Monday, 20 January 2025

ทีมวิจัยนำโดยนักชีววิทยา ในสหรัฐฯ เสนอทฤษฎีใหม่ทำไมมนุษย์ถึงไม่มีหาง

เป็นเวลาหลายปีที่นักวิทยาศาสตร์ใคร่ครวญว่าเหตุใดสายพันธุ์มนุษย์ถึงไม่มีหางแบบลิง แม้จะอยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในอันดับไพรเมต (Primate) ที่มีทั้งลิงมีหางหรือไม่มีหาง ล่าสุดมีนักวิจัยเชื่อว่าอาจคลี่คลายกลไกทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดภาวะไม่มีหางของมนุษย์และของลิงรุ่นก่อนๆได้ทีมวิจัยนำโดยนักชีววิทยาด้านพันธุศาสตร์และระบบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และนักพันธุศาสตร์และนักชีววิทยาด้านระบบของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกา ได้เปรียบเทียบสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ของไพรเมต ๒ กลุ่มคือ ลิงมีหาง และโฮมินอยด์ (hominoids) ที่เป็นมนุษย์และวานร ซึ่งไม่มีหาง ทีมพบการกลายพันธุ์ในยีนชื่อ TBXT ในมนุษย์และวานร แต่ไม่พบในลิง เพื่อทดสอบผลของการกลายพันธุ์นี้ จึงได้ดัดแปลงพันธุกรรมของหนูทดลองเพื่อให้มีลักษณะนี้ ก็พบว่าหนูที่ถูกทดลอง มีหางที่สั้นลง หรือไม่มีเลย ทั้งนี้ หางเป็นลักษณะที่แพร่หลายในสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่มานานกว่า ๕๐๐ ล้านปี การหายไปของหางอาจก่อให้เกิดข้อได้เปรียบเมื่อบรรพบุรุษของมนุษย์เราเปลี่ยนแหล่งที่อยู่อาศัยจากบนต้นไม้ ไปสู่สภาพแวดล้อมบนบก การไม่มีหางอาจทำให้ร่างกายมีความสมดุลดีขึ้นต่อการเคลื่อนไหวแบบลำตัวตั้งตรง จนในที่สุดก็เคลื่อนไหวแบบ ๒ เท้า นักวิจัยระบุว่าการกลายพันธุ์ที่นำไปสู่การสูญเสียหางเกิดขึ้นเมื่อราวๆ ๒๕ ล้านปีก่อน เป็นช่วงที่ลิงตัวแรกวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษลิง ขณะที่สายพันธุ์มนุษย์ยุคใหม่คือโฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) ปรากฏตัวเมื่อประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ปีที่แล้ว นี่จึงเป็นครั้งแรกที่นักวิจัยได้เสนอทฤษฎีที่เป็นไปได้ ว่ากลไกทางพันธุกรรมนำไปสู่การสูญเสียหางในบรรพบุรุษของมนุษย์ และการเปลี่ยน แปลงทางกายวิภาคครั้งใหญ่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่