Thursday, 19 December 2024

เนรมิตเม็ดทรายเป็นงานศิลปะ ทั่วโลกยอมรับเทคนิคสุดล้ำ ศิลปินไทยไม่มีที่โชว์งาน

ประติมากรรมทราย เป็นงานศิลปะที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก จนมีการจัดงานเทศกาลในหลายประเทศ แต่สำหรับไทยกว่า ๑๐ ปีก่อนเป็นกระแสแต่ก็หายไป ทำให้ศิลปินขาดพื้นที่แสดงงาน หลายประเทศในเอเชียก็เริ่มแซงหน้า ในการจัดงานเทศกาลศิลปะจากทราย ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทั้งที่ไทยมีเม็ดทรายที่มีสีสันเฉพาะ และทะเลที่สวยงามกว่ามากชนาทิป ชื่นบำรุง ศิลปินประติมากรรมทราย ชาวไทย กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ศิลปะการออกแบบประติมากรรมจากทรายในไทยยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลาย เพราะใช้ต้นทุนสูง ที่ผ่านมาไทยเคยจัดงานศิลปะจากทรายมาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อปี ๒๕๕๐ แต่ไม่ได้มีการต่อยอด ต่างจากอินโดนีเซีย และไต้หวัน ที่มีการสนับสนุนต่อเนื่อง ศิลปินที่ทำงานทรายในบ้านเรา ส่วนใหญ่ต้องออกทุนตัวเอง หรือไม่ก็รอมีเทศกาลที่มีนายทุนจัดงาน ศิลปินถึงจะได้แสดงผลงาน เลยทำให้ความรู้เรื่องประติมากรรมจากทรายของไทยไม่ถูกพัฒนา เพราะมีกระบวนการทำงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ จะมีการทำงานโดยไม่มีส่วนผสมจากสารใดในทราย แต่ต้องมีการอัดทรายให้แน่น ไม่มีโครงสร้างใดอยู่ภายในตัวผลงาน เพื่อจะได้โชว์เทคนิคการออกแบบ ความแข็งแรง ที่ถือเป็นเสน่ห์ของงานศิลปะประเภทนี้สำหรับกระบวนการทำงานในการออกแบบประติมากรรมทราย เริ่มแรกต้องสเกตช์แบบภาพร่าง แล้วคำนวณแบบไม้ที่จะใช้ใส่ทราย เพื่อทำเป็นบล็อกอัดทรายให้เหมาะสม เพราะงานส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการแกะทรายที่อัดไว้ให้มีลวดลายตามที่ต้องการ ขณะที่ระหว่างทำงานแกะทรายตามแบบที่ต้องการ ต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากทรายถ้าไม่ระวังจะพังทลายลงมาได้ ความยากของการทำงานศิลปะที่ออกแบบจากทราย คืองานที่เป็นรูปแบบสามมิติ มองเห็นได้ทุกทิศทาง แต่ต้องออกแบบให้ได้สัดส่วนไม่ผิดเพี้ยน โดยเฉพาะในจุดที่รับน้ำหนักมาก หรือยื่นออกมามากๆ มีความเสี่ยงพังทลายได้รวดเร็วกว่าจุดอื่นสำหรับทรายที่นำมาใช้ จะขึ้นอยู่กับความชอบ และแนวทางในการออกแบบของศิลปิน เพราะทรายแต่ละแบบมีการยึดเกาะตัวที่แตกต่างกัน เช่น ทรายแป้ง มีความละเอียดมาก จะสามารถเกาะตัวได้สูง ศิลปินจึงจะใช้ทรายชนิดนี้การทำงานประเภทที่ต้องก่อตัวสูงๆ ขนาดใหญ่ แต่ศิลปินบางคนก็ชอบทราบที่เม็ดหยาบ เวลาออกแบบงานจะเห็นพื้นที่ผิวของเม็ดทรายได้ชัดเจน แต่ทรายประเภทนี้จะมีความเสี่ยงในการก่อชิ้นงานได้ความสูงน้อย เหมาะกับชิ้นงานที่มีความกว้างค่อนข้างมากในการออกแบบงานชิ้นใหญ่ๆ ต้องใช้เครื่องที่ทำถนนมาช่วยอัดทรายให้มีความแน่น แต่สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของการออกแบบปะติมากรรมทราย นอกจากเทคนิคของการออกแบบแล้ว ความคงทนของชิ้นงานก็เป็นอีกจุดที่วัดฝีมือของคนทำ ซึ่งในการแก้ปัญหาของศิลปิน ในการออกแบบชิ้นงานที่มีความสูง จะมีการก่อทรายทำแผ่นผนังให้ตัวชิ้นงานสามารถคงอยู่ได้นาน ดีกว่าปล่อยให้มองเห็นได้รอบทิศทาง เสี่ยงที่จะพังทลายได้เร็ว “ในญี่ปุ่นมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงงานศิลปะที่ออกแบบจากทราย โดยมีอาคารจัดแสดงคลุมไว้ ทำให้ผลงานอยู่ได้เป็นปี และเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพราะมีคนทั่วโลกเข้ามาชม เมื่อจัดแสดงครบปี ก็จะมีการพังงานชิ้นเก่า เพื่อออกแบบงานชิ้นใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากเข้าไปชมงานศิลปะที่จัดแสดงในแต่ละปีจำนวนมาก” ไทยควรมีการส่งเสริมศิลปะด้านการออกแบบจากทราย เพราะไทยมีทรายแทบทุกแบบ และมีเม็ดสีของทรายที่สวย ถ้ามีการออกแบบชิ้นงานที่สวยงาม จะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาใช้ความงดงามที่ไทยมากขึ้น ซึ่งวันที่ ๘ – ๑๑ เม.ย. ๒๕๖๗ จะมีการจัดงานประติมากรรมทราย ที่มีศิลปินทั่วโลก ๒๘ คน มาร่วมออกแบบผลงาน แข่งขันโครงการประกวดแกะสลักทราย ครั้งที่ ๑ ณ พัทยา จ.ชลบุรี ถือเป็นงานเทศกาลประติมากรรมทราย ที่มีศิลปินทั่วโลกมาร่วมสร้างผลงาน และเป็นอีกจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานศิลปะประเภทนี้มากขึ้น.