วิกฤติการเมืองตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ การยึดอำนาจ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นภาคสองของสงครามชิงอำนาจ ประชาธิปไตยอ่อนแอ กับ เผด็จการซ่อนรูป ต่อเนื่องจากภาคแรก เมื่อปี ๒๕๔๙ สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ก่อนหน้านั้นความพยายามเข้ามายึดอำนาจการปกครอง ของกองทัพ ยังไม่เต็มใบ จนกระทั่งวิกฤติการเมืองปี ๒๕๓๕ กองทัพตัดสินใจส่ง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้น จากหัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ได้รับ บทเรียนราคาแพงจนกองทัพต้องตัดสินใจถอยออกมา ๑ ก้าว แต่ก็ยังส่งตัวแทน royalist มาเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ไม่ปล่อยมือร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะเป็นโมเดลของกองทัพ ถ้ามีรัฐบาลจากการยึดอำนาจ ก็จะส่งตัวแทนจากคณะยึดอำนาจมาเป็นรัฐบาลชั่วคราว เพื่อร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่แปลกว่ายุคหนึ่ง ผู้นำประเทศส่วนใหญ่จะมาจากกองทัพ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต้องสู้กับฝ่ายประชาธิปไตยและกองทัพไปพร้อมกัน เนื่องจากฝ่ายประชาธิปไตยที่แพ้การเลือกตั้ง คาดหวังที่จะเข้ามามีอำนาจทางการเมืองด้วยวิธีทางลัด อ้างการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตยด้วยความสงบ โดยปราศจากอาวุธ สุดท้ายก็กวักมือให้กองทัพเข้ามายึดอำนาจอาศัยอำนาจปลายกระบอกปืน จนได้เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ มีนายกฯพระราชทาน มีนายกฯที่มาจากกองทัพ โดยเสียงส่วนใหญ่ของพรรคการเมือง แต่ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ดี เพราะเป็นนายกฯที่เชิญมาจากคณะปฏิวัติ เพียงแต่มีรัฐธรรมนูญเฉพาะกาลรับรองว่าเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เป็นที่มาของ ประชาธิปไตยอ่อนแอ เผด็จการซ่อนรูป และประชาธิปไตยครึ่งใบจนกระทั่งปี ๒๕๕๗ กองทัพตัดสินใจส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นรัฐบาลครบเทอม บริหารราชการแผ่นดินโดยราบรื่นกว่าการเข้ามายึดอำนาจของกองทัพทุกครั้ง เพราะฝ่ายการเมืองแบ่งเป็นสองซีกคือ เอา ระบอบทักษิณ กับ ไม่เอา ระบอบทักษิณ และ ขั้วบูรพาพยัคฆ์ ที่นำโดยพี่น้องสาม ป. สร้างพรรคการเมืองขึ้นมาเป็นของตัวเอง โดยรวบรวมเอาคนการเมืองจากทุกพรรคมาผสมรวมกัน ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดเวลานั้นกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ แต่ด้วยการกำเนิดของพรรคการเมืองที่มาจากการยึดอำนาจมีจุดอ่อนคือ เสียงสนับสนุนจากประชาชน ความพยายามในการทำสงครามแย่งชิงประชาชนไม่ประสบความสำเร็จ และกลายเป็นดาบสองคมในที่สุด แต่ที่ประสบความสำเร็จคือ การสลายขั้วอำนาจเก่า ระบอบทักษิณ (นักการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ข้าราชการ) ได้สำเร็จ โดยที่ต้องแลกกับขั้วอำนาจบูรพาพยัคฆ์ ที่เอากองทัพมาแทรกแซงการเมืองมากไป ไม่มีการกระจายอำนาจ ใช้พระเดช ไม่ใช้พระคุณ เมื่อสิ้นสุดอำนาจตาม ม.๔๔ ก็เท่ากับไม่มีอาวุธอยู่ในมือแต่เผอิญว่า ยังมีขั้วการเมืองที่ฆ่าไม่ตายอีกขั้วคือ อนาคตใหม่ หรือก้าวไกล เป็นเงาที่บดทับ เพื่อไทย แต่ใหม่กว่า สดกว่า มีพลังมากกว่า และถูกจริตคนรุ่นใหม่มากกว่า แต่เพื่อไทยกลับถอยหลังลงคลองแม้ในที่สุด จันทร์ส่องหล้ากับบูรพาพยัคฆ์จะถูกผลักมาให้อยู่ในน้ำเดียวกัน ทั้งที่เป็นปลาคนละน้ำชนิดสุดขั้ว แต่ก็เป็นการรวมการเฉพาะกิจ บูรพาพยัคฆ์ใกล้จะหมดบ่วงกรรมไปแล้ว ไม่มีใครถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง แต่จันทร์ส่องหล้ายังจะต้องเผชิญกับเจ้ากรรมนายเวรอีกหลายตลบ ถึงแม้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเช่น นปช.จะไม่มีเรี่ยวแรงแต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่เอาบูรพาพยัคฆ์ก็กำลังจะไม่เอาจันทร์ส่องหล้า เป็นราคาที่ต้องจ่าย.หมัดเหล็กmudlek@thairath.co.thคลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม