Friday, 20 September 2024

ผ่าน ๘๙ วัน มูลหนี้นอกระบบ ๑๐,๙๐๐ ล้าน ไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว ๑๗,๔๙๑ ราย

ปลัดมหาดไทย อัปเดตยอดลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ วันที่ ๘๙ ประชาชนลงทะเบียนแล้ว ๑๔๘,๖๖๖ ราย มูลหนี้รวม ๑๐,๙๐๐ ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๑๗,๔๙๑ ราย เน้นย้ำทำให้ครบ ๑๐๐% อีก ๒ วัน ปิดลงทะเบียน วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ ๘๙ โดยเมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. ที่ผ่านมา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง รายงานว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว ๑๔๘,๖๖๖ ราย มูลหนี้รวม ๑๐,๙๐๐.๒๐๐ ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ ๑๒๓,๒๔๑ ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ๒๕,๔๒๕ ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ ๑๒๐,๑๖๒ ราย พื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด ๕ ลำดับแรก ๑. กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด ๑๑,๒๓๔ ราย เจ้าหนี้ ๙,๘๒๔ ราย มูลหนี้ ๙๙๗.๘๐๑ ล้านบาท ๒. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน ๕,๙๗๙ ราย เจ้าหนี้ ๕,๖๙๙ ราย มูลหนี้ ๔๑๐.๗๕๙ ล้านบาท ๓. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน ๕,๔๖๕ ราย เจ้าหนี้ ๔,๔๖๑ ราย มูลหนี้ ๓๖๒.๕๓๓ ล้านบาท ๔. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน ๕,๑๕๗ ราย เจ้าหนี้ ๔,๒๗๓ ราย มูลหนี้ ๔๕๒.๓๗๕ ล้านบาท๕. จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน ๔,๑๘๓ ราย เจ้าหนี้ ๓,๐๙๗ ราย มูลหนี้ ๓๙๑.๔๑๙ ล้านบาท จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด ๕ ลำดับแรก ๑. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน ๒๔๕ ราย เจ้าหนี้ ๒๔๕ ราย มูลหนี้ ๑๔.๘๕๔ ล้านบาท ๒. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน ๓๕๒ ราย เจ้าหนี้ ๒๗๐ ราย มูลหนี้ ๒๔.๑๐๘ ล้านบาท ๓. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน ๓๙๗ ราย เจ้าหนี้ ๓๑๒ ราย มูลหนี้ ๑๗.๕๗๖ ล้านบาท ๔. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน ๔๗๐ ราย เจ้าหนี้ ๓๔๕ ราย มูลหนี้ ๒๐.๗๖๗ ล้านบาท ๕. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน ๔๘๖ ราย เจ้าหนี้ ๓๙๖ ราย มูลหนี้ ๒๗.๙๖๑ ล้านบาท ล่าสุด มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว ๒๗,๔๑๒ ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๑๗,๔๙๑ ราย โดยมูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย ๒,๔๙๓.๑๔๑ ล้านบาท และหลังการไกล่เกลี่ย ๑,๗๔๙.๑๖๘ ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ลดลง ๗๔๓.๙๗๓ ล้านบาท ส่วนจังหวัดที่นำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุด ยังคงเป็นนครสวรรค์ โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ๓,๓๓๗ ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ๔๘๒ ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย ๒๘๓.๘๒๐ ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย ๕๐.๒๔๗ ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง ๒๓๓.๕๗๒ ล้านบาท “สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือ กระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหนี้และลูกหนี้มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่แล้ว ๒๙๐ คดี ใน ๔๐ จังหวัด”นายสุทธิพงษ์ เผยต่อไปว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ โดยมีความมุ่งมั่นในการที่จะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคนที่เป็นหนี้นอกระบบ เพราะต้องชำระดอกเบี้ยสูงมากและเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งยังมีกระบวนการวิธีการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง  ในส่วนของการนำเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ปัจจุบันมีประชาชนที่มาลงทะเบียนหนี้นอกระบบบางส่วนที่ไม่สามารถให้ข้อมูลของเจ้าหนี้นอกระบบได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้การติดตามเพื่อเชิญมาไกล่เกลี่ยหนี้ได้ยาก ซึ่งเราพบว่าเป็นข้อมูลของเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นพวกปล่อยเงินกู้นอกระบบมืออาชีพ มีลูกน้องที่เรียกว่าแก๊งหมวกกันน็อกไปปล่อยเงินกู้ตามตลาดตามชุมชน ชาวบ้านจึงทราบเฉพาะเพียงชื่อเล่นของเจ้าหนี้ ซึ่งใช้วิธีการทวงหนี้แบบเดินเก็บตามตลาด หรือในที่ที่ลูกหนี้ทำมาหากินอยู่ ในส่วนนี้ กระทรวงมหาดไทยจะได้ส่งข้อมูลรายละเอียดของเจ้าหนี้นอกระบบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาทางจับกุมต่อไป“ทั้งหมดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการปล่อยกู้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเก็บดอกเบี้ยที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมถึงได้ส่งข้อมูลการทวงหนี้แบบใช้ความรุนแรง หรือข่มขู่คุกคาม ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งสำหรับการดำเนินการไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหมายถึงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ซึ่งผมได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ครบ ๑๐๐% ตามเป้าหมาย”ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวย้ำในช่วงท้ายว่า ขณะนี้คงเหลือเวลาอีกเพียง ๒ วัน ที่ยังสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และจะปิดรับลงทะเบียนวันสุดท้าย ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ โดยภาครัฐมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบ จึงขอให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบมาลงทะเบียนให้ข้อมูลกับทางหน่วยงานภาครัฐผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด (ห้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด) ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง (ห้องศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ) สำนักงานเขตทั้ง ๕๐ เขตของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพื้นที่การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัด และตลาดนัดแก้หนี้อำเภอ หรือลงทะเบียนทางระบบออนไลน์ (ลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ) โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. ๑๕๖๗ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง