Sunday, 19 January 2025

รัฐมนตรีว่าการดีอีเอส เผย ๔ เดือน ปราบ "บัญชีม้า-ซิมม้า" อายัดมากกว่า ๓ พันล้าน

“ประเสริฐ” รัฐมนตรีว่าการดีอีเอส โชว์ผลงานปราบบัญชีม้า-ซิมม้า ๔ เดือน อายัดบัญชีไปแล้วมากกว่า ๓ พันล้าน จ่อระงับ ๒.๕ ล้านเบอร์ ไม่ยืนยันตัวตน ปิดเว็บพนันเพิ่ม ๓๗ เท่าตัว พอใจ ผลอายัดเงินเร็วขึ้น พร้อมสั่งปรับปรุงระเบียบ-ก.ม.เปิดทางเร่งคืนเงินผู้เสียหาย วันที่ ๕ มี.ค. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม๖๗ ได้มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ โดยได้หารือ และพิจารณาเรื่องสำคัญ คือ ๑. การจัดการ ซิมม้า ดำเนินมาตรการที่สำคัญ ซึ่งมีผลดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ดำเนินการระงับซิมที่มีการโทรออกเกิน ๑๐๐ ครั้งต่อวัน ตั้งแต่ ๙ ธันวาคม๖๖-๒๙ กุมภาพันธ์๖๗ และระงับการใช้ซิม และให้มายืนยันตัวตน จำนวน ๒๙,๔๔๖ ซิม โดยมีผู้มายืนยันตัวตน ๒๖๕ หมายเลขทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. กำหนดการยืนยันตัวตนของผู้มีซิมเกิน ๑๐๐ หมายเลข ที่ครบกำหนดยืนยันตัวตนหรือลงทะเบียนให้ถูกต้อง ภายในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์๖๗ ที่ผ่านมา ซึ่งมีซิมเข้าข่ายจำนวน ๕.๐๗ ล้านหมายเลข มีผู้ไม่มายืนยันตัวตน ๒.๕ ล้านหมายเลข ซึ่งจะถูกการระงับการให้บริการ ขณะที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ดำเนินการจับกุมผู้ขายซิมม้า ๕ ราย และซิมการ์ด จำนวน ๔,๔๒๘ ซิม สำหรับการจัดการบัญชีม้า ได้ดำเนินมาตรการสำคัญและมีผลดังนี้ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC ) โทร. ๑๔๔๑ หรือ AOC ๑๔๔๑ ได้ช่วยอายัดบัญชี ให้ผู้เสียหาย ๑ พ.ย. ๖๖-๒๙ กุมภาพันธ์๖๗ จำนวน ๕๗,๘๖๑ บัญชี ขณะที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จับกุมผู้ขายบัญชีม้า ๕๑ ราย พร้อมสมุดบัญชีธนาคาร ๑,๑๑๓ บัญชี ในส่วนของการจัดทำมาตรการป้องกันไม่ให้การเปิดบัญชีใหม่ และนำไปใช้ก่ออาชญากรรมหรือนำไปทำเป็นบัญชีม้า ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รับไปหารือต่อด้านการเร่งรัดอายัดเงินบัญชีม้านั้น ข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ช่วงวันที่ ๑ พ.ย. ๖๖-๒๙ กุมภาพันธ์๖๗ ได้ขออายัดบัญชีม้า วงเงิน ๗,๐๙๗.๒ ล้านบาท และอายัดได้ทัน ๓,๓๓๔.๑ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๔๗.๐ เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับก่อนมีศูนย์ AOC ๑๔๔๑ ที่อายัดได้ทันร้อยละ ๑๑ (วันที่ ๑ มีนาคม๖๕-๓๐ กันยายน๖๖ อายัดทัน ๑,๓๑๖ ล้านบาท จากการขออายัด ๑๑,๒๕๒ ล้านบาท)สำหรับการเร่งดำเนินการคืนเงินให้ผู้เสียหายนั้น ปัจจุบันยังมีขั้นตอนมากและใช้เวลานาน ดังนั้นเพื่อให้การคืนเงินเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้ขอให้อนุกรรมการด้านกฎหมายเสนอแนวทาง รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็วนอกจากนี้ ในส่วนของการปิดกั้น เว็บเพจผิดกฎหมาย ในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ช่วงระยะเวลา ๕ เดือน (ตุลาคม๖๖-กุมภาพันธ์๖๗) ปิดกั้นไปทั้งสิ้น ๕๗,๐๕๖ URL/รายการ เพิ่มขึ้น ๑๒.๘ เท่า จากปีงบประมาณ ๒๕๖๖ (ตุลาคม๖๕-กุมภาพันธ์๖๖) ที่ปิดกั้น ๔,๔๔๙ URL/รายการ ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ช่วงระยะเวลา ๕ เดือน (ตุลาคม๖๖-กุมภาพันธ์๖๗) ปิดกั้นเว็บพนันไปทั้งสิ้น ๒๔,๓๕๒ URL เพิ่มขึ้น ๓๗.๖ เท่า จากปีงบประมาณ ๒๕๖๖ (ตุลาคม๖๕-กุมภาพันธ์๖๖) ที่ปิดกั้นไปเพียง ๖๔๘ URL “เรื่องที่สำคัญของการประชุมคือ การติดตามการปราบปรามบัญชีม้า ซิมม้า และการเร่งรัดการอายัดเงินรวมทั้งการคืนเงินให้ผู้เสียหาย พบว่า ศูนย์ AOC ๑๔๔๑ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการได้ช่วยอายัดเงินให้ผู้เสียหายได้มาก ระยะ ๔ เดือนที่ผ่านมานี้ (พฤศจิกายน๖๖-กุมภาพันธ์๖๗) อายัดทัน ๔๗% และในบางเดือน เช่น มกราคม๖๗ อายัดได้ทันถึง ๕๗% แต่การคืนเงินให้ผู้เสียหาย ถึงแม้ได้คืนเงินไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่รวดเร็วเท่าที่ควร จึงได้สั่งการ และกำชับให้เร่งปรับปรุงกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” นายประเสริฐ ระบุสำหรับการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ นั้น นายประเสริฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม โดยมี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอีเอส, นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอีเอส ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ และคณะกรรมการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงาน กสทช., สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสมาคมธนาคารไทย เข้าร่วมประชุม.