Thursday, 19 December 2024

พลัง อว. "สืบสาน-รักษา-ต่อยอด" ภูมิปัญญาไทยสู่ผลิตภัณฑ์ Soft Power ฟื้นช่างศิลป์อย่างยั่งยืน

27 Feb 2024
128

“อว.ช่วยช่างศิลป์ไทยให้ยั่งยืนอย่างไร” หัวข้อการเสวนาซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมาก ภายในงานนิทรรศการ “สืบสานงานช่างศิลป์ สู่ผลิตภัณฑ์ Soft Power” จัดโดยสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ในสังกัดสำนักบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือธัชชา ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยในงานนอกจากจะมีการเสวนาแล้ว ยังจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยที่บูรณาการข้ามศาสตร์ สร้างความรู้ความเข้าใจในการจัด การวัฒนธรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยสืบสาน พัฒนา และต่อยอดผลิตภัณฑ์ช่างศิลป์ท้องถิ่นสู่การสร้างคุณค่าและรายได้ ด็อกเตอร์สิริกร มณีรินทร์“สถาบันมีหน้าที่ศึกษารวบรวม ค้นคว้าภูมิปัญญาเชิงช่างเพื่อการอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด รวบรวมองค์ความรู้สู่คลังดิจิทัล อนุรักษ์สืบสานงานหัตถศิลป์ที่สุ่มเสี่ยงสูญหายด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ตลอดระยะเวลา ๓ ปี ได้รวบรวมข้อมูลเชิงช่าง ๓๔ จังหวัด รักษารากแก้วของภูมิปัญญาช่างศิลป์ไทยให้คงอยู่ ทั้งยังสร้างอาชีพและรายได้ สำหรับนิทรรศการที่จัดในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการงานวิจัยในสาขาศิลปกรรมศาสตร์ การออกแบบ วิทยาศาสตร์งานจักสาน ซึ่งเป้าหมายต่อไปยังมีบางจังหวัดที่ยังไม่ได้ทำจึงต้องมีการดำเนินการต่อ รวมทั้งดำเนินการในแขนงอื่นๆควบคู่ไปด้วย เพราะสถาบันฯ มีการแบ่งกรอบของสาขาที่ต้องดำเนินการอย่างชัดเจนเพื่อให้สะดวกต่อการทำงานโดยมองในแง่ของพื้นที่ที่มีงานศิลปกรรมที่ต้องการสำรวจเป็นคลังข้อมูลไม่ให้สูญหาย รวมถึงการถอดองค์ความรู้จัดเก็บให้มีมาตรฐาน ทำเป็นหลักสูตรทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อส่งต่อความรู้สู่คนรุ่นใหม่ ๓ ปีที่ผ่านมา สถาบันฯเปิดเวทีให้คนรุ่นเก่าและใหม่เกิดปฏิสัมพันธ์ช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน” ด็อกเตอร์สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ฉายภาพสถาบันฯในการอนุรักษ์สืบสานงานหัตถศิลป์ในงานเสวนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์วีรวัฒน์ สิริเวสมาศด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ รองคณบดี ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะมัณฑณศิลป์ ม.ศิลปากร ในฐานะหัวหน้า โครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสาน กล่าวว่า “ผมและคณะได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ โดยมุ่งเน้นเข้าไปเรียนรู้ พัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานให้ชุมชน ๖ จังหวัด ได้แก่ ยโสธร นราธิวาส น่าน ตราด แม่ฮ่องสอน และอ่างทอง แม้ว่าท้องถิ่นจะมีภูมิปัญญาเรื่องการจักสาน แต่เป็นสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนหรือจำหน่ายในประเทศ ดังนั้นถ้าจะส่งเสริมให้มีช่องทางมากขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงจำเป็น จึงมีการรวมทีมลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชาวบ้าน และสร้างโจทย์ใหม่ๆในผลิตภัณฑ์ ปรับวิธีคิดให้ชาวบ้านประยุกต์ต่อยอดให้เกิดจักสานรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงช่วยแก้ไขปัญหาเชื้อรา โดยร่วมมือกับ ศ.ด็อกเตอร์นันทนิตย์ วานิชาชีวะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร ทำ โครงการวิจัยเชื้อราในวัสดุ ให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ออกขายในตลาดต่างประเทศได้อย่างไม่มีปัญหา หลังจากนี้เชื่อว่าชาวบ้านจะต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับ มีช่องทางตลาดใหม่ๆ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า แม้ว่าอุตสาหกรรมจักสานจะไม่ใช่ตลาดใหญ่ แต่การรักษารากฐาน และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะ ปัจจุบันต่างชาติให้ความสำคัญเรื่อง ESG หรือการทำธุรกิจแบบยั่งยืน โดยเฉพาะตลาดยุโรป สินค้าจักสานจะมีราคาสูง แต่ต้องปรับดีไซน์ ฟังก์ชันการใช้ให้โดนใจ” ด็อกเตอร์กรกต อารมย์ดีขณะที่ ด็อกเตอร์กรกต อารมย์ดี ศิลปินศิลปาธร และนักธุรกิจเจ้าของแบรนด์ KORAKOT หนึ่งในทีมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานฯ กล่าวว่า “ผมทำผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่มากว่า ๑๘ ปี สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้จักสานของไทยไปต่อได้ คือการพัฒนาจักสานให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของต่างประเทศ เพราะชาวบ้านมีวิชาความรู้ ภูมิปัญญา วัสดุจากหลังบ้าน ทักษะความเป็นช่าง สิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาออกแบบให้เกิดรายได้ จึงสอนให้รู้จักเทรนด์ของตลาด การจัดการ การทำราคา กลไกตลาด นำพฤติกรรมผู้บริโภคมาสู่ผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความต้องการที่ตรงกัน หากมีการเรียนรู้ความต้องการของตลาดโลก จะมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันชาวบ้านเรียนรู้ที่จะปรับดีไซน์ ให้มีรูปลักษณ์ที่ร่วมสมัย เพื่อให้ตรงความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น เช่น โคมไฟ ฝาผนัง เพดาน เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะทำให้ชาวบ้านทั้ง ๖ จังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาความยากจนได้ นอกจากนี้อยากแนะนำให้ชาวบ้านส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนด้านการออกแบบ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ฉลอง สุขทองปิดท้ายที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ฉลอง สุขทอง อธิการบดี ม.ราชภัฏสุรินทร์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการดำเนิน โครงการมรดกภูมิปัญญาผ้าไหมยกทองสุรินทร์ กล่าวว่า “โครงการนี้ได้รับการอนุเคราะห์งบประมาณ ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ซึ่งเดิมชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดสุรินทร์ทอผ้าไหมและมีรายได้ไม่สูง เนื่องจากใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่การวิจัยรวบรวมข้อมูลการทอผ้าไหมยกทอง ทำให้ได้เรียนรู้การทอครบทุกขั้นตอน ซึ่งหลายชุมชนมีโอกาสได้เรียนรู้เป็นครั้งแรก จากเดิมที่มีรายได้หลักพันก็เพิ่มเป็นหลักหมื่น นอกจากนี้การดำเนินโครงการนี้ ยังเกิดการส่งต่อองค์ความรู้จากช่างรุ่นดั้งเดิมสู่ช่างรุ่นใหม่ครั้งใหญ่ในจังหวัด มีการอบรมช่าง ๕๐ คน ๑๗ อำเภอ ยกระดับทักษะการทอผ้าไหมชั้นสูง เพิ่มจำนวนช่างทอผ้าทักษะสูงระดับครูช่างจาก ๓ คนเป็น ๑๒ คน เกิดต้นแบบผ้าไหมยกทอง ๓ กลุ่มชาติพันธุ์ เป้าหมายต่อไป คือการเรียนรู้การตลาดและสร้างลายอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ขณะนี้ผ้าไหมยกทองได้กลายเป็น Soft Power ที่สร้างรายได้ เกิดการสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระปฐมบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย” “ทีมการศึกษา” ขอเป็นกำลังใจให้ อว.และผู้เกี่ยวข้องที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ธัชชา” โดยเฉพาะ สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น จะช่วยสืบสาน พัฒนา และต่อยอดผลิตภัณฑ์ช่างศิลป์ท้องถิ่นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้งานช่างศิลป์ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยเป็น Soft Power ไทยที่ดังไกลไปทั่วโลกอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป…!!!ทีมการศึกษาอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่