Thursday, 19 December 2024

๘๘ วัน ยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบล่าสุด ๑๔๗,๗๑๔ ราย ย้ำ ๒๙ ก.พ. วันสุดท้าย

มหาดไทย อัปเดตยอดลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ ๘๘ ประชาชนลงทะเบียนแล้ว ๑๔๗,๗๑๔ ราย มูลหนี้รวม ๑๐,๗๔๔ ล้าน ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว ๑๗,๒๘๗ ราย ย้ำ เหลือเวลาอีก ๓ วัน ปิดรับลงทะเบียน ๒๙ ก.พ. นี้วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยความคืบหน้า ผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ ๘๘ (รับตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖) โดยเมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. ที่ผ่านมา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง รายงานว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว ๑๔๗,๗๑๔ ราย มูลหนี้รวม ๑๐,๗๔๔.๙๑๖ ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ ๑๒๒,๗๒๒ ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ๒๔,๙๙๒ ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ ๑๑๘,๙๙๖ ราย พื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด ๕ ลำดับแรก ๑. กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด ๑๑,๒๑๕ ราย เจ้าหนี้ ๘,๖๑๘ ราย มูลหนี้ ๙๖๕.๖๓๗ ล้านบาท ๒. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน ๕,๙๔๘ ราย เจ้าหนี้ ๕,๖๔๙ ราย มูลหนี้ ๔๐๖.๙๔๙ ล้านบาท ๓. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน ๕,๔๓๓ ราย เจ้าหนี้ ๔,๔๒๖ ราย มูลหนี้ ๓๕๙.๙๓๐ ล้านบาท ๔. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน ๕,๑๓๙ ราย เจ้าหนี้ ๔,๒๕๑ ราย มูลหนี้ ๔๔๙.๖๔๒ ล้านบาท ๕. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน ๔,๑๑๔ ราย เจ้าหนี้ ๓,๐๓๐ ราย มูลหนี้ ๓๘๑.๙๙๘ ล้านบาทจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด ๕ ลำดับแรก ๑. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน ๒๔๓ ราย เจ้าหนี้ ๒๔๔ ราย มูลหนี้ ๑๔.๘๔๔ ล้านบาท ๒. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน ๓๕๐ ราย เจ้าหนี้ ๒๗๐ ราย มูลหนี้ ๒๔.๑๐๘ ล้านบาท  ๓. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน ๓๙๕ ราย เจ้าหนี้ ๓๑๐ ราย มูลหนี้ ๑๗.๔๖๓ ล้านบาท ๔. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน ๔๖๗ ราย เจ้าหนี้ ๓๕๓ ราย มูลหนี้ ๒๐.๘๐๖ ล้านบาท ๕. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน ๔๗๙ ราย เจ้าหนี้ ๓๘๙ ราย มูลหนี้ ๒๗.๓๙๕ ล้านบาท ทั้งนี้ มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว ๒๗,๑๙๙ ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๑๗,๒๘๗ ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย ๒,๔๖๓.๔๔๑ ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย ๑,๗๒๖.๒๕๐ ล้านบาท มูลหนี้ลดลง ๗๓๗.๑๙๐ ล้านบาท โดยจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุด คือจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม มีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ๓,๓๓๗ ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๔๘๒ ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย ๒๘๓.๘๒๐ ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย ๕๐.๒๔๗ ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง ๒๓๓.๕๗๒ ล้านบาท “สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือ กระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ ดำเนินคดีไปแล้ว ๒๘๘ คดี ใน ๔๐ จังหวัด”นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นความสำคัญในปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเปรียบเสมือนทาสยุคใหม่ เพราะคนที่เป็นหนี้นอกระบบต้องเผชิญกับการเก็บดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนด บางกรณีมีการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและยกระดับความเข้มข้นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีนโยบายในการจะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายให้ทุกจังหวัดเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ มาตั้งแต่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ รวมถึงกรุงเทพมหานคร บูรณาการกับทุกภาคส่วน เข้ามาช่วยกันในการดำเนินการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่องในส่วนของการนำเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ปัจจุบันมีประชาชนที่มาลงทะเบียนหนี้นอกระบบบางส่วนที่ไม่สามารถให้ข้อมูลของเจ้าหนี้นอกระบบได้ครบถ้วน ทำให้ติดตามมาไกล่เกลี่ยหนี้ได้ยาก เนื่องจากเป็นข้อมูลของเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นพวกปล่อยเงินกู้นอกระบบมืออาชีพ มีลูกน้องที่เรียกว่าแก๊งหมวกกันน็อก ใช้วิธีการทวงหนี้แบบเดินเก็บตามตลาด หรือในที่ที่ลูกหนี้ทำมาหากินอยู่ ในส่วนนี้กระทรวงมหาดไทยจะส่งข้อมูลของเจ้าหนี้นอกระบบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาทางจับกุมต่อไป อาทิ รายชื่อ และสถานที่ที่คนกลุ่มนี้ไปปล่อยกู้ ซึ่งทั้งหมดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการปล่อยกู้ อีกทั้งเก็บดอกเบี้ยที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมถึงส่งข้อมูลการทวงหนี้แบบใช้ความรุนแรง หรือข่มขู่คุกคามให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไป พร้อมเน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ครบ ๑๐๐% ตามเป้าหมาย “กระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของ นายเศรษฐา และ นายอนุทิน โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเต็มที่ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีความมุ่งมั่นในการที่จะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เป็นหนี้นอกระบบ เพราะต้องชำระดอกเบี้ยสูงมากและเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งยังมีกระบวนการวิธีการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง โหดร้ายทารุณ”ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายด้วยว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง ๓ วัน ที่พี่น้องประชาชนจะสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจะรับลงทะเบียนวันสุดท้ายคือ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนที่เป็นหนี้นอกระบบ มาลงทะเบียนให้ข้อมูลกับทางหน่วยงานภาครัฐผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง On-site ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด (ห้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด) ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง (ห้องศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ) สำนักงานเขตทั้ง ๕๐ เขตของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพื้นที่การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัด และตลาดนัดแก้หนี้อำเภอ หรือสามารถลงทะเบียนออนไลน์ (ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ) โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. ๑๕๖๗ ฟรีตลอด ๒๔ ชั่วโมง.