Sunday, 19 January 2025

“สส.สุรเชษฐ์” อัดโครงการฝายดินซีเมนต์ เหมือนแจกเสื้อโหล ชงตัดงบ ๑,๒๐๐ ล้านบาท

“สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” เสนอคณะอนุฯ ตัดงบโครงการฝายดินซีเมนต์สำเร็จ วงเงินกว่า ๑,๒๐๐ ล้านบาท ชี้ เหมือนโครงการ “แจกเสื้อโหล” ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และอาจไม่โปร่งใส ชวนจับตาสัปดาห์หน้าหน่วยงานจะอุทธรณ์หรือไม่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการปกครอง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๗ สภาผู้แทนราษฎร ในส่วนงบประมาณของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ซึ่งนายสุรเชษฐ์ในฐานะกรรมาธิการได้เข้าร่วมให้เหตุผลต่อเนื่องจากการพิจารณาในคณะใหญ่ โดยขอให้คณะอนุฯ พิจารณาปรับลดงบประมาณโครงการฝายดินซีเมนต์และส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สถ. แจ้งว่ามีจำนวน ๓,๓๒๖ รายการ วงเงิน ๑,๒๕๔ ล้านบาท จากยอดรวมหนึ่งบรรทัด ๒,๕๖๓ ล้านบาทในเล่มขาวคาดแดงก่อนหน้านี้ ในที่ประชุมคณะใหญ่ (กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบฯ ๖๗) นายสุรเชษฐ์ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการฝายดินซีเมนต์เป็นโครงการ “แจกเสื้อโหล” โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่เท่าที่ควร พร้อมกับตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็น (๑) เรื่องระยะเวลาการขอและอนุมัติงบประมาณที่ดูเหมือนรีบตรวจรีบชงอย่างผิดสังเกต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ มีเวลาเพียง ๑๒ วัน ในการสำรวจหน้างาน เลือกสถานที่ทำฝาย ทำแบบก่อสร้าง ประเมินราคา ก่อนเสนอกระทรวงมหาดไทยให้ ครม. พิจารณาอนุมัติแบบด่วนพิเศษ (๒) เรื่องมูลค่าของฝายดินซีเมนต์หลายแห่งมีราคากลางต่ำกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาทเพียงเล็กน้อย เหมือนจงใจหลีกเลี่ยงการแข่งขัน โดยอาศัยเงื่อนไขใน พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (๓) ฝายดินซีเมนต์มีลักษณะเป็น “ฝายชั่วคราว” ซึ่งในทางวิศวกรรมประเมินว่าโดยเฉลี่ย ๒-๓ ปีก็พัง อาจเป็นกลโกงหลบเลี่ยงการประกันผลงาน จากปกติที่การก่อสร้างต้องมีระยะเวลาประกันผลงานอย่างน้อย ๒ ปี แต่มีช่องทางกฎหมายยกเว้นให้สำหรับงานดินที่ไม่มีการราดคอนกรีต (๔) การถูกนำไปโฆษณาเกินจริง เช่น จะเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำ แก้ไขปัญหาภัยแล้งสำหรับการเกษตร ทั้งที่จริงฝายดินซีเมนต์เก็บน้ำได้ไม่มาก ไม่เพียงพอสำหรับการเกษตร และฝายก็ไม่ได้มีไว้เพื่อเก็บน้ำ แต่มีไว้เพื่อยกน้ำให้สูงขึ้นเพื่อส่งเข้าระบบชลประทานซึ่งแทบไม่มีในโครงการนี้ ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าฝายไม่ได้เหมาะที่จะสร้างทุกที่ หากสร้างผิดที่ จะเป็นการทำลายแหล่งน้ำโดยในการประชุมคณะอนุฯ เมื่อวานนี้ (๒๗ ก.พ.) นายสุรเชษฐ์ได้อธิบายถึงเหตุผลและยืนยันอย่างหนักแน่นว่าต้องตัดงบประมาณของโครงการฝายดินซีเมนต์เพราะหากปล่อยให้ดำเนินการจะเป็นพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว “เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ” อย่างเห็นได้ชัด โดยได้เสนอว่าหากใครในที่ประชุมไม่เห็นด้วยก็ขอให้แสดงตนพร้อมเหตุผลในการคัดค้าน ทั้งนี้ ผลการลงมติปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ของคณะอนุฯ เห็นด้วยให้ตัดงบฝายดินซีเมนต์และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องนายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ถือเป็นความสำเร็จในชั้นอนุกรรมาธิการตามที่คณะใหญ่ได้มอบหมายหน้าที่ให้มาพิจารณาในรายละเอียด อย่างไรก็ตาม กระบวนการยังไม่จบ ต้องรอดูช่วงต้นสัปดาห์หน้าว่าหน่วยงานจะขออุทธรณ์มาที่คณะใหญ่หรือไม่ ด้วยเหตุผลใด ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ศึกษามาอย่างดีแล้วและพร้อมสู้ด้วยเหตุผลเพื่อปรับลดงบประมาณในโครงการที่ไม่คุ้มค่าและไม่โปร่งใสเช่นนี้ อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน  นอกจากนี้ ในอนาคต ตนอยากเห็นการกระจายอำนาจและเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง ให้กรอบเงินไปแล้วท้องถิ่นมีสิทธิ์เลือกใช้เอง รับทั้งผิดและชอบเอง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดีกว่าการ “แจกเสื้อโหล โดยไม่สนใจ Flow ของน้ำ”