Thursday, 19 December 2024

"โรม" ไม่ขอโต้แย้ง "เมียนมา" ไม่พอใจ สภาไทย จัดเสวนา ๓ ปี หลังรัฐประหาร

“รังสิมันต์ โรม” ประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ สภา ไม่ขอโต้แย้ง หลังก.ต่างประเทศเมียนมา ออกแถลงการณ์ ไม่พอใจ รัฐสภาไทยจัดเสวนา ๓ ปี หลังรัฐประหารเมียนมา ยัน มีหน้าที่ต้องศึกษาทุกผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยวันที่ ๔ มี.ค. นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังลงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ที่ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กรณีกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ออกแถลงการณ์ไม่พอใจ กรณี รัฐสภาไทย นำโดย คณะกมธ.ความมั่นคงฯ จัดงานเสวนา ๓ ปี หลังรัฐประหารเมียนมา เมื่อวันที่ ๒-๓ มีนาคม ที่ผ่านมา โดยให้พื้นที่กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมานายรังสิมันต์ ระบุว่า เข้าใจที่ทางการเมียนมาทำหนังสือมา และคงไม่ได้ไปโต้แย้ง แต่ขอยืนยันว่า เราทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ มีหน้าที่ต้องศึกษาผลกระทบต่างๆ ที่อาจมีต่อประเทศไทย ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของไทย ดังนั้น การกระทำที่เกิดขึ้น ไม่ได้ไปละเมิดกฎหมายอย่างแน่นอนโดยนายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เราต้องยอมรับว่า สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมา มันมีผลกระทบมาถึงประเทศไทย เช่น การลักลอบเข้าเมือง รวมถึงอีกหลายปัญหา หากไม่มีการศึกษาปัญหานี้ ก็คงหาทางแก้ไม่ได้ ยืนยันว่า หากไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ก็คงไม่จำเป็นจะต้องจัดเวทีเสวนานี้ขึ้น แต่สาเหตุที่ทำ เนื่องจากต้องการรวบรวมข้อมูลให้กับรัฐบาลไปแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในสายตาของคณะกรรมาธิการฯเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า การเชิญผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับรัฐบาลเมียนมา จะไม่เป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือไม่ นายรังสิมันต์ เผยว่า ฝ่ายทหารเมียนมากับรัฐบาลไทย มีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่แล้ว ทางไทยมีการติดต่อและรับข้อมูลที่มากเพียงพอแล้ว แต่แนะว่า เราควรฟังให้รอบด้าน ไม่ใช่ข้อมูลที่มาจาก “ย่างกุ้ง” หรือ “เนปิดอว์” เท่านั้น หากไม่รู้จักบริบทมากพอ โอกาสที่ไทยจะแก้ปัญหาและสร้างมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย”ถ้าดูดีๆ งานของเราไม่ถึงขนาดว่า เปิดเผยกว้างขวางไปทั่วโลก หลักๆ คือ เราต้องการให้เขาถ่ายทอดให้เรา เพื่อรวบรวมเป็นรายงานส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายรังสิมันต์ กล่าว… นายรังสิมันต์ ยืนยันว่า การพูดคุยครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อวางแผนแทรกแซงรัฐบาลเมียนมา และไม่ได้เป็นการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับชนกลุ่มน้อย แต่มาพูดคุยว่า จะช่วยเหลือคนที่อยู่ในเมียนมาได้อย่างไร เชื่อว่า รัฐบาลเมียนควรภูมิใจและเห็นด้วยที่ไทยยื่นมือมาช่วยแบบนี้ จึงไม่คิดว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นส่วนหากสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) มองว่า มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับไทยก็คงไม่เถียง แล้วแต่มุมมอง แต่เชื่อว่าในระดับประชาชนเมียนมา ที่จะได้รับประโยชน์จากการพูดคุยกัน คงไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์อย่างแน่นอนผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมว่า ได้พูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศ ของไทยหรือยัง นายรังสิมันต์ บอกว่า ยังไม่ได้คุยกัน แต่พยายามเชิญให้มาร่วม แต่กลับถูกปฏิเสธในนาทีสุดท้าย พร้อมระบุ อยากให้พื้นที่กับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการการต่างประเทศ ได้แสดงวิสัยทัศน์ในประเด็น แต่ทราบว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่กระทรวงเข้ามาฟังและเก็บข้อมูล รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ของทางการ แต่ไม่ระบุว่าเป็นใคร เข้ามาฟัง พร้อมแจ้งผลตอบรับว่า ข้อมูลที่ได้รับเป็นประโยชน์ในการประเมินเรื่องความมั่นคง ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศก็มีสิทธิ์จะไม่เข้ามา และคณะกรรมาธิการฯ ก็ไม่ได้ใช้อำนาจไปเรียก แต่หลังจากนี้จะรวบรวมเป็นรายงานแล้วส่งให้กระทรวงการต่างประเทศต่อไป และหวังว่า ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์