Sunday, 19 January 2025

รอยหยักในสมอง กับ..ความฉลาดของมนุษย์

02 Mar 2024
162

มีความเข้าใจผิดอยู่มากเกี่ยวกับเรื่องความฉลาดของมนุษย์และรอยหยักในสมอง เราอาจเคยได้ยินคำพูดเล่นๆว่า คิดช้าแบบนี้สงสัยจะมีรอยหยักในสมองน้อย หรือคนนี้โง่เพราะสมองเล็ก ส่วนคนนั้นฉลาด เพราะสมองคงจะใหญ่ ซึ่งจริงๆแล้ว ขนาดของสมองหรือรอยหยักในสมองไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องโง่หรือฉลาดของมนุษย์เลยรอยหยักของสมองนั้นเกิดจากการที่สมองของเราเกิดการเจริญเติบโตไปตามวิวัฒนาการ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป สมองของเรานั้นพัฒนามากขึ้น ขนาดของสมองจึงจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย แต่เนื้อที่ของหัวเรามันไม่มีที่ว่างมากขนาดนั้น ทำให้ร่างกายของเรา เพิ่มพื้นที่ผิวของสมองโดยการขดสมองไปมา จนเกิดเป็นรอยหยักขึ้น ส่วนความฉลาดนั้น มีความสัมพันธ์กับความหนาแน่นและจำนวนของจุดประสานประสาทมากกว่ารอยหยักในสมองจุดประสานประสาท (Synapse) คือจุดที่เกิดการส่งต่อกระแสประสาทระหว่างแอกซอน ซึ่งหมายถึงใยประสาทที่นำกระแสประสาทออกจากเซลล์ และเดนไดรท์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นใยประสาทที่ทำหน้าที่รับกระแสประสาทเข้ามายังเซลล์ โดยจุดประสานประสาทนี้เป็นช่องว่างพิเศษระหว่างเซลล์ประสาทในสมองที่ช่วยในการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท และจุดประสานประสาทจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆหรือกิจกรรมใหม่ๆ เช่น ทำกิจกรรมที่เราไม่เคยทำ การเรียนภาษาใหม่จะช่วยกระตุ้นให้สมองเราพัฒนาด้านความคิด ความจำ และเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับจุดประสานประสาทอีกด้วย พูดแบบชาวบ้านง่ายๆก็คือ ยิ่งจุดประสานนี้มีจำนวนมากเท่าไหร่ แสดงว่าเรามีจุดเชื่อมข้อมูลในส่วนต่างๆของสมองเข้าด้วยกันมากตามไปด้วย จากการวิจัยถึงหน้าที่ของสมองพบว่าความสามารถและการทำงานของสมองมีความแปลกประหลาดมากมาย สมองทำหน้าที่ตั้งแต่การรับผิดชอบการรับข้อมูล ประมวลผลข้อมูลที่ได้รับ และตอบสนองสู่ข้อมูลนั้น นอกจากนี้ สมองยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมการหลั่งสารบางอย่างที่ทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจของเราอีกด้วยสมองสามารถคิดค้นหาคำตอบสำหรับคำถามที่ซับซ้อนได้ และทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการเคลื่อนไหว พฤติกรรม และรักษาสมดุลภายในร่างกาย (homeostasis) อาทิ การควบคุมในเรื่องของการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต สมดุลของเหลวในร่างกาย และอุณหภูมิ เป็นต้น หน้าที่ของสมองยังเกี่ยวข้องกับการรับรู้ (cognition) อารมณ์ ความจำ การเรียนรู้การเคลื่อนไหว (motor learning) และความสามารถอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ และเราสามารถเพิ่มพูนพลังสมองได้เรื่อยๆ แม้แต่ในช่วงปลายของชีวิต ความสามารถในการรับความรู้ของสมองแทบไม่มีขีดจำกัด สมองจุความรู้ได้มากมายมหาศาล ขนาดที่ว่าระบบประสาทของมันมีกิ่งก้านสาขาเชื่อมต่อมากมายกว่าเครือข่ายโทรศัพท์สำหรับคนทุกคนบนโลกใบนี้ อย่างไรก็ตาม ระบบที่พิเศษสุดยอดของสมองก็ยังมีวันเสื่อมถอย เมื่อคนเราแก่ตัวลงในช่วงอายุ ๗๐-๘๐ ปี ประมาณ ๑ ใน ๔ ของเซลล์ประสาทหรือ “นิวรอน” (neurons) ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นสมองจะตายลง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนสูงอายุบางคนจึงหลงๆลืมๆ หรือหูตึง เวลาที่เราคิด คนเราใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยกว่าตอนที่ไม่ได้ใช้ความคิด อธิบายได้ว่า สมองแตกต่างจากเครื่องจักรที่มนุษย์สร้างขึ้นตรงที่สมองใช้พลังงานส่วนใหญ่ไปกับการรักษาวงจรของมันให้ตื่นตัวและไวต่อสิ่งที่มากระทบ มันต้องการพลังงานอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อให้วงจรทำงาน จากการสำรวจสมองของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยะคนสำคัญของโลก พบว่า ภายในสมองมีเซลล์เนื้อเยื่อที่มากกว่าของบุคคลทั่วไปประมาณ ๒ เท่า และบริเวณส่วนล่างของสมองด้านข้าง (inferior parietal region) จะใหญ่กว่าของคนปกติธรรมดาถึง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ และยังพบอีกด้วยว่าร่องสมองของไอน์สไตน์หายไปบางส่วนโดยที่สมองของคนทั่วไปจะมีร่องสมองจากส่วนหน้าต่อเนื่องไปยังสมองส่วนหลังซึ่งร่องที่หายไปบางส่วนนี้อาจจะเป็นกุญแจสำคัญที่แสดงความเป็นอัจฉริยะของไอน์สไตน์ เนื่องจากทำให้เส้นประสาทและเซลล์สมองบริเวณนั้นสามารถเชื่อมโยงเข้าหากันและทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น ผลของการศึกษาวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อัจฉริยภาพของนักทฤษฎีทางฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกผู้นี้มีมาตั้งแต่กำเนิดสำหรับมนุษย์ทั่วไปนั้นกิจกรรมบางประเภทสามารถเพิ่มจำนวนของเซลล์เนื้อเยื่อโครงประสาทได้ และทำให้มีความคิดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นต้องเป็นกิจกรรมที่เกิดจากการผสมผสานการใช้ทักษะต่างๆร่วมกัน อาทิ การจินตนาการ อำนาจแห่งจินตนาการเป็นบ่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพนั้นจะบังเกิดเมื่อมนุษย์มีสมองที่พร้อมบริบูรณ์ ทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต จะกลายเป็นพื้นฐานการจินตนาการ นำไปสู่การสร้างสรรค์งานที่เป็นจริง และนำไปสู่การปรับปรุงแนวคิด กำเนิดความคิดหรือทฤษฎีใหม่ๆที่ไม่มีผู้ใดเหมือน ซึ่งในโลกยุคปัจจุบันอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ทำให้โลกต้องการอัจฉริยะในทางสร้างสรรค์อย่างยิ่ง.คลิกอ่านคอลัมน์ “สมาร์ทไลฟ์” เพิ่มเติม