Thursday, 19 December 2024

สคช.จับมือ กยศ.ดัน "นักเรียน-นักศึกษา" สู่ระบบ EWE เปิดโอกาส มีงานทำ

สคช.จับมือ กยศ.ผลักดัน นักเรียน นักศึกษา ในเครือข่ายกว่า ๖ ล้านคน เข้าสู่ระบบ E-Workforce Ecosystem (EWE) บริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคน เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเปิดโอกาส การมีงานทำ วันที่ ๒๙ ก.พ. ๖๗ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. จับมือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนผ่านระบบ E-Workforce Ecosystem โดยมีนางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วย นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นผู้จรดปากกาลงนาม โดยมี นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วยนางสาวนฤมล พูลทรัพย์ ที่ปรึกษาสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และนางสาวนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ รองผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้ง ๒ ฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน นางสาวจุลลดา กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งครั้งสำคัญ ในการร่วมกันพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยมีเจตนารมณ์ ในการร่วมกันส่งเสริมการใช้งานระบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Portfolio พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem (EWE) ในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคน เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย รวมถึงผลักดันการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ผ่าน E-Training ซึ่งทาง กยศ. มีการเปิดช่องทาง Up Skill และ Re Skill ซึ่งตรงกับความตั้งใจและเจตนารมณ์ ของสถาบัน ที่ต้องการเพิ่มช่องทาง ในการพัฒนากำลังคนของประเทศ โดย สคช. จะเป็นหน่วยงาน ที่มีเครื่องมือพร้อมสำหรับการใช้งาน ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์จากการให้บริการบนแพลตฟอร์ม EWE โดยทาง กยศ. จะเดินหน้าขับเคลื่อนให้นักเรียน นักศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืม ได้เข้าใช้งาน E-portfolio ซึ่งสามารถเก็บประวัติข้อมูลด้านการศึกษา ผลงาน ประสบการณ์ทำงาน การฝึกอบรมต่างๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถสร้างเรซูเม่ เปิดโอกาสไปสู่การมีงานทำ ผ่านระบบจับคู่งาน หรือ Job Matching กับสถานประกอบการต่างๆ ตลอดจนการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม เพื่อช่วยเพิ่มทักษะ พัฒนาทักษะ และสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็น ด้วยการขอรับ E-Coupon พร้อมเก็บสะสมสมรรถนะที่เกิดจากการเรียนรู้ ได้ที่ระบบ Competency Credit Bank นำไปสู่การได้รับคุณวุฒิวิชาชีพที่เทียบเท่ากับคุณวุฒิการศึกษา เพื่อการยกระดับกำลังคนของประเทศ ทั้งนี้ กยศ. ยังสามารถดูรายงานสถานะการมีงานทำของนักเรียนหรือนักศึกษาในรูปแบบแดชบอร์ด (Dashboard) ตลอดจนการประกอบอาชีพของนักเรียน นักศึกษา ในเครือข่าย เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ วางแผนการให้เงินทุนกู้ยืมการศึกษา และการกำหนดสาขาวิชาที่จะให้เงินทุนกู้ยืมการศึกษาได้ต่อไป นายชัยณรงค์ กล่าวว่า กองทุน มีนักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืม ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙-๒๕๖๗ ไปแล้วกว่า ๖.๘ ล้านคน เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า ๗.๖ แสนล้านบาท ทั้งนี้ กยศ. มีการเปิดช่องทางให้นักเรียน นักศึกษา ได้กู้ยืมเงินเพื่อมีโอกาสฝึกอาชีพ Up Skill Re Skill เริ่มต้นที่สาขาบริบาล เพื่อให้บุคคลกลุ่มนี้สามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งหากคนกลุ่มนี้ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ก็จะช่วยสร้างความมั่นคง และมีรายได้จากการประกอบอาชีพ สำหรับบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในครั้งนี้ กยศ. เล็งเห็นความสำคัญ ของ EWE Platform โดยเฉพาะระบบ E-Portfolio ที่สามารถให้นักเรียน นักศึกษาในเครือข่าย ที่มีความรู้ และความสามารถ ได้มีโอกาสในการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ พร้อมเก็บข้อมูลด้านการศึกษา การฝึกอบรม และประสบการณ์ต่างๆ ผ่าน E-Portfolio นำไปสู่การมีงานทำ และการประกอบอาชีพที่มั่นคงต่อไป