Thursday, 19 December 2024

ปมครองยาบ้า ๕ เม็ดเสพ ส่อเปิดช่องระบาดหนัก?

ทันทีที่ออกประกาศกฎกระทรวง “กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ และวัตถุออกฤทธิ์ที่สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.๒๕๖๗” มีผลบังคับใช้ ก็กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อนแรงให้สังคมหยิบยกวิพากษ์วิจารณ์ และคัดค้านกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้ด้วยเนื้อหาในกฎหมาย “กำหนดหน่วยการใช้ และปริมาณการครอบครองที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อเสพ” ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๑, ๒, ๕ เช่น แอมเฟตามีนครอบครองไม่เกิน ๕ เม็ด หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน ๕๐๐ มิลลิกรัม (มก.) เอ็มดีอีไม่เกิน ๑,๒๕๕ มก. เฮโรอีนไม่เกิน ๓๐๐ มก. แอลเอสดี ๒๕ ไม่เกิน ๑๐๐ มก.เมทแอมเฟตามีนไม่เกิน ๕๐๐ มก. กรณีเป็นเกล็ดผงผลึกไม่เกิน ๑๐๐ มก. เมทิลีนไดออกซีแอมเฟตามีนไม่เกิน ๑,๒๕๐ มก. ซึ่งยากลุ่มนี้ล้วนมีการพิสูจน์ทั่วโลกว่า “เป็นสารเสพติดอันตราย” แถมนำสู่การก่ออาชญากรรมตามมามากมายนั้น เรื่องนี้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกว่ากฎกระทรวงฉบับนี้กำลังเปิดช่องให้ “นักเสพถือครองยาเสพติดได้ไม่เกินกฎกระทรวงกำหนด” เพราะในทางปฏิบัติเมื่อตำรวจจับกุมแล้วก็ต้องสันนิษฐานว่า “เป็นผู้เสพ” ที่สามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัดได้ กลายเป็นโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายขึ้น ทั้งยังจะเป็นการขยายฐานผู้ค้ารายย่อยสูงขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะยาบ้าที่กำลังระบาดอย่างหนักอยู่นี้ “ล้วนมาจากพ่อค้ารายย่อย” ส่วนใหญ่เริ่มเป็นผู้เสพมาก่อนแล้วขยับสู่การเป็นผู้ขายให้ผู้เสพอื่น เพื่อหากำไรนำเงินไปซื้อยามาเสพ เพราะด้วยพ่อค้ารายใหญ่นั้นลักลอบจำหน่ายส่งขายอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และบางส่วนถูกจับอยู่ในเรือนจำแต่ก็ยังเคลื่อนไหวผ่านเครือข่ายภายนอกก็มียิ่งกว่านั้นอาจ “เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนใช้ดุลพินิจ” แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากผู้ครอบครองยาบ้าเกิน ๕ เม็ด “แลกกับข้อหาเป็นผู้เสพ” โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดีครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ได้เช่นนี้การแก้ปัญหายาเสพติดให้น้อยลง “เจ้าหน้าที่รัฐ” ต้องบังคับใช้กฎหมายทุกระบบเข้มข้นในการป้องกันปราบปรามจริงจัง “ทั้งเพิ่มโทษข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องช่วยเหลือสนับสนุน” ถ้าผู้ทำผิดข้อหาจำหน่ายต้องโทษประหารชีวิต “เจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือสนับสนุน” ก็ต้องรับโทษตามนั้นด้วย จึงจะทำให้ยาเสพติดลดน้อยลงได้ความจริงแล้ว “หากต้องการแก้ปัญหายาเสพติดจริงๆ” ข้อหาเสพยาเสพติดเพื่อนำไปบำบัดรักษานั้น สามารถตรวจหาสารในร่างกายได้ “ไม่จำเป็นต้องกำหนดปริมาณ” แต่ควรมีเฉพาะมาตรฐานว่า ถ้ามีครอบครองเกินกำหนดถือ “เป็นผู้จำหน่าย” อย่างกรณียาบ้าซื้อขายครอบครองกันเพียงครึ่งเม็ดก็ต้องเป็นความผิดจำหน่ายแล้วเพื่อเป็นการควบคุม “ผู้ค้ารายย่อย และผู้ค้าระดับกลาง” เพราะการติดตามจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ทำได้ยาก แต่หากจับกุมได้จริง “ควรลงโทษขั้นเด็ดขาด” อย่างเช่นกรณีในประเทศอินโดนีเซียสำหรับคดีจำหน่ายยาเสพติดรายใหญ่มักต้องโทษประหารชีวิต ดังนั้นหากประเทศไทยสามารถบังคับได้เช่นนั้น เชื่อว่าผู้ค้าจะหมดไปแน่นอนประเด็นถัดมา “สถานบำบัดผู้เสพยาเสพติดในไทย” ค่อนข้างมีจำกัดไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด เพราะการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจำเป็นต้องได้มาตรฐาน มีตั้งแต่แพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ นักกิจกรรมบำบัด และนักจิตวิทยา เพื่อทำหน้าที่ดูแลพัฒนาผู้เสพคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพไม่กลับมาใช้ยาเสพติดซ้ำดังนั้น เมื่อสถานบำบัดฯมีไม่พร้อม “ผู้เสพยาต้องรักษาแบบไป-กลับ” ทำให้ต้องเจอสิ่งแวดล้อมเดิมๆจนไม่อาจเลิกใช้ยาได้ เพราะก่อนหน้านี้เคยทำงานดูแล “ศูนย์การบำบัดยาเสพติดใน กทม.” จากการติดตามผู้ติดยารับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายตามคำพิพากษาของศาลนั้น สามารถเลิกยาหายขาดได้เพียงร้อยละ ๓ คนเท่านั้น เพราะถ้าดูเกณฑ์การเข้ารับบำบัดยาเสพติดตามกฎหมายแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ๑.สมัครใจเข้าบำบัดในสถานพยาบาลต่างๆ กลุ่มนี้มีคนสมัครใจน้อยมาก ๒.ระบบบังคับ อันเกิดจากถูกจับกุมในข้อหาเสพยาเสพติดทำให้จำเป็นต้องสมัครใจเข้ารับบำบัดตามกฎหมาย “เพื่อให้หลุดจากความผิด” แต่พอกลับบ้านก็มักใช้ยาเหมือนเดิมฉะนั้นหากต้องการนำผู้เสพยาเข้าระบบการบำบัดจริงๆ “ควรตั้งศูนย์บำบัดยาเสพติดให้พร้อมก่อน” มิใช่ออกกฎกระทรวงแล้วค่อยมาจัดตั้งศูนย์บำบัดฯภายหลัง อันเป็นการแก้ปัญหาข้ามขั้นตอนไม่ถูกต้องหรือไม่แล้วต้องเข้าใจว่า “นโยบาย สตช.” กำหนดให้สถานีตำรวจทั่วประเทศ ๑,๔๐๐ กว่าแห่ง กวาดล้างยาเสพติดเดือนละครั้งต้องจับกุมผู้เสพ ๒๐ คน/โรงพักแล้วเมื่อศูนย์บำบัดฯไม่พร้อม ผู้เสพเหล่านี้จะเข้าบำบัดยาเสพติดที่ใดแล้วยิ่งกรณี “เฮโรอีน หรือโคเคน” ที่ถูกจัดอยู่ในยาเสพติดออกฤทธิ์รุนแรง โอกาสบำบัดรักษาให้หยุดยาทำได้ยากมาก “การให้ครองในปริมาณไม่เกินกำหนดเป็นผู้เสพ” กำลังเปิดโอกาสเข้าถึงได้ง่ายจนกังวลว่า “เฮโรอีน และโคเคนจะกลับมาระบาดเพิ่มขึ้น” โดยเฉพาะเยาวชนที่จะแก้ไขปัญหายากส่งผลเสียระยะยาวได้ด้วยสมัยก่อนโทษ “เฮโรอีน หรือโคเคนค่อนข้างแรง” แต่ตอนนี้เปิดโอกาสครอบครองไม่เกินกำหนดสันนิษฐานว่า “มีไว้เพื่อเสพ” เมื่อถูกจับกุมก็สมัครใจเข้าบำบัดกลายเป็นไม่ต้องถูกดำเนินคดีหนักเหมือนก่อนเหตุนี้การแก้ปัญหายาเสพติด “จำเป็นต้องลดปริมาณยาให้น้อยลง” จะส่งผลให้ผู้เสพน้อยลงตาม แต่การออกกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้กลับจะเพิ่มปริมาณผู้ค้ารายย่อย และผู้เสพ นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมเกิดขึ้นได้อีก เพราะปัญหาอาชญากรรมทุกประเภทกว่า ๘๐% ล้วนเกิดมาจากการใช้ยาเสพติดแทบทั้งสิ้นแต่แนวคิดดังกล่าวกลับกำลังไปเพิ่มให้ “ผู้เสพสามารถครองยา เสพติดได้” ทำให้คดีอาชญากรรมก็ต้องเพิ่มตาม ทำให้กังวลกับ “สถานบริการปิดตี ๔” เพราะในช่วงหลังมานี้ทุนจีนสีเทาเข้ามาทำธุรกิจสถานบริการรองรับนักท่องเที่ยวเยอะขึ้นอาจเป็นแหล่งมั่วสุมใช้ยาเสพติดกันก็ได้หรือไม่ตัวอย่างชัดๆ “กัญชา” ในหลายประเทศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย “ประเทศไทย” กลับเปิดเสรีกัญชาถูกใช้นันทนาการกว้างขวาง ดังนั้นอนาคตต่างชาติอยากสูบกัญชาคงมาในไทยที่จะมีทั้งเหล้ายาปลาปิ้งรองรับครบวงจร ย้อนมาดูแหล่งผลิตยาบ้ารายใหญ่ยังคงอยู่ “ประเทศเพื่อนบ้าน” ลำเลียงเข้ามาพักในพื้นที่ปริมณฑลแล้ว “กรุงเทพฯ” มักเป็นพื้นที่กระจายไปยังภูมิภาคทั่วประเทศ เมื่อรู้แบบนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ทหาร ตำรวจ รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ควรต้องช่วยกันสกัดกั้นทุกช่องทางให้หมดโดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน “ใกล้ชิดมีข้อมูลลูกบ้านทุกคน” ถ้าประสานความร่วมมือกับตำรวจจะช่วยลดการระบาดยาบ้าลงได้ เพียงแต่กลไกนี้ถูกละเลยในการส่งเสริมให้มีระบบการปราบปรามยาเสพติดที่เข้มแข็งถ้าเสริมด้วยมาตรการลงโทษ “พื้นที่ใดจับยาบ้าล้านเม็ดขึ้นไป” ผู้ว่าฯจังหวัด และผู้การฯจังหวัด ต้องถูกย้ายฐานปล่อยปละละเลย หากมาตรการนี้สามารถทำได้ทุกจังหวัดจะเข้มงวดการปราบปรามยาเสพติดทันทีอย่างไรก็ดี มาตรการกฎหมายได้ผลดีหรือไม่ “วัดจากราคายาเสพติด” ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมเข้มงวดปริมาณยาก็เหลือน้อยความต้องการสูง “ราคาจะแพงขึ้น” ถ้ายาบ้าราคาถูกมักสะท้อนความหย่อนยานจนระบาดอย่างตอนนี้ซื้อกัน ๓ เม็ด ๑๐๐ บาท จากสมัยก่อนเม็ดละ ๓๐๐ บาทในยุคทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่ปราบยาเสพติดเข้มงวดฉะนั้นส่วนตัว “ไม่เห็นด้วยกับกฎกระทรวงฉบับนี้” ที่กำลังเตรียมล่ารายชื่อ ๑๐,๐๐๐ รายชื่อ เพื่อถวายฎีกาคัดค้านการครอบครองยาเสพติดไม่เกินกำหนดเป็นผู้เสพ อันทำให้ผู้ติดยามีโอกาสใช้ยาทุกวันสะสมในสมองกลายเป็นระเบิดเวลารอการคลุ้มคลั่งได้ตลอด แถมยาเสพติดเป็นสารตั้งต้นก่อคดีอาชญากรรมทุกประเภทด้วยนี่ก็เป็นอีกหนึ่ง “ความห่วงใย” ที่เกรงจะเปิดช่องว่างให้ยาเสพติดเยอะขึ้นจน “เยาวชน” สามารถเข้าถึงง่าย นำไปสู่ตัวเลขการก่ออาชญากรรม และการทุจริตต่อหน้าที่โดยมิชอบสูงตามมา.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม