มติสภาฯ รับ หลักการ กฎหมายชาติพันธุ์ ๕ ฉบับหนุน กลุ่มชาติพันธุ์ ได้รับสวัสดิการ-มีรายได้จากการท่องเที่ยว พร้อมตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ ๔๒ คน ใช้ร่างฯ คณะรัฐมนตรีเป็นหลัก แปรญัตติ ๑๕ วัน วันที่ ๒๘ ก.พ. ๖๗ ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.… คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ และร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ…. นายศักดิ์ดา แสนมี่ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน ๑๒,๘๘๘ คนเป็นผู้เสนอ ซึ่งครม.ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ และได้ส่งคืนสภาฯ เพื่อพิจารณา ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ พ.ศ.๒๕๖๒ ข้อ ๑๑๘ ประกอบกับมีร่าง พระราชบัญญัติทำนองเดียวกันอีก ๓ ฉบับ พิจารณาในคราวเดียวรวมทั้ง ๕ ฉบับ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการวัฒนธรรม ตัวแทนครม. เสนอเหตุผลว่า โดยที่มาตรา ๗๐ ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตอยู่ในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั่งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุขไม่ถูกรบกวน เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายของความมั่นคงของรัฐหรือสุขภาพอนามัย จึงสมควรให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ขณะที่นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายเหล่านี้ว่า เพื่อให้มีกฎหมายคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ที่ประเทศไทย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีการตั้งถิ่นฐานกระจายในภูมิภาคต่างๆ ทั้งพื้นที่สูง เกาะแก่งตามชายฝั่ง อาศัยในป่า และกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานบนพื้นราบกลมกลืนกับคนไทยปกติ ซึ่งรัฐธรรมนูญ ได้รับรองให้บุคคลเสมอกันตามกฎหมาย และประเทศไทยยังลงนามสัญญา และอนุสัญญากับต่างชาติ รวมถึงพันธสัญญาระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติจากรัฐ และไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบางประการ เช่น การกำหนดสถานะบุคคล สิทธิอาศัยในที่ดินที่ทับซ้อนพื้นที่อนุรักษ์ทางราชการ ขาดการเข้าถึงการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน และขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครอง ขณะที่ น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอกฎหมาย ชี้แจงว่า แม้ที่ผ่านมารัฐจะมีมาตรการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ยังขาดกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการอันเหมาะสมในการปฏิบัติ ทำให้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบางประการ เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ทับซ้อนพื้นที่ราชการที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ ตลอดจนขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่กระทบต่อวิถีชีวิต จึงควรมีกฎหมายส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมภูมิปัญญา ภาษา และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ และให้กลุ่มชาติพันธุ์ มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง และสังคมทุกระดับจากนั้นเป็นการอภิปรายของสมาชิก น.ส.ศรีโสภา โกฏคำลือ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล บางพื้นที่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก็ยังเข้าไม่ถึง หากมีพี่น้องได้รับบาดเจ็บหรือป่วยต้องการรักษาในโรงพยาบาลอาจจะต้องใช้เวลาเดินทาง ๓-๔ ชั่วโมง เพื่อไปถึงโรงพยาบาล ซึ่งยังไม่รวมสิทธิทางการศึกษา สิทธิที่ดินทำกิน ดังนั้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ จะช่วยให้เราจัดสวัสดิการของภาครัฐ คำนึงถึงพี่น้องชาติพันธ์ุมากยิ่งขึ้น ให้พวกเขามีสิทธิขึ้นพื้นฐาน ศักดิ์ศรี เท่ากับคนในเมือง รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า มี ๔ เสา เป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตชนเผ่า และชาติพันธุ์ ได้แก่ การให้สิทธิที่ทำกิน การคุ้มครองส่งเสริมวัฒนธรรม การให้สิทธิเด็กรหัสจี และการให้สัญชาติ เพื่อได้รับการคุ้มครองสิทธิ และเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ แต่ในสภาพความเป็นจริงของประเทศไทยนั้น กลับพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีที่ทำกินของตนเอง วัฒนธรรมสูญหาย โดยเฉพาะภาษาสื่อสาร เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้รับการบริการจากรัฐ และถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ กฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ ป่าสงวน อุทยาน, งบประมาณต่อผู้ไร้สัญชาติไม่เพียงพอ, และการบริหารงานของภาครัฐ ที่ยังเข้าใจผิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ดังนั้น จึงขอให้สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันรับหลักการร่างกฎหมายเหล่านี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแนวโน้มของโลกพิสูจน์แล้วว่า กลุ่มชาติพันธุ์ มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ป่า และเปลี่ยนวิธีคิด ไม่แยกคนออกจากป่า และให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วม ลดการตัดไม้ทำลายป่า และเศรษฐกิจชาติพันธุ์ กำลังเป็นที่ส่งเสริมทั่วโลก รวมถึงการเปลี่ยนปัญหา ให้กลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจทั้งนี้ การอภิปรายของ สส.คนอื่นๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสนับสนุนต่อหลักการในร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับสวัสดิการ รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับมากขึ้น เท่าเทียมกับคนในเมือง โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข การศึกษา และการประกอบอาชีพ รวมถึงยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการส่งเสริมทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มชาติพันธุ์ ที่แต่ละกลุ่มจะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป เช่น การนับวันปีใหม่ ที่ภาครัฐส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม สร้างรายได้ให้กับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ได้ พร้อมขอให้ระมัดระวังการจัดตั้งสภาชนเผ่าต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะบางการดำเนินการที่อาจนำไปสู่การแตกแยกได้ ดังนั้น ก็จะต้องคำนึงถึงมิติด้านความมั่นคงด้วยก่อนการลงมติ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เสนอญัตติให้ที่ประชุม แยกการลงมติรายฉบับ แทนการลงมติในคราวเดียวทั้งหมด แต่นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ได้เสนอให้ที่ประชุมลงมติพร้อมกันในคราวเดียว ซึ่งหากไม่เห็นด้วยในประเด็นใด ก็ขอให้ไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ แต่ที่สุดแล้ว ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก ๒๕๔ ต่อ ๑๕๖ เสียง ให้ลงมติแยกรายฉบับ ที่ประชุม มีมติเอกฉันท์ ๔๑๔ เสียง รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และมีมติเสียงข้างมาก รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ที่คณะนายศักดา แสนมี่ เป็นผู้เสนอ ด้วยมติ ๓๘๖ ต่อ ๒๕ เสียง รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยภาคประชาชน คณะของนายนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ด้วยมติ ๓๘๕ ต่อ ๒๕ เสียง รวมถึงรับหลักการ พระราชบัญญัติที่พรรคเพื่อไทย ด้วยมติเอกฉันท์ ๔๑๒ เสียง และมีมติเห็นด้วยกับร่าง พระราชบัญญัติที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ด้วยมติ ๓๘๙ เสียงต่อ ๒๕ เสียง จึงถือว่า ที่ประชุมรับหลักการร่างพ.ร.บ.ทั้ง ๕ ฉบับ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน ๔๒ คน โดยใช้ร่างครม.เป็นหลัก แปรญัตติ ๑๕ วัน