ไม่ใช่เพราะการลงพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของนายกรัฐมนตรีที่ทำให้ “ปัตตานี” ดินแดนที่เคยเหมือนต้องคำสาปของการเดินทางท่องเที่ยวมากว่า ๒๐ ปี ได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่การเดินทางลงพื้นที่ของผู้นำประเทศในดินแดนที่ผู้คนเคยหวาดกลัวกับการเดินทางไปเยือน เป็นเสมือนการเปิดประตูบานใหม่ของปัตตานีให้มีเสน่ห์ สีสัน น่าอภิรมย์อีกครั้งปัตตานี หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต พหุวัฒนธรรม และวิวัฒนาการของเมืองอันชวนติดตาม ทั้งยังมีแหล่งท่อง เที่ยวทั้งทางทะเล ชุมชนหรือแม้แต่สถานที่สำคัญๆ เช่น มัสยิดกรือเซะ ที่หลายคนมักจำภาพเหตุการณ์ในเช้าวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ ของการเกิดเหตุปะทะจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมแห่งยุคสมัยที่ยังคงติดตา ติดใจผู้คนไม่เสื่อมคลาย ทั้งๆที่จริงๆแล้ว กรือเซะ เป็นมัสยิดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า ๔๕๐ ปี เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ หรือมัสยิดปิตูกรือบัน ชื่อนี้เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบกอทิกของชาวยุโรป “มัสยิดกรือเซะยังคงศักดิ์สิทธิ์ เข้มขลัง และเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ความเก่าแก่กว่า ๒๐๐ ปี ของที่นี่ ควรค่าแก่การทำนุบำรุงเพื่อส่งต่อสู่รุ่นลูกหลาน” ข้อความที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านแอปพลิเคชัน X ภายหลังเยี่ยมชมมัสยิดกรือเซะนอกจากมัสยิดกรือเซะแล้ว ปัตตานียังมีศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนอีกแห่ง นั่นก็คือ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา เป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองปัตตานีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ภายในประดิษฐานรูปแกะสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือเจ้าแม่ทับทิม ตามสำเนียงการออกเสียงของชาวจีนฮกเกี้ยน แม่ย่านาง ผู้คุ้มครองการเดินเรือตามความเชื่อของชาวจีน ทุกๆปีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ จะมีงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปตามถนนสายต่างๆภายในตัวเมืองปัตตานี มีพิธีลุยไฟบริเวณหน้าศาลเจ้า ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำตานีบริเวณสะพานเดชานุชิต โดยมีผู้ที่เคารพศรัทธามาร่วมงานเป็นจำนวนมากความศักดิ์สิทธิ์ของศาลแห่งนี้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือ และผู้สัญจรไปมาในแถบนั้น จากการที่ใครมาขอพร ขอโชคลาภก็ได้ผล หรือแม้แต่การค้าขายที่ซบเซาหรือขาดทุนก็กลับรุ่งเรืองขึ้น ใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือได้รับความเดือดร้อน เมื่อไปบนบานศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก็จะหายป่วย เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนมายาวนาน อีกที่ที่ไม่ควรพลาดคือวัดช้างให้ ตั้งอยู่ที่อำเภอโคกโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่กว่า ๓๐๐ ปี ภายในวิหารมีรูปปั้นหลวงปู่ทวดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมของสถูปเจดีย์มณฑปอุโบสถ และหอระฆังที่งดงาม ในทุกๆวันจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาสักการะบูชาเป็นจำนวนมากสถานที่ทั้ง ๓ แห่งสะท้อนให้เห็นว่าปัตตานีเป็นดินแดนแห่งการผสมผสานทางวัฒนธรรม การอยู่ร่วมในสังคมที่มีเรื่องราวทั้งวิถีไทย-พุทธ ไทย-มุสลิม และไทยเชื้อสายจีน สะท้อนผ่านการดำรงชีวิต อาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม ศาสนสถาน ไปจนถึงอาหารการกิน การแต่งกายและภาษาที่ใช้สื่อสาร เป็นเสน่ห์และสีสันของพหุวัฒนธรรมที่งดงามยิ่งทวีเดช ทองอ่อน ผู้อำนวยการกองตลาดภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พูดถึงเสน่ห์ของเมืองใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การดำรงอยู่ร่วมกันในความแตกต่างที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เปรียบเสมือน ๓ จังหวัดแดนใต้ที่บรรเลงเพลงเดียวกันอย่างไพเราะ”อีกกิจกรรมท่องเที่ยวของปัตตานี เมืองท่าสำคัญอีกเมืองหนึ่งในคาบสมุทรมลายูแห่งนี้ที่ไม่ควรพลาดก็คือการท่องเที่ยวชุมชน โดยเฉพาะที่ บ้านบาราโหม ศูนย์รวมแหล่งโบราณสถานเก่าแก่ร่วม ๕๐๐ ปี เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับรัฐปาตานี โดยมีการสันนิษฐานว่าประชากรเดิมที่มาตั้งรกรากในแถบนี้มาจากหมู่เกาะมลายู และตั้งรกรากมาเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปี ถิ่นฐานเดิมเป็นหมู่บ้านเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีเดิม เกี่ยวโยงมาจากเมืองลังกาสุกะ ในยุคสมัยที่ปัตตานีเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรืองมีชาวต่างชาติ ทั้งอาหรับ เปอร์เซีย ยุโรป เข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก ภายในชุมชนยังมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ทั้งสุสานพญาอินทิรา หรือสุลต่านอิสมาอีล ชาห์ สถานที่ฝังพระศพเจ้าเมืองปัตตานีพระองค์แรกที่นับถือศาสนาอิสลาม และสถาปนาเมืองปัตตานีเป็น “นครปาตานีดารุสลาม” จนอาจกล่าวได้ว่า บาราโหมคือสถานที่ร้อยรัดร่องรอยอดีตกับปัจจุบันได้อย่างลงตัว ทั้งการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวมุสลิม ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลน วัฒนธรรมวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชุมชนที่สะท้อนผ่านการแต่งกาย ลวดลายบนผืนผ้า และอาหารถิ่นที่มีเอกลักษณ์ชุมชนท่องเที่ยวบาราโหมถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศและวัฒนธรรมที่สำคัญ มีป่าชายเลนที่ดำรงความอุดมสมบูรณ์ระดับประเทศ สามารถเที่ยวชมดูนกทะเลนานาชนิด เรียนรู้วิถีการทำประมงพื้นบ้าน สัมผัสวิถีชีวิตงดงามและเรียนรู้วัฒนธรรมของคนปัตตานีดั้งเดิม รวมถึงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้าน โดยสามารถเลือกกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน ทั้งกิจกรรมล่องเรือ กินอาหารท้องถิ่น เช่น นาซิอีแด หรือจะทำกิจกรรมทำผ้าพิมพ์ลายกับกลุ่มแม่บ้านบาราโหมก็ได้ปิดท้ายทริปปัตตานี ที่ “แหลมตาชี” (แหลมโพธิ์) เป็นจุดที่สามารถยืนมองพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกได้ ณ จุดเดียวกัน และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน ในการออกหาปลาโดยใช้ “เรือกอและ”ขอบคุณภาพสวยๆจาก พี่ป็อบ ทวีเดช ทองอ่อน และชื่อเรื่อง ปัตตานีภิรมย์…จากชื่อบูธีคโฮเต็ลเก๋ๆในเมืองปัตตานี และขอบคุณประวัติศาสตร์ที่นำพาเรามาเชื่อมโยงกับอดีตอันงดงาม…ครั้งนี้.คลิกอ่านคอลัมน์ “เที่ยวตามตะวัน” เพิ่มเติม
ปัตตานีภิรมย์… ความงดงาม..ปลายด้ามขวาน
Related posts