Sunday, 22 December 2024

วิสัยทัศน์ที่ ๙ ที่ขาดหายไป

คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรัฐมนตรีคลัง แถลงเช้าวันที่ ๒๒ ก.พ. ประกาศวิสัยทัศน์ประเทศไทย ๘ ข้อ “IGNITE THAILAND จุดพลังรวมใจไทยต้องเป็นหนึ่ง” ผ่านโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ หวังนำประเทศไทยก้าวสู่อันดับ ๑ ของภูมิภาค ๘ วิสัยทัศน์ที่นายกฯ “เศรษฐา” ประกาศไปนั้น ผมเห็นด้วยทุกวิสัยทัศน์ ภาวนาขอให้ทำได้จริงๆ แต่ที่น่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ ใน ๘ วิสัยทัศน์ ที่ นายกฯเศรษฐา ประกาศออกไปนั้น กลับไม่มีวิสัยทัศน์เรื่อง “การศึกษา” ซึ่งสำคัญที่สุดอยู่ด้วยเลยอย่างไรก็ตาม นายกฯเศรษฐา ได้พูดถึงการศึกษาในช่วงปิดท้ายว่า “โอกาสทางการศึกษาที่จะต้องได้รับการพัฒนา โดยรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน เปิดช่องทางการเรียนรู้ใหม่ๆ สร้างกลไกที่เอื้อให้เอกชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่การพัฒนา Content การทำ Play–based learning พร้อมทั้งผลักดันเด็กไทยอ่านภาษาอังกฤษ ต่อยอดภาษาต่างประเทศได้ด้วย”  นายกฯพูดถึงการศึกษาไทยแค่นี้จริงไปดูเอกสารได้ผมอยากยกตัวอย่างคำไว้อาลัย นายลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์จากเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย กลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าที่สุดติดอันดับท็อป ๑๐ ของโลกทุกปี รัฐมนตรีศึกษาสิงคโปร์ กล่าวในคำอาลัยว่า “แม้ว่าสิงคโปร์ในยุคก่อร่างสร้างตัว จะมีทรัพยากรที่จำกัด แต่ลีกวนยูให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่อง “การศึกษา” เพราะเชื่อว่าทรัพยากรที่ดีที่สุดของสิงคโปร์ก็คือ “คนสิงคโปร์””เช่นเดียวกับ ประเทศไทย ถ้า “คนไทยยังเป็นอยู่อย่างนี้” และรัฐบาลไม่สนใจเรื่อง “การศึกษา” อย่างจริงจัง อนาคตประเทศไทยก็คงไม่มีทางแซงหน้าสิงคโปร์ขึ้นมาเป็นอันดับ ๑ ในภูมิภาค  รวมทั้ง วิสัยทัศน์ ๘ ข้อ ที่ประกาศไปนั้น ก็อาจจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน เช่นเดียวกับ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ที่กลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคของประเทศไทยประเทศจีน ตอนที่ “มังกรร่างเล็ก” เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดจีนประกาศ “นโยบาย ๔ ทันสมัย” ในปี ๑๙๗๘ ๑.อุตสาหกรรมทันสมัย  ๒.การเกษตรทันสมัย ๓.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทันสมัย ๔.การทหารทันสมัย เพื่อนำประเทศจีนก้าวไปอยู่แถวหน้าในเวทีโลก สิ่งแรกที่ มังกรเติ้ง ทำเลยก็คือ คัดนักเรียนจีนที่เรียนเก่งนับแสนๆคน ให้ทุนออกไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศทั่วโลก เพื่อนำความรู้ใหม่ๆ กลับมาพัฒนาประเทศจีน ตามนโยบาย ๔ ทันสมัย มังกรเติ้งส่งนักเรียนจีนออกไปเรียนทุกปี  แม้จะไม่กลับมาบ้าง ก็ไม่เป็นไร เมื่อ “คนจีนรุ่นใหม่” ที่เต็มไปด้วยวิทยาการใหม่ กลับบ้านมาทำงานที่ประเทศจีนนับแสนนับล้านคน ก็สามารถสร้างประเทศจีนให้เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลกในเวลาอันสั้นเพียง ๔๖ ปี นับจากวันประกาศนโยบาย ๔ ทันสมัยล่าสุด เวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านไทยที่เคยล้าหลังไทยมาก เศรษฐกิจบ้านเมืองเสียหายจากสงคราม แต่วันนี้เวียดนามกลับแซงหน้าไทยหลายด้าน เช่น ข้าว เวียดนามก็ปลูกข้าวต่อไร่ได้มากกว่าชาวนา ไทยเกือบเท่าตัว แต่ชาวนาไทยยังปลูกได้เท่าเดิมและจนกว่าเดิมข้อมูลล่าสุดที่กล่าวขวัญกันในไลน์ช่วงนี้ เป็นข้อมูลจาก ยูเนสโก ระบุว่า ปี ๒๐๒๑ เวียดนามส่งนักเรียนออกไปเรียนต่อชั้นอุดมศึกษาในประเทศต่างๆ ถึง ๑๓๗,๐๒๒ คน มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน จุดหมายปลายทางยอดฮิต ๕ อันดับแรกคือ ญี่ปุ่น  ๔๔,๑๒๘ คน เกาหลีใต้ ๒๔,๙๒๘ คน สหรัฐฯ ๒๓,๑๕๕ คน ออสเตรเลีย ๑๔,๑๑๑ คน แคนาดา ๘,๙๔๓ คน และชาวเวียดนามยังทยอยส่งไปเรียนไม่หยุดเช่นเดียวกับจีนตอนสร้างประเทศสู่ ๔ ทันสมัยอันดับ ๒ อินโดนีเซีย ๕๙,๒๒๔ คน อันดับ ๓ มาเลเซีย ๔๘,๘๑๐ คน อันดับ ๔ ประเทศไทย ๒๘,๖๐๙ คน อันดับ ๕ ฟิลิปปินส์ ๒๖,๒๑๙ คน อันดับ ๖ สิงคโปร์  ๑๙,๕๐๘ คน เทียบกับประชากร ๕ ล้านคนของสิงคโปร์แล้วก็เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากอีกปีสองปี นักเรียนนอกเวียดนามหลายแสนคน จะทยอยกลับไปทำงานที่ประเทศเวียดนาม แล้วไทยจะสู้เวียดนามได้ไหม? เป็นคำถามที่ท้าทาย นายกฯเศรษฐา อย่างยิ่ง.“ลม เปลี่ยนทิศ”คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม