Sunday, 19 January 2025

พิธา ถามนายกฯ ศูนย์กลางการบินทำเพื่อใคร ไม่เหมาะตรงไหน หมออ๋อง ทวง ก.ม.ถูกดอง

“ทิม พิธา” แจง ปมชู้สาวผู้ช่วย สส.อุดรฯ ก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว แนะ “เศรษฐา” คิดให้ดีศูนย์กลางการบินทำเพื่อใคร ถาม ไม่เหมาะสมตรงไหน “หมออ๋อง” บุกทำเนียบฯ ทวงกฎหมายถูกดอง แนะรัฐบาลกล้าสังคายนาที่ดิน ส.ป.ก.วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๗ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ที่ จ.อุดรธานี ถึงกรณีเพจก้าวไกลโกหกอะไร ออกมาโพสต์เรื่องผู้ช่วย สส.ของ นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ สส.อุดรธานี พรรคก้าวไกล มีสัมพันธ์กับสามีคนอื่นหรือไม่ ว่า เรื่องนี้เราไม่นิ่งนอนใจ ทาง สส.อุดรธานี ก็ได้แอ็กชันไปแล้ว โดยการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เรื่องนี้มีรายละเอียดที่คู่กรณีทั้ง ๒ ฝ่าย อยากเป็นแค่เรื่องส่วนตัว เราจึงให้เขาหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว และให้เลขาธิการพรรคคอยติดตามเรื่อง ไม่ให้สอบกันเอง หากมีความคืบหน้าอย่างไรก็จะแจ้งให้ได้ทราบให้เร็วที่สุดจากนั้น นายพิธา ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงวิสัยทัศน์ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ว่า ภาพรวมถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องคิดว่าทำเพื่อใคร ถ้าทำให้แค่นายทุน ชาวต่างชาติ มีคนมาลงทุนมากมาย แต่ไม่เคยไหลลงมาสู่แรงงานไทย หรือคนในพื้นที่ไม่มีโอกาสได้ขึ้นเครื่องบิน ส่วนที่นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าให้สนามบินสุวรรณภูมิ ติด ๑ ใน ๒๐ อันดับของโลกนั้น มองว่าเป็นเรื่องดีเช่นกัน และน่าจะทำได้ แต่เท่าที่เคยประชุมกับสมาคมสายการบินต่างๆ พบว่า ตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียเส้นทางสายการบินไปให้สิงคโปร์ จึงอยู่ที่การบริหารจัดการการทูตเชิงรุก ที่จะทำให้ IATA กลับมาอยู่ที่ไทย ไม่ได้หมายความว่าถ้าเรามีสนามบินเยอะๆ จะกลายเป็นฮับด้วยปริมาณ ต้องมีการลงรายละเอียดด้วยส่วนคำวิจารณ์ว่าฝ่ายค้านทำหน้าที่แผ่วลงนั้น นายพิธา กล่าวว่า “ไม่แผ่ว แต่เรามองเป็นยุทธศาสตร์ ขอเน้นคุณภาพมากกว่าความเร็ว ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายแล้ว เราต้องอภิปรายบ้าง ต้องดูข้อมูล เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไป ๑ ปีมีแค่อย่างละ ๑ ครั้ง โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องออกอาวุธเมื่อมีประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ตอนที่โดนเร่งเร้าให้ใช้ หากมีเรื่องอภิปรายที่สำคัญก็กลับมาใช้สิทธิ์นั้นไม่ได้แล้ว”  เมื่อถามถึงแนวโน้มที่จะเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ นายพิธา ระบุว่า ก็เป็นไปได้ทั้งการอภิปรายทั่วไปและอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากตอบตรงๆ เขาก็รู้ ขณะเดียวกัน นายพิธา ยังประเมินการทำงานของรัฐบาลในช่วงเวลา ๖ เดือน ว่า ในใจอยากให้รัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหาประเทศให้มากขึ้น ข้อดีที่เห็นอยู่คือ เรื่องการต่างประเทศที่ช่วยวิกฤติสงครามในอิสราเอล แต่เข้าใจว่าขณะนี้ยังมีคนอุดรธานีติดอยู่ที่นั่นประมาณ ๗-๘ คน จึงขอฝากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามเรื่องนี้ให้กับพี่น้องชาวอุดรธานีด้วย สำหรับประเด็นที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ ๑ ที่เดินทางไปทวงถามเรื่องกฎหมายค้างหลายฉบับที่ทำเนียบรัฐบาล โดยบางคนในรัฐบาลออกมาติงว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมนั้น นายพิธา ถามกลับว่า ไม่เหมาะสมตรงไหน เพราะเท่าที่ติดตามข่าวท่านก็ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าประสานก็มีคนต้อนรับแล้ว คำตอบที่ได้ยินต่อมาคือประสานไป ๒ ครั้ง โดยย้ำว่าได้ทำหนังสือไปที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในวันที่ ๗ และ ๒๑ กุมภาพันธ์ถูกหรือไม่ จึงไม่เข้าใจว่าที่ไม่เหมาะสมคืออะไร “หากเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง กฎหมายบางฉบับยื่นไปให้เซ็นตั้งแต่ไตรมาสที่ ๔ ปีที่แล้ว ซึ่งมีกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งวาระทางนิติบัญญัติ ถ้ารวดเร็วประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่สภาฯ อย่างเดียว แต่อยู่ที่รัฐบาลและพี่น้องข้าราชการ ที่กฎหมายเอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ก็ไม่ทราบว่าไม่เหมาะสมตรงไหน ขอคำอธิบายจากรัฐบาลด้วย”  พร้อมกันนี้ นายพิธา ยังให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยอยากจะรอดู ONE MAP ว่าเป็นอย่างไร ควรจะมีการสังคายนาแบบไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพล เพราะมีการพูดกันว่าจะสังคายนา แต่พื้นที่ไข่แดงเต็มไปหมด จึงต้องเรียกร้องถึงความกล้าหาญทางการเมือง ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าหากมี ONE MAP จริงๆ จะเกิดข้อพิพาทมากขึ้นหรือไม่ นายพิธา เผยว่า ปัญหาที่ซ่อนไว้ใต้พรมมันจะได้เกิดเป็นความถูกต้อง แล้วจะได้ Set Zero ปัญหาที่ดินใหม่ทั้งหมด ปัญหาที่ดินมี ๘ กระทรวง ก็ ๘ แผนที่ คนที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชน ดังนั้น ควรจะเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง รวบรวมที่ดินทุกแผนที่และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย หากเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง ไม่เอาการเมืองเป็นที่ตั้ง ปัญหานี้จบได้แน่นอน แต่พอเอาการเมืองมาเป็นที่ตั้งก็เลยมีปัญหา และขั้นตอนการทำงานมันก็ไม่ใช่แค่การขัดแย้งระหว่าง ๒ หน่วยงาน แต่ถ้าแยกพื้นที่ให้ชัด และนำพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ไปอยู่ในมือนายทุนดึงกลับมาให้หมด เหมือน Set Zero ใหม่ จากนั้นเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ใช้ท้องถิ่นเข้ามาช่วย ดีกว่ารวมศูนย์อยู่ที่คณะกรรมการ เชื่อว่าปัญหานี้จะจบ.