน้ามะพร้าวห่อใบตอง ขายห่อละ ๕๐ สตางค์ประจำสภาชุมชน ส่วนร้านอาหารไร้เมนูตามสั่งมีแต่ขนมจีนน้ำยาปลาหรือปูขายยืนพื้น กินกับมะละกอสดซอยแบบส้มตำ เหนาะ…(แกล้ม)ใบมะม่วงหิมพานต์อ่อนเรียกเล็ดลอด ยาร่วง หัวครก เป็นผักเครื่องเคียง ป๊อปปูลาร์ฟินสุดยามนั้นว่ากันถึงเรื่องโลจิสติกส์ติดต่อฝั่งสตูลก็มีทางเดียวคือพึ่งเรือประมง ใช้เวลา ๘–๙ ชั่วโมงบนระยะทาง ๗๕ กิโลเมตร เท่ากับเวลารถไฟด่วนกรุงเทพฯ ๗๑๗ กิโลเมตรถึงเชียงใหม่ และปีหนึ่ง ทะเลจะสงบ ๓ เดือน…เหลือ ๙ เดือนมากมีด้วยมรสุมคลื่นลมแรงจัดเสี่ยงต่อการสัญจรไปมา หลีเป๊ะเวลานั้นในอดีต…จึงถือเป็นดินแดนลี้ลับออร่าธรรมชาติงดงาม ราวกับอยู่บนโลกคนละใบกับมนุษย์บนฝั่ง กูรูผู้เฒ่าที่เปรียบเสมือนปราชญ์ท้องถิ่นยุคนั้น สามารถบอกเล่าถึงวีถีชีวิตชาวเลอูรักลาโว้ย ที่เรียบง่าย…ด้วยบ้านเรือนไม้หลังคามุงจาก ฝาขัดแตะด้วยใบจากกันแดดน้ำค้าง เม็ดฝนบนพื้นทรายใต้ทิวมะพร้าวบ้านไหนฐานะดีหน่อยก็มุงหลังคากั้นฝาด้วยสังกะสี แต่ไม่พ้นใช้น้ำจืดบ่อเดียวกันในชีวิตประจำวันอย่างทัดเทียมกันO O O O กูรูผู้เฒ่าชาวเล “อูรักลาโว้ย” เล่าให้ฟังอีกว่า…“วัฒนธรรมประเพณี” ที่ชาวอูรักลาโว้ยสืบทอดกันมานานช่างเรียบง่าย เช่น…การร้องรำทำเพลงริมทะเลโคนต้นมะพร้าวในคืนเดือนแรม เป็นเชิงหนุ่มเกี้ยวสาว มีดนตรีชิ้นสองชิ้นให้จังหวะเต้นรองเง็งตามลีลามลายูส่วนหนุ่มสาวเมื่อพ่อแม่ยินยอมให้ตกร่องปล่องชิ้น ขบวนเจ้าบ่าวจะยกอาหารเหล้ายาปลาปิ้งไปฉลองกันบ้านสาวเจ้า พร้อมข้าวของฝ่ายชายกับเสื้อผ้าสวยๆ ๑ ชุดติดไปมอบเจ้าสาว…ยามค่ำบ่าวสาวจะลอยเรือไปหาความสุขสองต่อสอง ณ เวิ้งอ่าวแห่งใดแห่งหนึ่ง เสร็จถึงกลับมาโดยฝ่ายชายจะต้องอยู่บ้านเจ้าสาวตามธรรมเนียม เพื่อดูแลสมาชิกทุกคนในครัวเรือนอีกประเพณีที่ชาวอูรักลาโว้ยยึดมั่นกันมา ก็คือ “พิธีลอยเรือ” เสมือนการปล่อยผีชั่วร้าย ให้ลอยล่องไกลไปกลางทะเลกว้างคืนเดือน ๖ ครั้งหนึ่งกับเดือน ๑๑ อีกครั้งหนึ่งเรือที่ว่าจำลองขึ้นด้วยไม้ระกำขนาด ๕๐ คูณ ๒๕๐ เซนติเมตร บรรจุอาหารจากชาวท้องถิ่นที่พร้อมใจมาชุมนุมและมีคนว่ายน้ำประคองเรือลำนั้นออกห่างฝั่ง แล้วปล่อยให้หายไปเองกับคลื่นลมทะเล …เป็นอันเสร็จพิธีสะเดาะเคราะห์ของชาวอูรักลาโว้ย เว้นเสียแต่…เรือลำนั้นกลับลำเบนเข็มสู่ฝั่ง นั่นเป็นสัญญาณเตือนอาจมีภัยร้ายอุบัติขึ้นบนเกาะ…ให้พึงระวังเหตุที่จะตามมา!ถึงตรงนี้กูรูผู้เฒ่าถือโอกาสเล่าพิธีทำศพของพวกเขา ที่ใช้สุสานไม่ห่างทะเลและร่มรื่นด้วยเงามะพร้าว โดยศพจะถูกคลุมร่างด้วยโสร่งผืนใหม่ มีชายชรานำผลมะพร้าวมาชำระศพ ก่อนหย่อนร่างลงหลุมลึกประมาณหนึ่งเมตร…จากนั้นญาติผู้ใหญ่หรือคนใกล้ชิดผู้ตายจะหยิบทรายหนึ่งกำมือโปรยใส่ ตามด้ายทรายอีกหนึ่งกำมือจากหมอไสยศาสตร์ นำผู้เข้าร่วมพิธีทำตามจนครบจึงกลบหลุมฝังร่างศพ ใช้ไม้ปักบอกให้รู้เขตฝังศพผู้ตาย พร้อมสร้างหลังคาเป็นร่มเงาหรือไม่ก็วางร่มไว้กันแดดให้ผู้ตายซึ่งเชื่อว่า…จะช่วยให้ “ร่มเงา” และ “ร่มเย็น” เมื่อวิญญาณดวงนั้นลอยสู่สวรรค์ประเพณีทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้เป็นความเชื่อที่มีมาแต่บรรพบุรุษ ถึงแม้ว่าวันนี้จะเป็นยุคที่สภาพ แวดล้อมเกาะหลีเป๊ะถูกบูลลี่ไปมากแล้วก็ตาม แต่ไม่ควรด่วนสรุปลบหลู่ด้วยมิจฉาฐิติ…เพื่อลบล้างความเชื่อนั้น?“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”.รัก-ยมคลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม