Thursday, 19 December 2024

๒ กระทรวงถกสปก. จ่อใช้วันแม็ปเขาใหญ่ ชี้ข้อพิพาทที่ดินทํากิน

05 Mar 2024
138

“ก.เกษตรฯ-ทรัพยากรฯ” ได้ข้อสรุปปัญหาพื้นที่ทับซ้อน “ส.ป.ก.-อุทยานฯ” วางกรอบ ๓๐ วัน ทำงานร่วมกัน หากตกลงไม่ได้ ให้ใช้แผนที่ “วันแม็ป” ชี้ขาด ส่วนพื้นที่พิพาทในอุทยานฯเขาใหญ่ยังต้องรอ ขณะที่ปลัด ก.เกษตรฯ ย้ำพื้นที่กันชนจะไม่นำมาจัดสรรเป็นที่ดินทำกินให้ประชาชน พร้อมสั่งพิสูจน์ตัวตนคนที่ได้รับเอกสารสิทธิต้องเป็นเกษตรกรตัวจริง หากไม่ใช่ให้เอาผิดทางวินัยคนออกเอกสารสิทธิ ด้าน “ชัยวัฒน์” ลั่นงานนี้ต้องมีคนผิดจบแบบหล่อๆไม่ได้ ขณะเดียวกัน กมธ.ที่ดินฯเข้าตรวจสอบพื้นที่พิพาทซ้ำพบอีกจุดพื้นที่เขาวังหิน หมู่ ๕ บ้านกุดคล้า หลักหมุด ส.ป.ก.ปักอยู่กลางภูเขาที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๔ มีนาคมนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตป่า ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง จากนั้นนายจตุพรแถลงผลการประชุมว่าทั้งสองกระทรวงมีเป้าหมายทำงานเพื่อประชาชน ในส่วนของกระทรวงทรัพย์ นอกจากดูแลป่าและทะเลแล้ว บางส่วนก็ดูแลพื้นที่ของประชาชน เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรฯที่ดูแลพื้นที่ทำกินของประชาชน วันนี้เราเอาข้อเท็จจริงมาพูดคุยกัน รวมถึงการวางแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยกระทรวงทรัพย์ เสนอไปทางกระทรวงเกษตรฯ จากนี้การออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน ส.ป.ก.จะต้องมีคณะกรรมการจาก ๙ หน่วยงาน ไปร่วมรับรองแนวเขตด้วย สำหรับพื้นที่ที่เป็นแนวกันชนหรือพื้นที่รอยต่อ จะต้องมีการอนุรักษ์ไว้สำหรับสัตว์ป่า ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ขอไว้เป็นข้อตกลงหรือ MOU ร่วมกันระหว่างสองกระทรวง ยืนยันว่าจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า รวมถึงประชาชนด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ได้คุยกับเลขาฯ ส.ป.ก.แล้ว จะมีการกำหนดทีมงานเพื่อทำงานร่วมกัน วางกรอบระยะทำงาน ๓๐ วันแรก เป็นการวางขอบเขตของทั้ง ๒ หน่วยงานว่ามีพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ ตรงกันหรือไม่ ภายใน ๑ เดือนนี้ พื้นที่ใดไม่มีปัญหาเรื่องการทับซ้อน จะสามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแห่งชาติใช้วันแม็ป ส่วนที่เหลือจะรอการจัดทำพื้นที่ร่วมกันของคณะกรรมการฯ ส่วนแนวเส้นระหว่างอุทยานฯ และ ส.ป.ก. ในพื้นที่ทับซ้อนที่ทั้ง ๒ หน่วยงานจะเข้าไปตรวจสอบนั้นจะใช้วิธีการตรวจสอบจาก Field book ของทั้ง ๒ หน่วยงานมาเปรียบเทียบกัน หากมีพื้นที่ทับซ้อนก็จะต้องพูดคุยตกลงว่าจะยกพื้นที่นั้นให้ใครดูแล หากตกลงกันได้ก็จะดำเนินการต่อทันที แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้จะส่งให้คณะกรรมการวันแม็ปเป็นผู้ชี้ขาดขณะที่นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯและ ทส.เห็นชอบร่วมกันในการพิจารณาแนวเขตที่ดินทับซ้อนในบริเวณที่มีปัญหา วางกรอบการดำเนินงานร่วมกันเป็นเวลา ๓๐ วัน หากพื้นที่ใดมีการทับซ้อนและไม่สามารถตกลงกันได้ว่าอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแห่งชาติจัดทำวันแม็ปพิจารณาชี้ขาด พื้นที่กันชนจะไม่มีการนำมาจัดสรรเป็นที่ดินทำกินให้ประชาชน ส่วนพื้นที่อุทยานฯเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี จะรอให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแห่งชาติจัดทำวันแม็ปให้เสร็จก่อน จะได้ข้อยุติใน ๒ เดือนนี้ หากคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ข้อสรุปอย่างไร ทั้ง ๒ กระทรวงจะยึดตามนั้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่ของ ส.ป.ก.ใดหากเป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ป่า หรือเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า ถ้าจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรไปแล้วจะสร้างผลกระทบ รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ขอให้เว้นไว้อาจทำเป็นป่าชุมชน ไม่ให้มีการจัดสรรที่ดินดังกล่าวให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ได้มอบหมายไปยังผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับเขตและระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบว่าเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินได้รับเอกสารสิทธิทั่วประเทศเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ หากไม่ใช่เกษตรกรจะต้องยกเลิกเอกสารสิทธิดังกล่าว และให้ดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่ออกเอกสารสิทธิส่วนนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาฯ ส.ป.ก.กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๒๓ ก.พ. ตนมีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ แต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วย ๙ หน่วยงาน เพื่อเข้ามาช่วยดูว่าการออกเอกสารสิทธิของ ส.ป.ก.ทับซ้อนหรือไม่ ยืนยันว่าจากนี้พื้นที่ตรงไหนมีปัญหาทับซ้อน เราจะไม่ทะเลาะกัน จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการวันแม็ป หากพื้นที่ใดเข้าใกล้พื้นที่กันชนหรือพื้นที่เตรียมการสำหรับการอนุรักษ์ อยากให้กรมอุทยานฯแจ้งมายัง ส.ป.ก.เพราะก่อนหน้านี้ต่างคนต่างทำงาน และต่อจากนี้จะทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น สุดท้ายก็ต้องทำงานให้ชาวบ้าน ไม่ต้องกังวลเรื่องเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.ที่ได้ออกไปแล้ว ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการคุยกันของรัฐ หากที่สุดแล้วมีมติออกมาอย่างไร ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รัฐจะเยียวหาให้แน่นอน พื้นที่ที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นแนวตะแข็บรอยต่อ คณะกรรมการวันแม็ปจะรับผิดชอบดูแล แต่ตอนนี้อะไรที่ยังไม่ชัดเจน ขอให้ใช้ชีวิตตามปกติสุขไปส่วนเรื่องคดีที่มีการแจ้งความนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นั้น ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ว่าที่ ส.ป.ก.ไปแจ้งความเอาผิดนายชัยวัฒน์ ตาม พระราชบัญญัติปราบปรามการทุจริตฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้เวลาแสวงหาข้อเท็จจจริง ๓๐ วัน ก่อนส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.เพื่อเอาผิดตามประมวณกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๙ เนื่องจากนายชัยวัฒน์เข้าไปดำเนินการถอนหมุด ส.ป.ก.โดยที่เข้าใจว่าเป็นพื้นที่อุทยาน แต่ ส.ป.ก.ไปแจ้งความเอาผิดเพราะ ส.ป.ก.บอกเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. ดังนั้นนายชัยวัฒน์จะเจตนาหรือไม่ ป.ป.ช.จะตรวจสอบต่อไป แต่ในระหว่าง ๒ หน่วยงานได้ปรับความเข้าใจจนได้ข้อยุติแล้วด้านนายชัยวัฒน์กล่าวถึงคดีดังกล่าวว่า เรื่องแจ้งความเป็นกฎหมายอาญาต้องมีการพิสูจน์ และคาดว่า เขาต้องแจ้งความเรา เนื่องจากตนไปถอนหมุดเขามา หากเขาไม่แจ้งแสดงว่าหลักนั้นเป็นหลักเถื่อน เป็นหลักเท็จ ซึ่งทั้ง ๒ ฝ่ายยื่นหลักฐานมาตัดสินกันไม่ได้ ต้องให้คณะกรรมการเป็นคนตัดสินตามหลักฐานที่มี หากตัดสินว่าเป็นพื้นที่ในเขต ส.ป.ก. ตนรับเต็มทั้งเรื่องแจ้งความเท็จ หรือเรื่องอื่นๆ แต่หากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตนจะฟ้องกลับเช่นเดียวกัน ไม่ว่าใครที่สั่งการ วันนี้จะจบแบบหล่อๆ ไม่ได้ เพราะเหตุที่เกิดขึ้นเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราพยายามที่จะสื่อสารมาโดยตลอดแต่ไม่เป็นผล วันนี้ได้ข้อยุติระดับหนึ่ง รออีก ๒ เดือนว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นของใคร ยืนยันว่าหลักฐานเรามีเพียงพอที่จะยืนยันว่าเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่บอกว่าจะจบแบบหล่อๆไม่ได้ คือจะจบแบบไม่มีใครผิดไม่ได้ งานนี้ต้องมีคนผิด เมื่อเขาไม่ผิดตนก็ต้องผิด เพราะเราทิ้งตัวแล้ว ไม่ใช่ว่าตนจะเกษียณแล้วทิ้งตัว แต่ตนสู้มาตลอดชีวิต การจะจบโดยไม่มีใครผิดไม่ได้ ใครที่ทำหลักฐานเท็จ ใครออกโฉนดโดยมิชอบ ต้องมีคนผิดทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันถึงกรณีนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาฯ ส.ป.ก. แจ้งจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติว่า วันนี้เอาเรื่องที่ดินทำกินเป็นที่ตั้ง เพราะเรื่องที่ดินทำกินของประชาชนถือเป็นเรื่องใหญ่ การที่มาทำเรื่องพวกนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งประเด็นข้อกฎหมาย เรื่องพื้นที่ทับซ้อน แต่ชัดเจนว่าจะเอาเรื่องแผนที่ทหารอัตราส่วนเดียวกัน คือ ๑ ต่อ ๔,๐๐๐ เป็นมาตรฐาน และถ้าสืบทราบได้ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ป่าก็ต้องปล่อยเป็นป่าไป ตนไม่เข้าไปก้าวก่ายอยู่แล้วเรื่องนี้ แต่ขอให้มีความชัดเจน เราทำอะไรต้องมีหลักการ ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ผิด ก็ไม่มีการมาทะเลาะกัน และการทะเลาะกันก็ดีถือเป็นการชำระล้างนโยบายด้วยว่าถ้าเราทำตรงนี้ทำถูกต้อง เราทำดี ให้มีการสอบถามกันให้ชัดเจนดีกว่า หากนายชัยวัฒน์ไม่ชัดเจนก็ขอให้สอบถามให้ชัดเจน เรื่องนี้จะต้องทำกันไป ถ้ายังเป็นแบบนี้ประชาชนก็ไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เราจะต้องสู้กันต่อไปโดยเอาความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง และไม่ได้มองเป็นปัญหาใหญ่ แต่จะต้องถูกต้องตามกฎหมายอีกด้านหนึ่งที่ จ.นครราชสีมา ช่วงสายวันเดียวกัน นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ การที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร สส.พรรคก้าวไกล พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจสอบข้อพิพาท จุดปักหมุด ส.ป.ก.๔-๐๑ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บ้านเหวปลากั้ง หมู่ ๑๐ ต.หมูสี อ.ปากช่อง โดยมีนายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หน่วยงาน ส.ป.ก. กรมป่าไม้ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ ๒๓ องค์กร ผู้ใหญ่บ้านเหวปลากั้ง หมู่ ๑๐ และชาวบ้านส่วนหนึ่ง รวมถึงนายวัฒนา มังธิสาร รองเลขาฯ ส.ป.ก. นายอำมวิต คงแก้ว ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี รักษาการแทนปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ร่วมตรวจพื้นที่ โดยทั้งสองได้แจ้งว่าทุกอย่างปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนพื้นที่ข้อพิพาทเป็นพื้นที่ที่จะทำการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม แต่มีปัญหาการไม่ยอมรับแนวเขตตามแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร โดยก่อนนั้นมีประชาชนเคยเข้ามาทำกิน แต่เลิกมานานพื้นที่ปัจจุบันเป็นป่าจากนั้น คณะกรรมาธิการการที่ดินฯเดินทางไปบริเวณพื้นที่เขาวังหิน หมู่ ๕ บ้านกุดคล้า ต.หมูสี อ.ปากช่อง พบว่ามีจำนวน ๕ จุด เริ่มจากจุด ๑-๒ ติดพื้นที่โฉนด อยู่ฝั่งซ้ายของลำน้ำลำตะคอง ส่วนจุดที่ ๓ อยู่ฝั่งขวา ต้องข้ามน้ำลำตะคองไปอีกฝั่งในเขตป่าขึ้นไปบนภูเขา โดยที่เหลือแต่ละจุดที่พบ จะอยู่โคนต้นไม้มีสีแดงพ่นเป็นลูกศรทำเป็นสัญลักษณ์ไว้ เพื่อเป็นแนวในการส่องกล้อง ซึ่งพื้นที่แห่งนี้มีจำนวน ๒๙ ไร่ หลักหมุด ส.ป.ก.ปักอยู่กลางภูเขาที่มีความลาดเอียงเกิน ๓๕ เปอร์เซ็นต์ทั้งนี้ นายอภิชาติกล่าวว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ ก่อนนั้นอาจจะมีราษฎรเข้ามาทำกินและเมื่อเลิกทำมานาน พื้นที่กลายเป็นป่าถาวร ดูแล้วไม่สมควรที่จะมาจัดทำเป็นพื้นที่เกษตรกรรมได้ และไม่อยู่ในเงื่อนไข ๗ ข้อในพื้นที่ป่า ดูแล้วการจัดทำ ส.ป.ก.ทั่วประเทศ มีช่องว่างช่องโหว่มาก จึงได้ขอให้ ส.ป.ก.แจ้งรายชื่อผู้ได้รับเอกสาร ส.ป.ก.ทั้ง ๕ ราย ว่ามีอาชีพอะไร เข้าข่ายที่จะมีสิทธิได้รับเอกสาร ส.ป.ก.๔-๐๑ ในพื้นที่หรือไม่ โดยจะนำเข้าที่ประชุมในวันที่ ๖ มีนาคมนี้ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายพสิษฐ์ เอี่ยวพานิชย์ นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ ว่า สมาคมอุทยานฯสนับสนุนการต่อสู้ของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ที่ออกมาทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไม่อย่างนั้นป่ามรดกโลกหลายล้านไร่หมดแน่ เพราะจะมีการนำพื้นที่ป่าไปออกโฉนดหมด การออกนโยบายนำที่ดินของรัฐไปแจกจ่ายให้กับประชาชนถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่าคนที่ได้ประโยชน์คือใคร ไม่ควรนำที่ดินของรัฐไปออกโฉนดแบบเหมาเข่ง ไม่อย่างนั้นป่าไม่เหลือแน่ โดยเฉพาะอุทยานฯเขาใหญ่ อุทยานฯทับลานเป็นมรดกโลก กว่าจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย ประเทศไทยต้องรักษามรดกโลกไว้ รวมทั้งต้องให้กำลังใจคนที่ต่อสู้เพื่อผืนป่าอย่างนายชัยวัฒน์ ส่วนการที่ ส.ป.ก.ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายชัยวัฒน์ เป็นเรื่องธรรมดาทั้งกรมอุทยานฯ และส.ป.ก.เป็นหน่วยงานรัฐทั้งคู่ คดีจะไปจบที่อัยการสูงสุด โดยวันที่ ๘-๑๐ มีนาคมนี้ ตนและกรรมการสมาคมอุทยานฯ จะลงพื้นที่อุทยานฯเขาใหญ่และทับลานเพื่อไปตรวจสอบข้อเท็จจริงขณะที่นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ถ้าผลการตัดสินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณี ส.ป.ก.ออกโฉนดทับซ้อนอุทยานฯ เขาใหญ่ ออกมาไม่เป็นบวกกับการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ รวมทั้งนายชัยวัฒน์จะกลายเป็นโดมิโนที่ส่งผลกระทบกับป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับ ส.ป.ก.นับแสนไร่ รวมทั้งคดีที่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับนายทุนที่บุกรุกป่า เนื่องจากนโยบายรัฐบาลการออกโฉนด ส.ป.ก.ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่ต้องรีบขอสิทธิเข้าทำประโยชน์ ถ้าส่งผลกระทบกับป่า อนุรักษ์มูลนิธิฯไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านถึงที่สุดอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่