ระบบดาวเคราะห์ เช่น ระบบสุริยะ เกิดขึ้นได้อย่างไร ยังเป็นปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ พยายามหาคำตอบอย่างถ่องแท้ ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ ร่วมด้วยนักดาราศาสตร์จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (CNRS) เผยการศึกษาพื้นที่เลี้ยงดูดาวฤกษ์ทารกในเนบิวลานายพราน เป็นเนบิวลาที่สว่างที่สุดเนบิวลาหนึ่งบนท้องฟ้า อยู่ห่างออกไป ๑,๓๕๐ ปีแสงนักดาราศาสตร์เผยว่า ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ และกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดยักษ์อัลมา สังเกตที่จานฝุ่นก๊าซที่ก่อกำเนิดดาวเคราะห์ชื่อ d๒๐๓-๕๐๖ ทำให้ค้นพบบทบาทสำคัญของดาวฤกษ์มวลมาก ในการก่อตัวของระบบดาวเคราะห์ที่เพิ่งก่อตัวขึ้น ซึ่งทีมได้สร้างแบบจำลองทางทฤษฎีเพื่อตรวจสอบผลของการแผ่รังสีอัลตรา ไวโอเลต ทีมพบว่า d๒๐๓-๕๐๖ กำลังสูญเสียมวลในอัตราที่สูง เนื่องจากการได้รับความร้อนที่ขับเคลื่อนด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตทีมยังระบุว่า อัตราการสูญเสียมวลจาก d๒๐๓-๕๐๖ บ่งชี้ว่าก๊าซสามารถถูกกำจัดออกจากจานฝุ่นก๊าซภายใน ๑ ล้านปี ซึ่งขัดขวางความสามารถ ของดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ที่จะก่อตัวภายในระบบดาวเคราะห์ ผลลัพธ์ที่ได้มานับว่าน่าประหลาดใจมาก เพราะดาวฤกษ์อายุน้อยกำลังสูญเสียมวลไปอย่างน่าตกใจ บ่งบอกว่าไม่มีดาวเคราะห์คล้ายดาวพฤหัสบดี ที่เรามักเรียกว่าดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ สามารถก่อตัวได้ในระบบดาวแห่งนี้.Credit : NASA/STScI/Rice Univ./C.O’Dell et al / O. Berné, I. Schrotter, PDRs๔Allอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่